สิ่งควรรู้เกี่ยวกับครีมกันแดด


เพราะรังสียูวีที่ทะลุผ่านชั้นอากาศลงมา คือปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดสารพันปัญหาผิวในระยะยาว โดยเฉพาะริ้วรอยและจุดด่างดำ ครีมกันแดด จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นมากหากอยากมีผิวสวยนาน แต่ด้วยวิทยาการล้ำหน้าที่ซับซ้อนก่อให้เกิดส่วนผสม และศัพท์ใหม่ๆบนฉลากของครีมกันแดดที่คุณควรรู้ก่อนเลือกใช้

Physical กับ Chemical ต่างกันแค่การทำงาน
ในความเป็นจริงแล้ว ครีมกันแดดแบบเคมีคอล (Chemical) และฟิสิคอล (Physical) ล้วนเป็นสารเคมี จะแตกต่างกันก็เพียงลักษณะการทำงานเท่านั้น เพราะแบบเคมีคอลจะดูดซับรังสียูวีแทนผิว ในขณะที่แบบฟิสิคอลจะสะท้อนรังสีร้ายออกไปไม่ให้ระคายผิว ด้วยสารกลุ่มไททาเนียม ไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) ซิงค์ ออกไซด์ (Zinc Oxide) เม็กโซริล เอสเอ็กซ์ (Mexoryl SX) ที่มักทิ้งความขาวไว้เมื่อทา

SPF บอกอะไร
มาทบทวนความจำกันอีกครั้งว่า ค่าเอสพีเอฟ (SPF/Sun Protection Factor) เป็นค่าบอกว่าจะอยู่กลางแดดนานแค่ไหนโดยไม่ทำให้ผิวไหม้หรือแสบร้อน เช่น ภายใน 25 นาที ผิวคุณจะเริ่มแดง การใช้ SPF 15 จะช่วยยืดเวลาออกไป 15 เท่า นั่นคือ 375 นาที โดยไม่ทำให้ผิวไหม้ แต่ค่าเอสพีเอฟเป็นเพียงการบอกค่าการปกป้องผิวจากยูวีบี ไม่เกี่ยวกับยูวีเอ ซึ่งเมื่อโดนผิวจะไม่รู้สึก ทั้งที่เป็นตัวก่อมะเร็ง ฝ้าและรอยเหี่ยวย่น

ค่า SPF สักเท่าไหร่ดี
SPF2 ป้องกันรังสียูวีบีได้ 50% SPF 10 ปกป้องได้ 85% SPF 15 ปกป้องได้ 95% และ SPF 30-50 ปกป้องได้ 97% จะเห็นได้ว่า แม้ค่าSPF สูงถึง 50 ก็ยังมีข้อจำกัดในการป้องกันรังสียูวีบี และความแตกต่างในประสิทธิภาพของ SPF 30 กับ 50 ก็มีน้อยมาก อาจไม่คุ้มกับเงินที่ต้องจ่ายเพิ่ม บวกกับผิวยังต้องรับศึกกับสารเคมีปริมาณสูง โดยได้รับประสิทธิภาพเพิ่มเพียงเล็กน้อย

ส่วนผสมที่ควรรู้จัก
- Avobenzone หรือ Parsol 1789 เป็นส่วนผสมที่ใช้กันทั่วโลกในครีมกันแดด วิทยาลัยการแพทย์ผิวหนังแห่งอเมริกาและ FDA สหรัฐ ให้การรับรองว่าปกป้องผิวจากรังสียูวีเอได้ดี และไม่ได้สลายตัวเร็วอย่างที่เคยถูกโจมตี เพราะจากากรวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ปี 1996 พบว่า อาโว-เบนโซน หรือพาร์โซล 1789 จะลดพลังลง 25% หลังใช้ไปนานถึง 72 ชั่วโมง แต่มีการรายงานจากวารสาร Photodermatology ว่า มีการใช้สารบางตัวที่ชื่อคล้ายกัน แต่ป้องกันยูวีเอได้ไม่ได้เท่า เช่น เบนโซโฟน (Benzophone) ออกซี่เบนโซน (Oxybenzone)
- พาบ้า (PABA หรือ Paraaminobenzoic Acid) เป็นกรดโฟลิกในตระกูลวิตามินบี เมื่อก่อนเป็นที่นิยมผสมในครีมกันแดดเพื่อป้องกันรังสียูวี แต่ปัจจุบันไม่ค่อยใช้เพราะมีรายงานว่าทำให้ระคายผิวหรือถึงกับแพ้ในบางคน จึงอาจมีการระบุว่า PABA-Free ร่วมด้วย

อะไรคือ PA+ / PA++ / PA+++
ในครีมกันแดดรุ่นใหม่จะมีส่วนผสมที่ช่วยป้องกันรังสียูวีเอ ซึ่งใช้มาตรวัดระดับการปกป้องเป็น PA (Protection Grade of UVA) ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดหน่วยบอกระดับการซึมซับยูวีเออย่างละเอียดแบบ SPF ดังนั้น ค่า PA จึงบอกได้คร่าวๆว่าครีมกันแดดนี้กั้นรังสียูวีเอได้มากแค่ไหนด้วยเครื่องหมาย + ซึ่งมีอยู่ 3 ระดับ PA+ / PA++ / PA+++ ซึ่งจริงๆแล้ว PA+ ก็เพียงพอในการทำกิจกรรมเกือบทุกประเภท แต่ถ้าต้องอยู่กลางแดดนานให้เลือก PA++ หรือสูงกว่า

Water Resistant ไม่ใช่ Waterproof
ไม่มีครีมกันแดดตัวใดที่กันน้ำ (Waterproof) ได้จริงดั่งฉลากที่แปะไว้ คุณจึงต้องทาซ้ำถ้าเหงื่อออก หรือหลังเล่นน้ำ ส่วนครีมกันแดดสูตร Water Resistant จะใช้ส่วนผสมจากพลาสติกสร้างแผ่นฟิล์มเคลือบกันแดดให้ติดแน่น แม้จะเปียกน้ำ ดังนั้นเมื่อทาครีมนี้แล้วลงน้ำนาน 40 นาที ค่า SPF ยังคงที่ ส่วนสูตร Very Water Resistant จะทนน้ำได้นาน 80 นาที แต่ไม่แนะนำให้ใช้สูตรนี้เป็นประจำ เพราะทำให้ผิวรู้สึกเหนียวใต้เมกอัพ จึงควรเลือกใช้ครีมกันแดดสูตรธรรมดาก็พอ
ที่มา www.pooyingnaka.com
บทความเพิ่มเติม
+ สู้แดดอย่างฉลาด

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Insurance


Advertisement