รพ. วิมุต มุ่งมั่นมอบการดูแลสุขภาพที่เข้าใจของคนทุกวัยจึงได้เปิด 4 คลินิกเฉพาะทาง ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญการ ได้แก่ คลินิกปวดศีรษะ, คลินิกกรดไหลย้อนและท้องผูก, คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ และคลินิกโรคจมูกและไซนัส เพิ่มศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคยอดฮิต และผู้ป่วยที่มีอาการจากโรคที่เป็นภัยเงียบ อาทิ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกรดไหลย้อน โรคไมเกรน โรคไซนัสอักเสบ และโรคภูมิแพ้ ทุกการรักษาอยู่บนพื้นฐานด้านความปลอดภัยในระดับสากล ส่งมอบบริการทางการแพทย์ที่ไร้รอยต่อแบบครอบคลุม ด้วยจุดแข็งด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ป้องกัน-รักษา-ฟื้นฟู ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการยุคใหม่โดยผสานความรู้ของทีมงานในทุกศูนย์เฉพาะทางที่ทำงานร่วมกันเพื่อส่งต่อและติดตามการรักษาตั้งแต่ต้นจนจบได้อย่างราบรื่น พร้อมรักษาเจาะลึกอาการและโรคด้วยความเชี่ยวชาญจากแพทย์เฉพาะทางที่มีความพร้อมในการรักษา โดยมีนวัตกรรมและเครื่องมือที่ทันสมัย เจาะลึกถึงสาเหตุต้นตอของโรค ทำให้ผู้ใช้บริการทุกคนมั่นใจและอบอุ่นใจได้”
ข้อมูล 4 คลินิกเฉพาะทาง
คลินิกปวดศีรษะ (Headache Clinic)
สถานที่ตั้ง: ชั้น 6 รพ.วิมุต พหลโยธิน
เวลาทำการ: 8.00 - 17.00 น.
เบอร์โทรศัพท์: 02-079-0068
คลินิกปวดศีรษะ บริการตรวจวินิจฉัย รักษา ในกลุ่มปวดศีรษะประเภทต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีและการตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัย ช่วยในการการวิเคราะห์สาเหตุได้อย่างตรงจุด เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องและแม่นยำ
นพ.กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท เผยสถิติโรคปวดศีรษะ ว่า "ผลสำรวจองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าความชุกของโรคปวดศีรษะมีมากถึง 40% หมายความว่า ประชากรโลกราว 7 พันล้านคน มีคนปวดศีรษะถึง 3.1 พันล้านคน นอกจากนี้ ในจำนวนดังกล่าว เป็นโรคโมเกรนประมาณ 1 พันล้านคน โดย 15% ของผู้ปวดศีรษะรายงานว่าเป็นการปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการอักเสบติดเชื้อ เนื้องอกในสมอง หรือมีเลือดออกในสมอง และสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตหรือพิการได้หากไม่รีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย สำหรับกลุ่มคนวัยทำงาน ต้องเน้นย้ำว่าแม้สาเหตุส่วนใหญ่ของการ
ปวดหัวจะมาจากความเครียดการพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่ก็ยังมีปัจจัยกระตุ้นอีกมากมายที่ทำให้ปวดศีรษะ ไม่อยากให้ทำงานหนักจนละเลยสัญญาณเตือนของร่างกาย หากมีอาการปวดหัวเรื้อรังหรือปวดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อปวดมากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที รวมถึงหากมีอาการร่วม อาทิ ชา แขนขาอ่อนแรง คลื่นไส้ ภาพเบลอ หน้าเบี้ยว หมดสติ ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และที่สำคัญไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด”
เทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัย
• เครื่องตรวจ MRI ที่สามารถตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุโรคด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI) ซึ่งมีความเข้มของสนามแม่เหล็ก 1.5 Tesla อุโมงค์กว้างรองรับได้ทุกสรีระ มีระบบความปลอดภัยเพื่อดูแลผู้รับบริการขณะตรวจ ด้วยเครื่องตรวจที่ทันสมัยทำให้ผู้ป่วยไม่อึดอัดเวลาตรวจ
•เครื่องตรวจ CT Scan อุโมงค์มีขนาดกว้าง ตรวจได้ละเอียด แม่นยำ รวดเร็ว โดยใช้ปริมาณรังสีและสารทึบรังสีน้อยลง มีระบบ Dose Monitoring เป็นการตรวจวัดปริมาณรังสีให้กับผู้ป่วยในการตรวจแต่ละครั้ง และยังสามารถคำนวณปริมาณรังสีเฉพาะบุคคลก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการตรวจเพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจได้ว่าจะได้รับปริมาณรังสีอย่างปลอดภัย
คลินิกท้องผูกและกรดไหลย้อน (Gerd and Constipation Clinic)
สถานที่ตั้ง: ชั้น 5 รพ.วิมุต พหลโยธิน
เวลาทำการ: จันทร์ - ศุกร์ 8.00 - 20.00 น. , เสาร์-อาทิตย์ 8.00 - 17.00 น.
เบอร์โทรศัพท์: 02-079-0054
นายแพทย์กุลเทพ รัตนโกวิท อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร เล่าถึงสาเหตุของโรคกรดไหลย้อนและท้องผูกในกลุ่มคนทำงานว่า “โรคกรดไหลย้อนพบบ่อยมากในกลุ่มวัยทำงาน เพราะไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบทำให้กินอาหารไม่เป็นเวลา เคี้ยวไม่ละเอียด ความเครียดสะสม การกินของมันของทอด น้ำอัดลม รวมถึงแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ก็ล้วนมีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนทั้งสิ้น ในไทยผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนยุคนี้ โดยอาการที่เข้าข่ายกรดไหลย้อน รวมถึงแสบยอดอก กลืนลำบาก ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย หรือการขับถ่ายที่ไม่ปกติ เมื่อพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ก่อนเกิดอาการแทรกซ้อนจนอาจอันตรายถึงชีวิตได้ สำหรับท้องผูกเป็นอาการที่พบบ่อยในคนไทยเช่นกัน จากการเร่งรีบ ไม่เข้าห้องน้ำ เข้าไม่เป็นเวลา หรือ ข้ามการขับถ่ายไป โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 20 – 40 ปี พบว่าเป็นโรคท้องผูกถึงร้อยละ 57 และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยเรื่องการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำน้อย , การผ่าตัด อุบัติเหตุ หรือความเจ็บป่วยอื่นๆ รวมถึงภาวะเครียดก็ส่งผลต่อการขับถ่ายด้วย สิ่งที่น่ากังวลคือคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องปกติและปล่อยทิ้งไว้จนอาการเรื้อรังและส่งผลต่อการใช้ชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลต่อความเสี่ยงถึงชีวิต ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้งสองโรคนี้สามารถดีขึ้นได้ด้วยความตั้งใจของผู้ป่วยในการหันมาปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างจริงจัง เพราะนอกจากจะหายจากโรคแล้วยังทำให้ไม่กลับไปเป็นซ้ำอีกด้วย”
คลินิกท้องผูกและกรดไหลย้อนเป็นคลินิกเฉพาะทางเพื่อให้บริการการวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารทั้งส่วนบน และส่วนล่าง เช่น ท้องผูกและกรดไหลย้อน เป็นต้น ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ โดยมีมาตรฐานการให้การดูแลรักษาในระดับสากล รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการตรวจที่ทันสมัย สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการดังนี้ อาการแสบร้อนหน้าอก, อาการกรดไหลย้อนเรื้อรัง รักษามานาน, อาการท้องผูก, ลำไส้แปรปรวน หรืออาการปวดท้องแน่นท้องไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งคลินิกมีเครื่องมือที่ใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์
• การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยกรดไหลย้อน
o การตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร (pH Monitoring) เป็นการตรวจบันทึกค่ากรดหรือด่างในหลอดอาหาร เพื่อวินิจฉัย และประเมินความรุนแรงของภาวะกรดไหลย้อนในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะกรดไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร แต่อาการไม่แน่ชัด หรือผู้ป่วยที่มีกรดไหลย้อนอยู่เดิมที่ได้รับการรักษาแล้วไม่ดีขึ้น รวมไปถึงผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วไม่สามารถหยุดยาลดกรดได้ ซึ่งมีทั้งแบบติดแคปซูลชนิดไร้สาย และแบบมีสายต่อกับเครื่องบันทึก จากเทคโนโลยีการตรวจเพิ่มเติมนี้ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่มาด้วยอาการลักษณะของกรดไหลย้อนได้ดียิ่งขึ้น
• การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยท้องผูก
o การตรวจวัดความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก แรงเบ่งจากลำไส้ตรงและการวัดรับรู้และการตอบสนองต่ออุจจาระที่มาอยู่บริเวณลำไส้ตรง (High-Resolution Anorectal Manometry)
1. เป็นการตรวจวัดความสัมพันธ์ระหว่างการทำงาน 3 อย่างในระหว่างการขับถ่ายที่สามารถส่งผลให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังได้โดยจะประเมินการรับรู้ความรู้สึกของลำไส้ตรงต่ออุจจาระเคลื่อนมาอยู่ที่อยู่ในลำไส้ตรงโดยอาศัยบอลลูนประเมิณการทำงานของกล้ามเนื้อในเชิงกรานที่มีผลต่อการเบ่งและแรงเบ่งถ่ายประเมินการคลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้ถ้าไม่เกิดขึ้นอย่างปกติและต่อเนื่องสอดคล้องกันก็จะก่อให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรัง นอกจากนั้นยังสามารถวินิจฉัยในผู้ที่ไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ ( Fecal Incontinence ) ผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองแต่กำเนิด (Hirschsprungs’ disease) และรวมถึงสามารถตรวจเพื่อประเมินการทำงานของแรงดันบริเวณลำไส้ตรงและกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก ก่อนทำผ่าตัด
2. การฝึกการขับถ่ายในผู้ป่วยที่มีการขับถ่ายผิดปกติโดยใช้เครื่องวัดแรงดันกล้ามเนื้อและหูรูดทวารหนัก (Anorectal biofeedback training) เป็นการใช้เครื่องวัดแรงดันกล้ามเนื้อและหูรูดทวารหนักแสดงภาพกราฟและแรงดันออกทางหน้าจอคอมพิวเตอร์โดยอาศัยการใส่สายเข้าทางทวารหนักในลักษณะเดียวกันกับการตรวจ เพื่อให้ผู้ป่วยฝึกการขับถ่าย ซึ่งการฝึกด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ และจดจำรูปแบบการขับถ่ายอย่างมีประสิทธิภาพได้ รวมไปถึงการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนักในผู้ป่วยที่กลั้นอุจจาระได้ไม่ดี
3. การตรวจ colonic transit study ในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะลำไส้เคลื่อนตัวช้า
คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia Clinic)
สถานที่ตั้ง: ชั้น 6 รพ.วิมุต พหลโยธิน
เวลาทำการ: 8.00 - 17.00 น.
เบอร์โทรศัพท์: 02-079-0042
นายแพทย์ศรัณย์พงศ์ ภิบาลญาติ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ เผยว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภัยเงียบจากความเครียดที่ไม่ควรละเลย “โรคหัวใจเป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตคู่วัยทำงาน เพราะการหักโหมทำงานจนเครียด พักผ่อนน้อย บวกกับการกินอาหารที่มีไขมันสูง-รสจัด ไม่ได้ออกกำลังกาย จึงทำให้ปัจจุบันคนเป็นโรคหัวใจได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อน โดยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภาวะที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ จนส่งผลให้การบีบกล้ามเนื้อหัวใจ 2 ห้องบนไม่สัมพันธ์กัน โดยโรคนี้ถือเป็นภัยเงียบ เพราะร้อยละ 15 – 46 ของผู้ป่วยไม่มีอาการปรากฏ ส่วนสัญญาณเตือนที่พบบ่อย ได้แก่ อาการใจสั่น อ่อนเพลีย หายใจติดขัด และแน่นหน้าอก หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแนวทางการรักษา หลายคนยังเข้าใจผิดว่าโรคนี้ไม่ร้ายแรง ทว่าหากเกิดอาการร่วมหรือปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ก็อาจเสี่ยงเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว เกิดเป็นลมหมดสติไป อาจหมดสติขณะขับรถ หรือขณะข้ามถนน เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันสมอง สำหรับวิธีรักษาหัวใจให้แข็งแรง คือการหลีกเลี่ยงความเครียด เพราะเมื่อเราเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทหลายประเภทไปกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะได้ นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและโอเมก้า 3 รวมถึงผัก-ผลไม้ และธัญพืช ลดอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ และการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณที่สูงเกินไป เพราะเป็นการกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้น”
คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นการให้บริการตรวจวินิจฉัยเพื่อคัดกรองทุกอาการของความผิดปกติของหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยอายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ ให้คำแนะนำในการป้องกัน และรักษาผู้ป่วยที่มีโรคและภาวะเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยและห้องปฏิบัติการที่พร้อมให้บริการอย่างครบวงจร เพื่อตรวจวิเคราะห์หาความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ ซึ่งคลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะโรงพยาบาลวิมุตสามารถให้บริการด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ได้แก่
• เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นการตรวจการนำของคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจ จังหวะการเต้นของหัวใจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของหัวใจเต้นผิดจังหวะ และทั้งยังสามารถวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่มีผลต่อหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจโต เส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด และหาสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก เป็นต้น โดยวิธีนี้ถือว่าเป็นการตรวจที่ง่าย สะดวกและใช้ระยะเวลาไม่นาน อีกทั้งยังสามารถตรวจได้ทุกเพศทุกวัย
• เครื่องอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram) เป็นการใช้เครื่องมือ ที่มีลักษณะเป็นหัวตรวจรูปร่างคล้ายไมโครโฟน (Transducer) แตะบริเวณหน้าอกด้านซ้าย โดยใช้คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Ultrasound) ทำให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวของหัวใจ ในมุมต่างๆ เพื่อดูขนาดของหัวใจในแต่ละห้อง ดูลักษณะการบีบตัวและคลายตัวของหัวใจ ดูลักษณะลิ้นหัวใจตีบและรั่ว และยังสามารถวัดความดันในห้องหัวใจได้
• เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว (Holter Monitor) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก ทำหน้าที่ติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตลอด 24-48 ชั่วโมง โดยอุปกรณ์จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ตัวเครื่อง และ ส่วนขั้วไฟฟ้า (electrode) แปะบริเวณหน้าอก ประโยชน์เพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ การตรวจหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ผู้เข้ารับการตรวจ จะได้รับการติดอุปกรณ์กลับบ้าน แล้วนำมาคืนที่โรงพยาบาลเมื่อครบกำหนด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการใจสั่น
• การตรวจหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ (Till Table Test) เป็นการตรวจโดยใช้เตียงที่ปรับเอียงได้เพื่อประเมินสาเหตุของภาวะเป็นลมหมดสติ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลงและหลอดเลือดขยายตัว ความดันโลหิตลดลง เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยและเป็นสาเหตุของการเป็นลมหมดสติ
• การตรวจสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ EPS (Electrophysiology Study) และ การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Ablation) ใช้ตรวจประเมินสัญญาณไฟฟ้าและทางเดินไฟฟ้าหัวใจ โดยช่วยในการวินิจฉัยหาสาเหตุหัวใจเต้นผิดปกติ หาตำแหน่งในหัวใจที่เป็นจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ และเป็นวิธีรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ
• การเปลี่ยนจังหวะการเต้นของหัวใจด้วยการช็อคด้วยไฟฟ้า (Electrical cardioversion) เป็นหัตถการที่ใช้เวลาสั้น ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบและติดแผ่นเพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หน้าอก ต่อจากนั้นจะถูกช็อคด้วยไฟฟ้าผ่านทางแผ่นที่หน้าอก จังหวะการเต้นหัวใจจะกลับมาปกติ ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ หรือ จำเหตุการณ์ได้ ซึ่งเป็นการรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะจากภาวะหัวใจห้องบนเต้นพริ้ว ในกรณีที่ยาไม่สามารถควบคุมได้
• การผ่าตัดฝังเครื่องช่วยในการทำงานของหัวใจ (pacemaker or Implantable cardioverter defibrillator – ICD ) การผ่าตัดฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยให้อัตราการเต้นหัวใจกลับมาทำงานได้ปกติ จะทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยการผ่าตัดฝังอุปกรณ์นี้จะทำในห้องสวนหัวใจ ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบ อุปกรณ์นี้จะประกอบไปด้วย แบตเตอรีและระบบคอมพิวเตอร์ (pulse generator) และลวดนำไฟฟ้า (leads)
คลินิกโรคจมูกและไซนัส (Nose and Sinus clinic)
สถานที่ตั้ง: ชั้น 5 รพ.วิมุต พหลโยธิน
เวลาทำการ: 08.00 – 20.00 น.
เบอร์โทรศัพท์: 02-079-0050
ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ แพทย์เฉพาะทางสาขา นาสิกวิทยาและภูมิแพ้ อธิบายถึงสาเหตุที่คนส่วนใหญ่มักเป็นไซนัสอักเสบแบบเป็น ๆ หาย ๆ “โรคไซนัสอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา โรคภูมิแพ้ มลภาวะทางอากาศ และความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน มีทั้งไซนัสอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง เป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศชื้นอย่างหน้าฝนแบบนี้ แต่ที่กลุ่มคนวัยทำงาน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก เช่น การอยู่ในที่อากาศเย็นหรือแห้งเป็นเวลานาน ๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนอุณหภูมิฉับพลัน เพราะวัยทำงานส่วนใหญ่มักนั่งทำงานในห้องแอร์เป็นเวลานาน และเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างรวดเร็วเมื่อต้องออกไปข้างนอก ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มคนวัยทำงานยังพักผ่อนน้อย ขาดการออกกำลังกาย โดยเฉพาะในรายที่เป็นหวัดแล้วไม่พักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำให้เยื่อบุภายในช่องจมูกและไซนัสบวม ทั้งยังไม่สามารถหาเวลาพักผ่อนให้หายดี ทำให้หลายคนมีอาการต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนกลายเป็นเรื้อรังได้ นอกจากนี้ คนทำงานในเมืองใหญ่ที่มี PM 2.5 เยอะ ๆ ก็จะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอ่อนแอ อักเสบง่าย และกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิแพ้ให้รุนแรงขึ้นด้วย เพิ่มโอกาสในการป่วยเป็นไซนัสอักเสบมากขึ้นไปอีก สำหรับคนที่มีอาการปวดบริเวณใบหน้า ได้กลิ่นผิดปกติจากภายในจมูก น้ำมูกลงคอและน้ำมูกเขียวร่วมด้วย ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้อง”
คลินิกโรคจมูกและไซนัส ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคทางจมูก เช่น ภูมิแพ้ ริดสีดวงจมูก เลือดกำเดาไหลจมูก และไซนัสทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ตั้งแต่กระบวนการให้คำปรึกษาไปจนถึงการผ่าตัดด้วยกล้องEndoscope และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยครบครัน รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่ผ่านการอบรมจากทั้งในและต่างประเทศ สามารถให้การตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างละเอียดและแม่นยำ รวมทั้งบริการให้คำแนะนำ และปรึกษาปัญหาเบื้องต้น ทางโทรศัพท์
เทคโนโลยีการตรวจวินิฉัย
• การตรวจช่องจมูกและลำคอด้วยกล้อง (Nasal Endoscope) เป็นการตรวจภายในช่องจมูก รวมทั้งลำคอบริเวณหลังโพรงจมูก ด้วยกล้องขนาดเล็ก ซึ่งมีความคมชัดด้วยจอภาพความละเอียดสูง ทำให้สามารถให้การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่องจมูก เช่น เลือดกำเดาไหล อาการคัดจมูก หวัดเรื้อรัง รวมทั้งตรวจหาพยาธิสภาพบริเวณหลังโพรงจมูก ทำให้สามารถรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
• การรักษาอาการคัดจมูกด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency: RF) จี้บริเวณจมูก สามารถทำได้โดยใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ (ไม่ต้องดมยาสลบ) และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที
• การผ่าตัดโรคทางจมูก เช่น การผ่าตัดโรคทางจมูกผ่านกล้อง ด้วยแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง