แฉต้นทุนชาเขียวเฉลี่ย 8.50 บาท ค่าขวดก็ปาไป 5 บาทแล้ว


สินค้าชาเขียวพร้อมดื่มตั้งราคาขายสูงกว่าต้นทุนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ ซึ่งจะครบกำหนด 1 เดือนที่กระทรวงพาณิชย์ ให้ผู้ประกอบการชาเขียวปรับลดราคาจำหน่ายสินค้าชาเขียวพร้อมดื่มลงมา เพราะตั้งราคาขายสูงกว่าต้นทุนมาก ซึ่งขณะนี้มียี่ห้อโตเซนได้ปรับลดราคาลงมาแล้วอยู่ที่ขวดละ 15 บาท ส่วนรายอื่นๆยังไม่ได้ลดราคา โดยยังขายที่ขวดละ 20 บาทเช่นเดิม ดังนั้น กระทรวงจึงจะส่งเรื่องให้กรมสรรพสามิตพิจารณา ในเรื่องการเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าชาเชียว เพราะจากการตรวจสอบพบว่ามีการนำเข้าหัวเชื้อชาเขียวจากต่างประเทศ เข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องดื่มชาเขียวร่วมด้วย

โหดโคตร ค่าวัตถุดิบใบชา น้ำ น้ำตาล และ กลิ่น รวมกันประมาณ 1.50 บาท/ขวด เราจ่าย 20 บาท

นอกจากนี้ กระทรวงจะแจ้งต้นทุนชาเขียวให้ผู้บริโภคได้รับทราบ โดยจัดทำข้อมูลต้นทุนชาเขียวมาเปรียบเทียบกับต้นทุนที่ผู้ประกอบการยื่นเข้ามา เพื่อเปรียบเทียบว่ามีการแจ้งข้อมูลเท็จจริงอย่างไร เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้า

สำหรับต้นทุนชาเขียวพร้อมดื่ม ตามที่ผู้ประกอบการยื่นมาให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณานั้น พบว่าโดยเฉลี่ยต้นทุนการผลิตชาเขียวพร้อมดื่ม ขนาดขวดละ 500 ซีซี มีต้นทุนประมาณ 8.50 บาท แบ่งเป็น ค่าวัตถุดิบ เช่น ใบชา น้ำ น้ำตาล และ กลิ่น รวมกันประมาณ 1.50 บาท/ขวด ค่าภาชนะบรรจุประมาณ 5 บาท/ขวด ค่าใช้จ่ายการผลิต เช่น ค่าแรงงาน ไฟฟ้า ประมาณ 2 บาท/ขวด

สำหรับต้นทุนการผลิตชาเขียวของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งตลาดในขณะนี้ ได้แจ้งต้นทุนมาที่ 9.93 บาท แบ่งเป็น ค่าวัตถุดิบ 2.33 บาท ค่าภาชนะ 5.78 บาท ค่าแรงงาน 0.71 บาท ค่าใช้จ่ายการผลิต 1.11 บาท ยังไม่รวมค่าบริการการตลาด เช่น ค่าโฆษณา 4.31 บาท เมื่อรวมต้นทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ 14.24 บาท/ขวด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า บริษัทโออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ โออิชิ ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเมื่อช่วงปี 46 โดยโออิชิได้ขอรับการส่งเสริมจำนวน 2 โครงการ คือ 1. โครงการทำน้ำพืชผักผลไม้ ซึ่งก็คือการทำน้ำชาเขียว มีมูลค่าโครงการ 464 ล้านบาท และ 2. โครงการทำผลไม้กระป๋อง มูลค่า 221. ล้านบาท สำหรับทั้ง 2 โครงการได้รับสิทธิประโยชน์ทุกอย่างเช่นเดียวกับบริษัทที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุน คือการยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี และยกเว้นภาษีเครื่องจักรและวัตถุดิบ

ทั้งนี้ รายละเอียดที่โออิชิเสนอเข้าไปเพื่อขอรับการส่งเสริมนั้น ระบุว่าจะมีการนำเข้ากล่อง บรรจุภัณฑ์จากต่างประเทศ ส่วนวัตถุดิบ ที่ใช้ในการผลิตคือชาเขียว จะใช้ของในประเทศเป็นหลัก รวมทั้งน้ำที่ใช้ในการผลิตและขวดพลาสติกเพื่อบรรจุชาเขียว ก็ใช้ของในประเทศทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการส่งเสริมการลงทุนของโออิชิยังเหลือเวลาอีกนาน เพราะเพิ่งได้รับการส่งเสริมเมื่อปี 2546 ซึ่งจะครบกำหนดในปี 2554 หรือเป็นระยะเวลา 8 ปี แต่เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วโออิชิจะไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้อีกต่อไป ยกเว้นจะต้องทำการขยายโครงการดังกล่าวออก ซึ่งเงื่อนเวลาการให้สิทธิประโยชน์ก็จะไม่ได้รับเช่นเดิม แต่จะเป็นในลักษณะการขยายเวลาเท่านั้น.

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement