มะเร็งเต้านม...ตรวจตรา รู้เร็ว รีบรักษา มีโอกาสหาย


คุณผู้หญิงที่ไปรับการตรวจมะเร็งเต้านม บางคนอาจจะพบว่ามีก้อนเนื้อในเต้านม คุณอย่าเพิ่งกังวลใจมากไปจนกว่าจะทราบผลชิ้นเนื้อนั้น เพราะคุณอาจจะไม่ได้เป็นมะเร็งเต้านมเสมอไป เพราะส่วนใหญ่พบว่าเป็นเนื้องอกธรรมดาไม่มีอันตราย อย่างไรก็ตามการจะแน่ใจว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ต้องตรวจสอบด้วยวิธีเฉพาะเท่านั้นได้แก่ การตรวจด้วยวิธี Imaging method แบบนี้สามารถให้ผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง หรืออีกวิธีหนึ่งคือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (tissue-biopsy) ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์

หลายทศวรรษที่ผ่านมาบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างพยายามที่จะไขปริศนาเกี่ยวกับกลไกการเกิดของโรคมะเร็ง จากการศึกษาวิจัยทำให้สามารถพบวิธีการตรวจและรักษามะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มได้ ซึ่งมะเร็งเต้านมในระยะแรกนั้นหากวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องก็จะสามารถควบคุมหรือรักษาได้ และผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกตินาน 10-15 ปี แต่ก็น่าเสียดายที่ยังไม่มีวัคซีนหรือยาใดๆ ที่สามารถป้องกันมะเร็งเต้านมได้ แม้ว่าเราจะทราบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ คุณผู้หญิงทั้งหลายจึงควรดูแลตัวเองให้ดีที่สุด

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมาก ที่สุดในผู้หญิง ในยุโรปผู้หญิง 16 คน เป็นมะเร็งเต้านม 1 คน ส่วนในประเทศไทย มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อยที่สุด เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่น โดยสถิติสาธารณสุขปี 2545 ระบุว่ามีสาเหตุการตายจากโรคมะเร็ง เป็นอันดับ 4

ลักษณะของเต้านมปกติ
เต้านมเป็นอวัยวะที่เต็มไปด้วยต่อมและเนื้อเยื่อไขมันมากมายระหว่างชั้นของผิวหนังและผนังช่องอก ซึ่งเนื้อเยื่อไขมันนี่เองที่เป็นตัวกำหนดขนาดและรูปร่างของทรวงอก เมื่อคุณมีลูก ต่อมดังกล่าวจะผลิตน้ำนมส่งผ่านท่อน้ำนมไปยังหัวนม ดังนั้นช่วงที่ให้นมลูก ต่อมน้ำนมและท่อต่างๆ จะมีขนาดใหญ่ขึ้น

เต้านมยังประกอบด้วยเส้นเลือดและน้ำเหลือง โดยน้ำเหลืองจะนำของเสียที่เต้านมขับออกไปยังเนื้อเยื่อขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่วที่เรียกว่าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ซึ่งต่อมน้ำเหลืองจะทำหน้าที่กรองและทำความสะอาดน้ำเหลือง

มะเร็งเต้านมนั้นเป็นอย่างไร?
มะเร็งเต้านมเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ของเต้านมมีการแบ่งตัวโดยไม่สามารถควบคุมได้ มีการเบียดบังเนื้อเยื่อข้างเคียงและแพร่ขยายไปทั่วร่างกาย โดยเซลล์มะเร็ง จะเพิ่มจำนวนและแบ่งตัวได้ด้วยตนเอง มันจะแย่งสารอาหารจากเซลล์ปกติ และเข้าไปแทนที่เซลล์ปกติของเต้านม หากปล่อยไว้เซลล์ปกติเหล่านี้จะไม่สามารถเติบโตได้ แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการนี้ต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งการตรวจแมมโมแกรม (การเอกซเรย์เต้านม) บางครั้งอาจช่วยทำให้ตรวจพบโรคก่อนที่จะรู้สึกหรือเห็นการเปลี่ยนแปลงได้

คุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมไหม?
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมต่อไปนี้สามารถแก้ไขได้ เช่น
ใช้ฮอร์โมนทดแทนในการรักษาภายหลังวัยหมดประจำเดือน 
 ใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน (OCPs) เป็นระยะเวลานาน
 ไม่เคยให้นมบุตร
 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2-5 แก้วต่อวัน
 มีน้ำหนักตัวมากเกินไป (โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน)
 ขาดการออกกำลังกาย
 รับประทานอาหารพวกไขมันมากเกินไป

การใช้ฮอร์โมนทดแทนหรือยาคุมกำเนิดแบบ รับประทานอาจมีความจำเป็นแม้ว่าจะมีความเสี่ยง แต่ ความสัมพันธ์ระหว่างยาคุมกำเนิดแบบรับประทานกับมะเร็งเต้านมยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ว่ามีทางเลือกอื่นๆ บ้างหรือไม่

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่
 เป็นผู้หญิง
 อายุ (ความเสี่ยงมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น)
 มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
 หมดประจำเดือนหลังอายุ 50 ปี
 การที่ไม่เคยมีบุตร
 มีบุตรภายหลังอายุ 30 ปี
 มีแม่ พี่น้อง หรือลูกสาวเคยเป็นมะเร็งเต้านม
 เคยตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม หรือเต้านมมี การเปลี่ยนแปลงอยู่ในภาวะก่อนเป็นมะเร็งเต้านม
 มีความผิดปกติของยีนส์ที่ได้รับ การถ่ายทอดพันธุกรรมมาจากพ่อแม่ 
 เคยมีประวัติเป็นมะเร็งมดลูกและมะเร็งลำไส้ใหญ่ (รวมถึงประวัติในครอบครัวเคยมีคนเป็นด้วย)

การตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำ และเมื่อพบความผิดปกติใดๆ ควรรีบไปรับการตรวจเบื้องต้น หรือตรวจร่างกายกับแพทย์เป็นระยะ ในช่วงที่เหมาะสมกับวัยและประวัติความเสี่ยง จะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรก

ควรเริ่มตรวจเต้านมเมื่อใด?
สมาคมมะเร็งวิทยาในประเทศอเมริกาแนะนำว่า
 อายุระหว่าง 20-39 ปี ควรมีการตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง ในช่วง 1 สัปดาห์ หลังจากหมดประจำเดือนในแต่ละเดือน
 อายุระหว่าง 20-39 ปี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุกๆ 3 ปี หรือทุกปีหากต้องมีการตรวจมะเร็งปากมดลูก (Pap smear)
 อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมและตรวจแมมโมแกรม เป็นประจำทุกปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์ สำหรับผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ควรเริ่มตรวจ แมมโมแกรมตั้งแต่อายุ 35 ปี

ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างไร?
ถ้าคุณมีประจำเดือนมาเป็นปกติทุกเดือน ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองหลังจากหมดประจำเดือนในแต่ละเดือน ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าอยู่ในวัยหมดประจำเดือน ให้ตรวจในวันแรกของทุกเดือน ส่วนผู้ที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ให้ตรวจในวันแรกที่เริ่มรับประทานยาแผงใหม่

การตรวจเต้านมควรทำระหว่างอาบน้ำในตอนเช้า เพราะก้อนเนื้อจะถูกตรวจพบได้ง่ายหากมือและเต้านมยังเปียกอยู่ โดยใช้ฝ่ามือ 3 นิ้ว (ไม่ใช่ปลายนิ้ว) ของนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง คลำขึ้นลงหรือเป็น วงกลม ให้ทั่วทั้งเต้านม รักแร้ และตรวจหัวนมว่ามีของเหลวไหลออกมาหรือไม่

จากนั้นให้ตรวจเต้านมขณะยืนหรือนั่งหน้ากระจก ตรวจทั้งในขณะที่ยกแขนขึ้นและแนบข้างลำตัว มองดูการเปลี่ยนแปลงในขนาดและรูปร่าง ดูรอยบุ๋มและความผิดปกติของหัวนม ต่อจากนั้นให้ตรวจ เต้านมขณะที่นอนหงายกับพื้น วางหมอนใบเล็กๆ หรือผ้าเช็ดตัว หนุนไหล่ข้างที่จะตรวจ ใช้มือขวาตรวจเต้านมข้างซ้าย และใช้มือซ้ายตรวจเต้านมข้างขวา ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที หาก มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจเต้านมด้วยตนเองควรปรึกษาแพทย์

สัญญาณ-อาการก่อนที่จะเป็นมะเร็งเต้านม?
ในระยะก่อนเป็นมะเร็งเต้านมนั้นจะไม่มีสัญญาณหรืออาการเตือนใดๆ เลย ดังนั้นการตรวจเต้านมอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยในช่วงที่เซลล์มะเร็งเติบโตจะทำให้มีอาการซึ่งควรรีบพบแพทย์ดังนี้ - มีก้อนเนื้อที่เต้านมหรือใต้วงแขน 
 ขนาดและรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป
 หัวนมมีของเหลวไหลออกมาหรือมีรูปร่างผิดปกติ
 มีผื่นแดงหรือตกสะเก็ดของผิวหนังหรือหัวนม
 มีรอยขรุขระหรือรอยบุ๋มของผิวหนังเต้านม (คล้ายเปลือกส้ม)

การวินิจฉัยและกำหนดระยะของมะเร็งเต้านม
เมื่อมีการตรวจพบก้อนเนื้อ อาจมีความจำเป็นต้องตรวจ แมมโมแกรม หรืออัลตราซาวด์เต้านมหลายครั้ง โดยการตรวจอัลตราซาวด์เหมาะสำหรับการตรวจดูบริเวณพังผืด และในวัยรุ่นที่เนื้อเยื่อยัง หนาอยู่ อาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (biopsy) ด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อทราบว่าเป็นมะเร็งเต้านมหรือเนื้องอกธรรมดา
มะเร็งเต้านมจะถูกแบ่งเป็นระยะตามการแพร่กระจายของ เซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะข้างเคียงและอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะพวกต่อมน้ำเหลืองต่างๆ ซึ่งระยะของโรค จะช่วยให้แพทย์สามารถพิจารณาเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม

การรักษามะเร็งเต้านม
การรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธีขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละคน โดยมีจุดประสงค์เพื่อกำจัดเนื้อร้ายให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ มะเร็งเต้านมในระยะแรกสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดและการให้ยา ในระยะต่อมาของโรคอาจจะต้องมีการตัดเต้านมและต่อมน้ำเหลืองใต้วงแขนออกทั้งหมด โดยเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุดร่วมกัน รวมไปถึงข้อดีข้อเสียของการทำ เต้านมเทียมด้วย

ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) คือ การใช้ยาต้านมะเร็งเพื่อยับยั้งเซลล์มะเร็งที่มีปริมาณน้อยเกินไปที่จะใช้วิธีการผ่าตัด โดยยาจะไปขัดขวางกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์ปกติในร่างกายด้วย ซึ่งทำให้เกิดอาการ ข้างเคียง อย่างไรก็ตามการใช้ยาเคมีบำบัดนี้ยังคงมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของ การกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง

รังสีบำบัด (Radiation therapy) คือ การใช้รังสีที่มีพลังงานสูงคล้ายรังสีเอกซเรย์เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง วิธีนี้แม้ว่าไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดขณะรักษา แต่ว่าทำให้เกิดอาการข้างเคียงพอๆ กับการใช้ยาเคมีบำบัด วิธีนี้เหมาะสำหรับมะเร็งบางชนิดและ บางระยะของมะเร็งเต้านมเท่านั้น

ในผู้ที่เซลล์มะเร็งมีตัวรับฮอร์โมน เอสโตรเจน (estrogen receptors) อาจให้การรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัด (Hormonal therapy) โดยยาที่ชื่อว่า tamoxifen จะยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ สำหรับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนนั้น อาจรักษาด้วยยาที่ใหม่กว่าและแพงกว่า เช่น aromatase inhibitors

การตรวจพบว่ามียีนมะเร็งเฮอร์ทู (HER-2/neu) ซึ่งเป็นตัวรับของยีน BRCA แสดงถึงโอกาสสูงที่เนื้อร้ายจะเกิดขึ้นได้อีกครั้ง ซึ่งยาที่เรียกว่า trastuzumab จะช่วยยับยั้งการทำงานของตัวรับดังกล่าว และมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมได้

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง
 มะเร็งเต้านม และ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement