อะไรที่ไม่เคยทำ ไม่เคยมี ไม่เคยเป็น เมื่อจะต้องเข้าไปพบกับสิ่งนั้นเป็น 'ครั้งแรก' อาการตื่นเต้นย่อมเกิดขึ้น เหมือนกับการมีลูก 'คนแรก' ก็เช่นเดียวกัน ที่คุณมักจะคาดหวัง วิตกกังวล ไปต่างๆ นานา
เมื่อมีลูก ทุกคนที่กำลังจะเป็นแม่ หรือ พ่อ ย่อมคาดหวังให้ลูกที่กำลังจะเกิดมา ทั้งในเรื่องสุขภาพของลูก คอยลุ้นว่า เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย หน้าตาลูกจะเหมือนใคร และอีกสารพันที่จะนึกกันไป
จึงทำให้มีความเชื่อ หรือข้อปฎิบัติหลากหลาย เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอดลูก การเลี้ยงดูลูก แต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันไป บางประเพณีก็ลบเลือนกันไปมากแล้ว ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ อย่างเราเมื่อได้ฟังแล้ว อาจจะต้องนึกแปลกใจว่า ทำกันแบบนี้ด้วยหรือ?
ลูกคนแรก
เพศ : ตามที่ได้สอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเรา ก็มักไม่ค่อยพบว่า เพศจะมีส่วนสำคัญในเรื่องลูกคนแรก สำหรับประเพณีคนไทยเท่าไหร่นัก ไม่เหมือนกับความนิยมเรื่องเพศลูกคนแรก ของชาวจีน และชาวอินเดียที่ยังเข้มข้นอยู่ แต่ความเข้มข้น อาจเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัย
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า คนจีน มักอยากได้ลูกคนแรก เป็นผู้ชาย เพราะเชื่อในเรื่องการสืบวงศ์ตระกูล ถ้าย้อนไปดูตามประเพณีการแต่งงานเราจะเห็นว่า เป็นการแต่งงานแบบฝ่ายหญิงย้ายเข้ามาอยู่บ้านฝ่ายชาย เมื่อมีลูก ก็จะกลายเป็นลูกหลานของตระกูล ผิดกับผู้หญิงที่แต่งงานออกไปอยู่กับฝ่ายชาย ก็เท่ากับไปเป็นลูกหลานให้ตระกูลอื่นนั่นเอง
ส่วนของคนอินเดีย ผู้ชายก็ยังคงมีบทบาท สิทธิชัดเจนกว่าลูกผู้หญิงมากมายนัก และในปัจจุบันทั้งสองประเทศมีการควบคุมการมีลูกด้วยแล้วก็อาจจะทำให้การต้องการลูกชาย มีเพิ่มมากขึ้น
และยังมีความเชื่ออีกหลายๆ อย่างเกี่ยวกับการได้ลูกคนแรกเป็นผู้ชายนอกเหนือจากการสืบตระกูล เช่น ทำให้พ่อแม่โชคดี เพราะผู้ชายมีโอกาสเป็นใหญ่เป็นโต หรือเจริญก้าวหน้าต่อไป
แต่คนไทยเรา หรือคนไทยเชื้อสายจีน จะยังมีความเชื่อว่า ลูกคนโตต้องเป็นผู้ชายอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าคงเป็นเพียงความรู้สึกที่เข้มข้นน้อยลงมากแล้ว ด้วยสภาพการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาเท่าๆ กัน ความสำคัญในเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับความรู้สึกของแต่ละคู่มากกว่า ว่าอยากได้ลูกเพศอะไร บางคนชอบความน่ารัก ขี้อ้อนเอาใจ ก็อยากจะได้ลูกสาว บางบ้านอาจจะรู้สึกว่า มีลูกผู้ชายเลี้ยงง่ายกว่า (แต่สมัยนี้ไม่แน่ซะแล้ว) หรือคนโตเป็นผู้ชายจะได้เข้มแข็งดูแลน้องๆ ต่อไปได้ ไม่ว่าจะเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่ การเลี้ยงดู ปลูกฝังสิ่งที่ดีให้ลูกเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าลูกคนโตจะเป็นเพศใด ถ้าลูกเป็นเด็กดี มีความคิด ความรับผิดชอบต่อตัวเอง และสังคมต่อไป นั่นควรจะเป็นสิ่งที่พ่อแม่ภูมิใจมากกว่าเรื่องเพศ
ลำดับพี่น้อง : เรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องนิสัยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งข้อคิดเห็นต่างๆ จะออกมาดังนี้
คนโต - มีนิสัยเป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบ บางครั้งออกไปในแนวเผด็จการ ชอบสั่ง ชอบสอน
คนกลาง - เข้ากับคนง่าย มีความเป็นมิตรกับคนรอบข้าง แต่บางครั้งบางคนอาจจะดื้อเงียบ (คิดว่าพ่อแม่รักน้องคนเล็กมากกว่า)
คนเล็ก - เอาแต่ใจ ขี้เล่น อ้อนเก่ง เป็นคนอบอุ่น แต่บางครั้งอาจจะขาดความรับผิดชอบไปบ้าง (หลายคนชอบพูดว่า "ก็อย่างนี้แหละนิสัยลูกคนเล็ก"
ลูกคนเดียว - มีความมุ่งมั่น รู้จักรับผิดชอบ ชอบความยุติธรรม แต่ก็มีข้อเสียคือ ค่อนข้างดื้อ เอาแต่ใจตัวเองในบางครั้งบางคนได้ง่าย
นิสัยที่กล่าวมา ไม่ได้เป็นเครื่องการันตี หรือข้อสรุปเกี่ยวกับนิสัย ที่นำลำดับการเกิดมาตีความ เป็นเพียงการตีความโดยรวมมากกว่า ซึ่งถ้าชี้ให้ชัดลงไป ก็จะเห็นว่านิสัยต่างๆ เหล่านี้มาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ที่บางครั้งไปกระทบความรู้สึกของลูก โดยพ่อแม่ไม่รู้ตัว เช่น เวลาที่พี่น้องทะเลาะกันเพื่อแย่งของเล่น เราก็มักจะบอกว่าให้พี่เสียสละให้น้อง หรือเวลาซื้อของที่ใช้สืบต่อกันได้ เช่นเสื้อผ้า น้องก็มักจะได้ของที่พี่ๆ ใช้มาแล้วทั้งนั้น สำหรับลูกคนเดียวก็เช่นกัน ถึงจะไม่มีพี่น้องให้มาเปรียบเทียบหรือแบ่งของ บางครั้งอาจจะเกิดความรู้สึกเหงา หรืออบอุ่นเกินไปก็เป็นได้ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นไม่ว่าลูกจะลำดับที่เท่าไหร่ ย่อมขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ เทคนิคการเลี้ยงลูกของแต่ละครอบครัว รวมถึงนิสัยโดยพื้นฐานของตัวเด็กเองด้วยค่ะ
สายสะดือเด็กแรกเกิด
ขอพูดถึงเรื่องสายสะดือกันเสียหน่อย เพราะเห็นว่าน่าสนใจจากการอ่านตำราการเลี้ยงลูกในสมัยก่อน เห็นว่ามีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องสายสะดือเด็กดังนี้
แบบไทย : เมื่อลูกอายุประมาณ 7-10 วัน สายสะดือก็จะหลุด สมัยก่อนมักโรยขมิ้นแล้วเก็บไว้ในภาชนะ
- บ้างก็ว่าเมื่อมีลูกคนต่อไป ให้นำสายสะดือนี้มาต้ม ให้เด็กๆ ดื่มน้ำ พี่น้องจะได้รักกัน
- เมื่อมีใครป่วยหนักกินยาอะไรก็ไม่หายสักที จะฝนสายสะดือแห้งที่เก็บเอาไว้ เป็นน้ำกระสาย กับยา หรือใช้สายสะดือแห้งฝนกับน้ำมะนาว ทาแก้พิษแมลงกัดต่อย
เยอรมัน : พ่อของเด็กจะเก็บสายสะดือที่หลุดแล้วเอาไว้ ยิ่งรักษาได้นานเท่าไหร่ เด็กจะเจริญเติบโต แข็งแรง
อังกฤษ : ถือว่าสายสะดือนี้เป็นของขลัง ใครมีติดตัวจะเป็นสิ่งนำโชค เดินทางไปไหน ก็ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ
ในปัจจุบัน ความเชื่อหรือข้อปฎิบัติเหล่านี้คงเหลือน้อยเต็มที เรารู้แล้วว่าความสำคัญของสายสะดือคือ เป็นเสมือนเครื่องมือหล่อเลี้ยงชีวิตลูกน้อยระหว่างอยู่ในครรภ์ แต่เมื่อคลอดออกมาแล้วคุณหมอทำการตัดสายสะดือและผูกให้เรียบร้อย ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของคุณแม่ที่ต้องดูแลให้สะอาดที่สุด (ตามหลักการแพทย์ในปัจจุบัน) เพราะตราบใดที่สายสะดือยังไม่หลุดออกไป โอกาสที่ลูกน้อยจะติดเชื้อทางสายสะดือมีมาก
ถ้าใครมาบอกให้คุณแม่นำน้ำลายก่อนการล้างหน้า แปรงฟันมาหยอดใส่สะดือลูกที่จวนจะหลุด เพราะเชื่อว่า จะทำให้สายสะดือหลุดออกมา หรือให้ทาแป้งบริเวณสะดือ ให้ปิดสะดือไว้ด้วยผ้าไม่ให้น้ำเข้า ก็อย่าหลงเชื่อค่ะ เรื่องแบบนี้ต้องใช้วิจารณญาณให้มากๆ ทำตามหลักการที่ถูกต้องดีกว่าค่ะ
ส่วนจะเก็บหรือไม่นั้นก็แล้วแต่คุณแม่ แต่โดยส่วนมากมักจะเห็นเก็บกัน เพื่อสื่อความหมายด้านจิตใจกันมากกว่า