แก้ไอ ให้ตรงจุด


การไอ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติของร่างกาย ที่สั่งการผ่านศูนย์ควบคุมการไอในสมอง เมื่อมีสิ่งระคายเคืองไปกระตุ้นจุดรับสัญญาณไอ ซึ่งมีอยู่ 3 แห่งในร่างกาย ได้แก่ จมูก ลำคอ และทรวงอก

การไอแบบมีเสมหะ เป็นกลไกของร่างกายที่พยายามกำจัดของเสียหรือสิ่งแปลกปลอมที่สร้างความระคายเคือง ซึ่งก็คือเสมหะ ให้ออกไปจากหลอดลม
       
ส่วนการไอแห้งๆ เป็นอาการไอที่เกิดจากหลอมลมมีการอักเสบหรือระคายเคือง จึงกระตุ้นให้เกิดอาการไอโดยที่ไม่มีเสมหะ
      
สาเหตุของการไอ มีหลายประการ ได้แก่
1. สิ่งแวดล้อมและสารก่อความระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป ละอองสารเคมีในอากาศ
      
2. การสำลักหรืออุดกั้นทางเดินหลอดลม เช่น เสมหะในหลอดลม น้ำมูกที่ไหลลงหลอดลม อาหารหรือน้ำย่อยที่ไหลย้อนจากกระเพาะอาหารไปสู่หลอดลม
      
3. การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัด หลอดลมอักเสบ โพรงไซนัสอักเสบ เป็นต้น บางครั้งการติดเชื้อหายแล้ว แต่อาการไอยังคงอยู่
      
4. โรคบางชนิด เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด ปวดบวม วัณโรค ไอกรน
      
5. อาการข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคความดันสูงบางกลุ่ม ยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก เป็นต้น
       
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการไอ แต่พบไม่บ่อย เช่น การสำลักสิ่งแปลกปลอมในหลอดลม โรคเนื้องอกในหลอดลม และพยาธิบางชนิด เป็นต้น
      
ลักษณะของการไอ บางครั้งก็ช่วยบอกสาเหตุได้ เช่น
1. ไอกลางคืนมากกว่ากลางวัน มักจะเป็นการติดเชื้อในทางเดินหายใจ เนื่องจากจะมีน้ำมูกไหลลงคอ ทำให้ระคายเคือง และกระตุ้นให้เกิดอาการไอขึ้น
      
2. ไอแบบแน่นหน้าอก พบในผู้ป่วยโรคหอบหืด มักจะมีเสียงหายใจผิดปกติ เช่น เสียงวี้ดๆ ด้วย
      
3. ไอแบบมีเสมหะ ลักษณะของเสมหะจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ เช่น ถ้าเสมหะเป็นหนองมาก หรือมีสีเหลืองเขียว มักจะมีการติดเชื้อ ถ้าเสมหะเป็นสีขาว มักเป็นอาการไอจากภูมิแพ้หรือหอบหืด
      
การป้องกันและบำบัดอาการไอ
1.การรักษาด้วยตัวเอง ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง จะช่วยบรรเทาอาการลงได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องที่มีอากาศร้อนหรือเย็นเกินไป
- นอนยกศีรษะสูงขึ้นประมาณ 6-8 นิ้ว เพื่อป้องกันน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดลม
- งดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีการจราจรคับคั่ง หรือมลพิษทางอากาศ
- งดน้ำแข็งหรือน้ำเย็น แล้วหันมาดื่มน้ำอุ่น
- งดของทอด ของมัน

2.การรักษาด้วยยา
เนื่องจากการไอเป็นอาการแสดงของโรคหลายโรคมาก คงไม่มีตัวยาตัวใดตัวหนึ่ง ที่จะเหมาะสมกับการไอทุกประเภท การเลือกใช้ยาแก้ไอให้เหมาะกับโรค จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ยาแก้ไอประเภทต่างๆ ได้แก่
- กลุ่มยาละลายเสมหะ ช่วยให้เสมหะใสขึ้นและขับออกได้ง่ายขึ้น ยากลุ่มนี้เหมาะสำหรับการไอแบบมีเสมหะ นอกจากนี้ การดื่มน้ำมากๆ ก็ช่วยละลายเสมหะได้เช่นกัน
- กลุ่มยาขับเสมหะ มักใช้ผสมอยู่ในยาแก้ไอชนิดอื่นๆ ออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งสารน้ำในทางเดินหายใจ ทำให้ความหนืดของเสมหะลดลง และถูกขับออกไปได้ง่ายขึ้น แต่อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องและอาเจียนได้
- กลุ่มยาระงับหรือกดอาการไอ ออกฤทธิ์โดยกดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง ทำให้หยุดไอหรือไอน้อยลง แต่ไม่ช่วยในการรักษาโรค ยาในกลุ่มนี้บางตัวจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
      
ผู้ป่วยที่ไอแบบมีเสมหะ ไม่ควรใช้ยาประเภทนี้ เพราะถึงแม้จะทำให้ไอน้อยลง แต่เสมหะที่คั่งค้างมากขึ้นในหลอดลม อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นโรคปอดอักเสบได้
      
ถ้ามีอาการไอแห้งๆ ที่รุนแรงหรือไอถี่มาก อาจใช้ยาระงับอาการไอ เพื่อลดอาการไอลงบางส่วน แต่ไม่ควรใช้ยาจนกระทั่งยับยั้งอาการไอทั้งหมด เพราะอาจจะกลายเป็นการปกปิดอาการที่แท้จริงไว้ และทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นได้
      
- กลุ่มยาขยายหลอดลม ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว ใช้ในกรณีที่การไอทำให้หายใจเข้าได้ลำบาก หรือการไอจากภาวะหลอดลมหดตัวจากการเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไอจากหอบหืด แต่จะไม่มีประโยชน์ถ้าผู้ป่วยเป็นหวัด แล้วไอเพราะน้ำมูกไหลลงคอ
      
ยาขยายหลอดลมบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
      
- กลุ่มยาแก้แพ้ ออกฤทธิ์โดยทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้ง ใช้รักษาอาการไอที่มีสาเหตุมาจากน้ำมูกไหลลงหลอดลม
       
ควรปรึกษาแพทย์เมื่อ
- มีไข้ 38.9 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- เสมหะมีเลือดปน สีน้ำตาลหรือเขียว
- มีอาการหอบหืด
- หายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง
- ไอติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement