‘โรคกระดูกพรุน’ ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม
แพทย์ รพ.วิมุต แนะ ‘ออกกำลังกาย-กินอาหารมีประโยชน์’
พร้อมตรวจคัดกรองก่อนกระดูกบางหรือพรุนจนเกิดอันตราย
ในสมัยที่เราเป็นวัยรุ่น ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็ทำได้อย่างเต็มที่เพราะร่างกายยังมีความแข็งแรง คล่องแคล่วว่องไว ชนหรือหกล้มอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ยังไม่มีปัญหา แต่เมื่อเริ่มอายุมากขึ้น การบาดเจ็บจากการชนหรือล้มก็ดูจะรุนแรงขึ้นกว่าที่เคย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของ ‘โรคกระดูกพรุน’ ที่ส่งผลให้กระดูกของเราไม่แข็งแรง และหากปล่อยไว้นานและไม่ได้รับการรักษาอาจถึงขั้นกระดูกหักได้ง่าย ๆ วันนี้ พญ. อติพร เทอดโยธิน ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์กระดูกและข้อ รพ.วิมุตผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกพรุน เเละการดูเเลกระดูกเเละกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุจากอังกฤษ เเละเวชศาสตร์การชะลอวัยจากสหรัฐอเมริกา จะมาเล่าถึงความรุนแรงของโรคกระดูกพรุน พร้อมแนะนำวิธีป้องกันและแนวทางการรักษา เพื่อเสริมสร้างร่างกายและกระดูกที่แข็งแรงตามวัย พร้อมใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ในทุก ๆ วัน
โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบที่ทุกคนเป็นได้!
โรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ เกิดจากการที่มวลกระดูกในร่างกายลดลง ส่งผลให้กระดูกบางลงและไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ถึงขั้นที่ว่าแค่ล้มเบา ๆ หรือยกของหนักก็ทำให้กระดูกหักได้ พญ. อติพร เทอดโยธิน อธิบายว่าโรคกระดูกพรุนมักเกิดกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย “ผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนประมาณ 33% ส่วนเพศชายจะอยู่ประมาณ 20% โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เพราะกระดูกของผู้หญิงมีขนาดเล็กกว่า และเมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงที่ช่วยยับยั้งการสลายตัวของกระดูกจะลดลง ส่งผลให้กระดูกสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว”
กระดูกพรุน-กระดูกเสื่อม ต่างกันอย่างไร
ในผู้สูงอายุยังมีอีกโรคหนึ่งที่มักพบเจอได้บ่อย ๆ นั่นคือ โรคกระดูกเสื่อม ซึ่งมีความแตกต่างจากโรคกระดูกพรุนตรงที่จะทำให้เรารู้สึกปวดหรือเคลื่อนไหวได้ลดลงตรงข้อที่มีการเสื่อมสภาพ ส่วนโรคกระดูกพรุนนั้นทำให้กระดูกบางลง คุณภาพเเละความเเข็งเเรงของกระดูกลดลง มีผลให้กระดูกต่างๆในร่างกายหักง่าย โดยอาจไม่มีสัญญาณเตือนใดๆมาก่อนเลย จริง ๆ แล้ว นอกจากผู้สูงอายุ โรคกระดูกทั้งสอง สามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆอีก เช่น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือผู้ป่วยที่ใช่ยาประเภทสเตียรอยด์ เป็นต้น
‘โรคกระดูกพรุน’ ป้องกันได้ อย่าละเลยจนอาการหนัก
โรคกระดูกพรุนเกิดจากการที่มวลกระดูกของเราลดลง ซึ่งการป้องกันนั้นเริ่มต้นจากการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินดี เเละออกกำลังกายให้เพียงพอ และดูแลไม่ให้น้ำหนักอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) พร้อมหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ โดย พญ. อติพร เทอดโยธิน อธิบายเสริมว่า “โรคกระดูกพรุนถือว่าเป็นภัยเงียบ เพราะไม่มีการแสดงอาการใด ๆ เลย รู้ตัวอีกทีก็อาจเป็นตอนที่ล้มกระดูกหักไปแล้ว เราจึงต้องไปตรวจคัดกรอง โดยเฉพาะเมื่อถึงช่วงวัยที่เสี่ยง คือหลังหมดประจำเดือน หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป ยิ่งถ้ามีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงอื่นๆ ก็ควรมาตรวจตัดกรองเร็วขึ้น การวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุนจะใช้เครื่อง Dual X-ray Absorptiometry (DXA) เพื่อหามวลกระดูก ตรวจ Vertebral Fracture Assessment (VFA) ซึ่งเป็นการตรวจหาภาวะกระดูกสันหลังหักยุบ ควบคู่กับการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อคำนวณหา FRAX Score ซึ่งเป็นการประเมินความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนในอีก 10 ปีข้างหน้า หากผลการตรวจออกมาว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็จะได้รับการรักษาต่อไปตามความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย”
แนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุนก่อนเกิดอันตรายร้ายแรง
สำหรับคนที่มีภาวะกระดูกบางแต่ยังไม่ถึงขั้นกระดูกพรุน แพทย์ รพ.วิมุต แนะนำว่าสามารถรักษาได้ด้วยตนเองโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเน้นอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ป้องกันการหกล้ม ทำกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อเสริมระดับวิตามินดีในร่างกาย ควบคู่ไปกับการรับประทานแคลเซียม และวิตามินดีเสริมตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนในกรณีที่มีการใช้ยาที่มีผลต่อมวลกระดูก เช่น ยาประเภทสเตียรอยด์ หรือยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที
ถ้าหากพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว การรักษาก็จะเป็นไปตามความรุนแรงของโรค โดยเริ่มจากการปรับอาหาร การออกกำลังกาย เเละไลฟ์สไตล์ให้เหมาะสม พร้อมกับการให้ยารักษาโรคกระดูกพรุนร่วมด้วย ซึ่งตัวยาจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ยาเพิ่มการเสริมสร้างกระดูกและยายับยั้งการสลายกระดูก ทั้งนี้ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดตลอดการใช้ยาและการรักษา
“แม้ว่าโรคกระดูกพรุนจะพบมากในผู้สูงวัย แต่สิ่งที่เราทำได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ คือการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงไว้ตั้งแต่วัยรุ่น และหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปีโดยไม่ต้องรอให้เจ็บหนัก หากพบว่ามีความเสี่ยงหรือเป็นโรคกระดูกพรุนจะได้รักษาได้ทันเวลา เพื่อให้เรามีสุขภาพที่ดี และมีความสุขได้ในทุก ๆ วัน” พญ. อติพร เทอดโยธิน กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ที่สนใจต้องการปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สามารถติดต่อได้ที่ ชั้น 4 ศูนย์กระดูกและข้อ หรือโทรนัดหมาย
02-079-0060 เวลา 08.00-20.00 น.
ติดตามข่าวสารกิจกรรมและโปรโมชันดี ๆ จากโรงพยาบาลวิมุตได้ที่เว็บไซต์ www.vimut.com
เฟซบุ๊ก: facebook.com/vimuthospital IG: vimut_hospital LINE: @vimuthospital TikTok: @vimuthospital,
YouTube: youtube.com/c/ViMUTHospital