ยาคุมกำเนิดชนิดแผง และวิธีกินยาคุมแผงแรก




ธรรมชาติของระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง
ประจำเดือนของผู้หญิงถูกควบคุมด้วย ฮอร์โมน 2 ชนิด คือ เอสโตรเจน และ โปรเจสเตอโรน ฮอร์โมนเหล่านี้ทำให้เกิดการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกและมีผลต่อการเตรียมมดลูกของผู้หญิงให้เหมาะต่อการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้ว และเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น 

เมื่อท่านมีเพศสัมพันธ์และเกิดการปฏิสนธิระหว่างตัวอสุจิของเพศชายและไข่ของเพศหญิง ไข่ที่ถูกผสมแล้วจะเดินทางมาฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกที่ถูกเตรียมไว้อย่างเหมาะสม ฮอร์โมนอื่นๆจะทำหน้าที่ป้องกันการสุกของไข่ใบต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้มีการตกไข่อีก และทำให้ทารกในครรภ์มีการพัฒนาต่อไปจนสิ้นสุดการตั้งครรภ์ หากไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เยื่อบุโพรงมดลูกดังกล่าวจะหลุดลอกจากร่างกายออกมาเป็นเลือดที่เราเรียกว่า ระดู หรือ เลือดประจำเดือน

ยาเม็ดคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างไร ? 
ยาเม็ดคุมกำเนิด ประกอบด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ 2 ชนิด คือ เอสโตรเจน และ โปรเจสโตเจน ที่ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนในร่างกาย ดังนั้นเมื่อเรารับประทานเข้าไปแทน ฮอร์โมนจึงไปทำหน้าที่หลอกระบบภายในร่างกาย ซึ่งปกติมีการควบคุมกันเองโดยธรรมชาติ ทำให้

-  ไม่มีไข่ตก ป้องกันการเจริญและการสุกของไข่
-  มูกที่ปากมดลูกข้นเหนียว เชื้ออสุจิจึงไม่สามารถผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกได้
-  ผังเยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อตัวไม่เหมาะต่อการเจริญของตัวอ่อน


วิธีรับประทายยาเม็ดคุมกำเนิดแผงแรก
 สำหรับผู้เริ่มรับประทาน : ควรเริ่มรับประทานยาเม็ดแรกในวันแรกที่มีประจำเดือน โดยนับวันแรกที่มีเลือดประจำเดือนเป็นวันที่หนึ่งของรอบเดือน
 สำหรับผู้เปลี่ยนชนิดยาคุม ( จากชนิด 21 เม็ด ) ให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดเดมจนหมดแผงก่อน จากนั้นเริ่มรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดใหม่ โดยรับประทานยาเม็ดแรกในวันแรกที่มีประจำเดือน
 สำหรับผู้เปลี่ยนชนิดยาคุม ( จากชนิด 28 เม็ด ) เมื่อมีประจำเดือนมา ให้หยุดรับประทานยาแผงเดิม และเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ โดยรับประทานยาเม็ดแรกในวันแรกที่มีประจำเดือน

แบบ 21 เม็ด ยาทุกเม็ดในแผงจะประกอบด้วยฮอร์โมนทั้งหมด การเริ่มรับประทานยาเม็ดแรก ให้เริ่มตรงกับวันของสัปดาห์ที่ระบุบนแผงยา เช่น ประจำเดือนมาวันแรก คือ วันศุกร์ ก็ให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกที่ระบุไว้ว่า "ศ" รับประทานยาวันละ 1 เม็ด เป็นประจำทุกวัน ตามลูกศรชี้จนหมดแผง

 แบบ 28 เม็ด ในแผงหนึ่งจะประกอบด้วยฮอร์โมน 21 เม็ด และ ส่วนที่ไม่ใช่ฮอร์โมนเพศ อีก 7 เม็ด ซึ่งจะมีขนาดต่างจาก 21 เม็ดแรก การเริ่มรับประทานยาแผงแรก ให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกในวันแรกที่มีประจำเดือนมา รับประทานยาเม็ดแรกในส่วนที่ระบุบนแผงว่าเป็นจุดริ่มต้นใช้ยา และรับประทานยาวันละ 1 เม็ดเป็นประจำทุกวัน ตามลูกศรชี้จนหมดแผง

วิธีรับประทายาแผงต่อไป
-  แบบ 21 เม็ด เมื่อรับประทานยาครบ 21 เม็ด จนหมดแผงแรกแล้ว ให้หยุดยา 7 วัน ให้เริ่มรับประทานยาแผงใหม่ได้ ถึงแม้ว่าประจำเดือนจะหมดหรือยังก็ตาม ด้วยวิธีนี้เมื่อเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ วันที่เริ่มรับประทานยาแผงใหม่จะตรงกับวันแรกที่เริ่มรับประทานยาแผงแรกเสมอ

-  แบบ 28 เม็ด เมื่อรับประทานยาครบ 28 เม็ด จนหมดแผงแล้ว ให้รับประทานยาแผงใหม่ต่อได้ทันทีเลย ถึงแม้ประจำเดือนจะหมดหรือยังก็ตาม ด้วยวิธีนี้เมื่อเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ วันที่เริ่มรับประทานยาแผงใหม่จะตรงกับวันแรกที่เริ่มรับประทานยาแผงแรกเสมอ

หมายเหตุ ช่วงเวลาและปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออกมาอาจน้อยกว่าปกติ อาการนี้เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปของผู้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด


เมื่อลืมทานยา
การลืมรับประทานา หรือรับประทานยาไม่ตรงเวลา อาจมีผลทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยาลดลง และอาจทำให้เกิดเลือดออกกะปริดกระปรอยได้ จึงควรรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดในเวลาเดียวกันทุกวัน และควรเก็บยาในที่ซึ่งเห็นได้ง่าย เพื่อช่วยเตือนไม่ให้ลืมรับประทานยา

ในกรณีที่ลืมรับประทานยา มีหลักปฏิบัติดังนี้ คือ

-  ถ้าลืมรับประทานยา 1 เม็ด ให้รับประทานยาเม็ดที่ลืมทันทีที่นึกได้ และรับประทานยาเม็ดต่อไปตามเวลาเดิม

-  ถ้าลืมรับประทานยาตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไป ให้รับประทานยา 1 เม็ดทันทีที่นึกได้ จากนั้นนับจำนวนเม็ดยาที่มีฮอร์โมนที่เหลืออยู่ในแผง
- ถ้ามีตั้งแต่ 7 เม็ดขึ้นไป ให้รับประทานยาวันละ 1 เม็ดต่อไป ตามปกติ
- ถ้ามีเหลืออยู่น้อยกว่า 7 เม็ด ให้รับประทานยาที่มีฮอร์โมนวันละ 1 เม็ดทุกวันจนหมด โดยทิ้งยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมนไป และเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ทันที โดยไม่ต้องเว้นระยะให้มีประจำเดือนมา

ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไป จะต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัย อย่างน้อย 7 วันในช่วงถัดมา

ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิด
ปัจจุบัน ยาเม็ดคุมกำเนิดส่วนใหญ่มีระดับฮอร์โมนต่ำกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะส่วนของฮอร์โมนเอสโตรเจน ( แต่เดิมต้องใช้มากถึง 50 ไมโครกรัม หรือ 0.05 มิลลิกรัม ปัจจุบัน เหลือเพียง 20, 30, 35 ไมโครกรัม ) จึงพบอาการข้างเคียงต่างๆลดลง แต่ก็ยังอาจพบได้บ้าง ได้แก่ คลื่นไส้ , อาเจียน , ปวดศรีษะ , ตึงคัดเต้านม , เป็นฝ้า , น้ำหนักเพิ่ม ซึ่งอาจพบภายใน 2-3 เดือนแรก แล้วจะค่อยๆหายไป อย่างไรก็ตาม ถ้าพบอาการข้างเคียงนี้มาก และ/หรือ ไม่หายภายใจ 2-3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกรต่อไป 

อาการเลือดออกกะปริดกะปรอย และการขาดประจำเดือนระหว่างใช้ยา
อาการเลือดออกกะปริดกะปรอย มักพบในผู้ที่ลืมรับประทานยา หรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ ( ไม่เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน ) ถ้าเกิดจากสาเหตุนี้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกวันเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม อาจพบอาการนี้ได้ในระยะ 2-3 เดือนแรกของการใช้ยา ถ้ามีเลือดออกเล็กน้อย ให้รับประทานยาต่อไป อาการจะหายได้เอง แต่ถ้ามีเลือดออกมาก ก็ควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกรต่อไป

การใช้ยาคุมกำเนิด ร่วมกับยาอื่นๆ
อาจมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาคุมเอง หรือ ยาอื่นๆที่ทานด้วย ยาที่ต้องระวังได้แก่
 ยาระงับอาการซึมเศร้า
 ยาปฏิชีวนะ
 ยารักษาวัณโรค
 ยากันชัก

จึงควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร ให้แน่ใจว่าควรจะใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ? 

ยาที่ลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด

ยาปฏิชีวนะ
แอมพิซิลลิน Ampicillin
Penicillin
Neomycin
Nitrofurantoin
Sulfa - Cotrimoxazole
Tetracycline

ยากันชัก
Carbamazepine
Phenobarbital
Phenytoin
Primidone

ยาแก้ปวด
Phenylbutazone

ยาต้านวัณโรค
Isoniazid
Rifampicin

ยาอื่นที่ถูกรบกวนโดยยาคุมกำเนิด

ยาลดน้ำตาลในเลือด
ทุกชนิด รวมทั้ง อินซูลิน

ยาลดความดันโลหิต
Gunethidine
Methyldopa

ยากันการแข็งตัวของเลือด
ทุกชนิด

ยาบรรเทาอารมณ์ซึมเศร้า
Clomipramine
Imipramine

ระยะเวลาในการใช้ยาคุมกำเนิด
สหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (IPPF) ได้แนะนำว่าสตรีที่มีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงและไม่สูบบุหรี่ สามารถใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดไปได้เรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดยาเป็นพักๆ เพราะการหยุดยาดังกล่าว อาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้

ภาวะการเจริญพันธุ์หลังหยุดยาคุมกำเนิด
ยาเม็ดคุมกำเนิดไม่ทำให้โอกาสการตั้งครรภ์ลดลง อย่างไรก็ตาม อาจพบภาวะการขาดประจำเดือนได้ในช่วงแรกของการหยุดยา ซึ่งเป็นช่วงที่สมองและรังไข่ กำลังปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนใหญ่แล้วประจำเดือนจะกลับมาปกติภายใน 3 เดือนหลังจากหยุดยา หากประจำเดือนไม่มานานเกินกว่า 3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของการขาดประจำเดือนต่อไป

ประโยชน์อื่นๆของยาคุมกำเนิด
-  ทำให้มีรอบเดือนสม่ำเสมอ
-  รักษาสภาวะฮอร์โมนเพศชายในร่างกายมากเกินไป เช่น สิว หน้ามัน ขนตามตัว
-  ลดอุบัติการกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น ภาวะเครียด ปวดรอบเดือน หงุดหงิด
-  ลดอาการปวดประจำเดือน
-  ลดภาวะโลหิตจาง
-  ลดอุบัติการของเนื้องอกรังไข่ชนิดไม่ร้ายแรง
-  ลดอุบัติการของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและรังไข่
-  ลดอุบัติการของเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก
-  ลดอุบัติการของการเกิดโรคไขข้อรูมาตอยด์
-  ลดอุบัติการของภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกราน

ข้อห้ามใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด
-  โรคของถุงน้ำดี
-  เป็นโรคหรือเคยเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง และ โรคหลอดเลือดอุดตัน เป็นต้น
-  โรคตับ
-  มีเลือดออกจากโพรงมดลูก โดยไม่ทราบสาเหตุ





แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement