ไอ จาม ปัสสาวะเล็ด ไม่ใช่เรื่องเล็ก คุณผู้หญิงไม่ควรมองข้าม
"แค่ไอ จาม ทำไมถึงปัสสาวะเล็ด?" ปัญหานี้เป็นเรื่องที่คุณผู้หญิงหลายคนกำลังเผชิญอยู่ และอาจสร้างความกังวลใจ ไม่มั่นใจในชีวิตประจำวัน แต่รู้หรือไม่ว่า อาการปัสสาวะเล็ด เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและสามารถรักษาได้ บทความนี้นำเสนอข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับภาวะปัสสาวะเล็ด เพื่อให้คุณผู้หญิงเข้าใจถึงสาเหตุ อาการ วิธีการรักษา และการป้องกัน
ทำความรู้จักกับภาวะปัสสาวะเล็ด
ภาวะปัสสาวะเล็ด (Urinary Incontinence) คือ ภาวะที่ควบคุมการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ทำให้ปัสสาวะรั่วซึมออกมาโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยกลางคนและผู้สูงอายุ
สาเหตุของภาวะปัสสาวะเล็ดในผู้หญิง
- กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ การไอเรื้อรัง ล้วนส่งผลต่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ทำให้ควบคุมการกลั้นปัสสาวะได้ยากขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หลังหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ส่งผลต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- โรคประจำตัว โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคระบบประสาท เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดได้
- การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การอักเสบจากการติดเชื้อ กระตุ้นให้ปัสสาวะเล็ดได้
- ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยานอนหลับ
อาการของภาวะปัสสาวะเล็ด
- ปัสสาวะเล็ดขณะไอ จาม หัวเราะ หรือออกกำลังกาย
- ปัสสาวะเล็ดขณะยกของหนัก
- ปวดปัสสาวะบ่อยและรู้สึกปวดแบบกะทันหัน
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
การรักษาภาวะปัสสาวะเล็ด
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดน้ำหนัก เลิกบุหรี่ ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
- การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เช่น การขมิบ Kegel ซึ่งเป็นการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้แข็งแรงขึ้น
- การใช้ยา แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อรักษาตามสาเหตุ เช่น ยาต้านการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ฮอร์โมนเอสโตรเจน
- การทำหัตถการรักษาโดยไม่ใช้การผ่าตัด เช่น เลเซอร์ , การฉีดพลาสมาบริเวณช่องคลอด , การนั่งเก้าอี้แม่เหล็กไฟฟ้า
- การผ่าตัด ในบางกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล
อย่าปล่อยให้ปัสสาวะเล็ด ทำลายความมั่นใจ
ภาวะปัสสาวะเล็ดไม่ใช่เรื่องเล็ก และไม่ใช่อาการปกติของวัย หากคุณผู้หญิงมีอาการดังกล่าว อย่านิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง แพทย์จะเป็นผู้ประเมิน ให้คำแนะนำ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมการดูแลสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ จะช่วยให้คุณผู้หญิง ก้าวผ่านภาวะปัสสาวะเล็ด และกลับมามีชีวิตที่มั่นใจอีกครั้ง
*****************************************
บทความโดย แพทย์หญิง เบญจวรรณ ลิมป์วนัสพงศ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา การผ่าตัดและวินิจฉัยผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
โทร 02-836-9999 ต่อ *4721-2