ระวัง! โรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็ก
พบบ่อยช่วงหน้าร้อน
ในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย เด็กๆ มักจะมีอาการท้องร่วงเฉียบพลันได้บ่อย สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการท้องร่วงมักมาจากติดเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมาจากอาหารและน้ำดื่ม ทำให้มีอาการถ่ายเหลว อาเจียน ส่งผลเสียต่อร่างกายโดยอาจจะทำให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ดังนั้นการเฝ้าระวังโรคท้องร่วงในเด็กในช่วงฤดูร้อนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม
อาการท้องร่วงเฉียบพลัน
- ปวดท้องบิดเกร็ง แน่นท้อง
- คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้
- ท้องเสียเป็นน้ำ เนื้อเหลว ในบางกรณีอาจมีมูกเลือกปนได้
- มีอาการของการสูญเสียสารน้ำและเกลือแร่ ปากแห้ง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ชีพจรเต้นเร็ว ปัสสาวะออกลดลง
การรักษาโรคท้องร่วงเฉียบพลัน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถดื่มเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป
- ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หากร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากจนเกินไป จากอาการอาเจียนและถ่ายเหลว ร่วมกับผู้ป่วยรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อย แนะนำพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ ในบางรายจำเป็นต้องได้รับสารน้ำทดแทนทางหลอดเลือดและยาปฏิชีวนะเพิ่มเติม
การป้องกันโรคท้องร่วงเฉียบพลัน
- แนะนำล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และ ครบ 5 หมู่
- หากเกิดอาการท้องร่วง ผู้ดูแลควรระมัดระวังการแพร่เชื้อไปสู่เด็กคนอื่น โดยดูแลหลังการขับถ่าย ทำความสะอาดให้เรียบร้อย งดไปโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนจนอาการกว่าจะหายเป็นปกติ
อย่างไรก็ดีหากเด็กมีอาการท้องร่วงมากขึ้น อาการไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง มีอาการสงสัยจะขาดน้ำรุนแรงหรือสงสัยมีการติดเชื้อรุนแรงดังที่กล่าวข้างต้นนั้น ผู้ปกครองไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้ ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
*********************************************
บทความโดย แพทย์หญิง ปราญชลี ศรีกาญจนวัชร
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)
ศูนย์ต่อมไร้ท่อและเบาหวานในเด็ก ชั้น 2 โทร 02-836-9999 ต่อ 2721-2