เที่ยวสุขใจ กับ 20 สถานที่ท่องเที่ยวถวายพระพร


เนื่องในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ 20 แห่ง ทั่วไทย ซึ่งนอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ไปเที่ยวชมความงามของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมลงนามถวายพระพรอีกด้วย

สำหรับ 20 สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจก็มีดังนี้

ภาคเหนือ

1.พระตำหนักดอยตุง จ.เชียงราย : เป็นพระตำหนักของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี(สมเด็จย่า) สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงดินแดนที่พระองค์เคยใช้ชีวิตอยู่กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวัยเยาว์ที่ต่างประเทศ ตัวอาคารผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมล้านนากับแบบชาเลต์ของสวิตเซอร์แลนด์ ภายในตกแต่งเรียบง่าย งดงาม ห้องโถงกลางโดดเด่นด้วยเพดานดาว

2. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง(ดอยอ่างขาง) จ.เชียงใหม่ : โครงการหลวงแห่งแรกของเมืองไทยตั้งใน พ.ศ. 2512 ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการทดลองปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา ดอยอ่างขางตั้งอยู่บนยอดดอยสูงอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี มีทิวทัศน์งดงาม

3.เขื่อนภูมิพล จ.ตาก: เขื่อนคอนกรีตรูปโค้งสูงใหญ่แห่งเดียวของไทยและในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ สูงติดอันดับ 8 ของโลก ปิดกั้นลำน้ำปิง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า "เขื่อนภูมิพล" ในฐานะเขื่อนใหญ่เอนกประสงค์แห่งแรกในเมืองไทย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ มีทิวทัศน์งดงาม ผู้มาเยือนนิยมล่องเรือชมทิวทัศน์ในทะเลสาบ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

4. วัดหนองแวง จ.ขอนแก่น : ตั้งอยู่ที่ริมบึงแก่นนคร ผู้สร้างวัดนี้คือ พระนครศรีบริรักษ์ เมื่อครั้งนำไพร่พลมาตั้งถิ่นฐาน ในปี พ.ศ. 2539 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี วัดได้สร้างพระมหาธาตุแก่นนครหรือพระธาตุเก้าชั้น มีเรือนยอดเป็นทรงเจดีย์ จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น บนยอดเจดีย์มองเห็นทิวทัศน์ของบึงแก่นนครและตัวเมืองชัดเจน

5.วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนม : เป็นที่ตั้งของพระธาตุพนม พระธาตุประจำปีเกิดคนปีวอก สิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวจิตใจของอีสานและคนลาว สร้างขึ้นในยุคอาณาจักรศรีโคตรบอง ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

6. วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู : สร้างขึ้นโดยหลวงปู่ขาว อนาลโย เกจิอาจารย์ชื่อดังสายของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ขาวเปรียบเสมือนศูนย์รวมใจของชาวอีสาน วัดแห่งนี้มีผู้คนมาสักการะบูชาอยู่ไม่ขาดสาย บริเวณวัดมีหมู่หินใหญ่น้อยกระจายทั่วไป ซึ่งเป็นที่บำเพ็ญวิปัสนาของหลวงปู่ขาวจนมรณภาพ นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นของท่านและกลองโบราณสองหน้าที่ชาวบ้านเรียก กลองเพล อันเป็นที่มาของชื่อวัด

7.ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษกอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี : สร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เป็นอาคารสถาปัตยกรรมอีสานประยุกต์ สูง 7 ชั้น แฝงความหรูหราภายใน และประโยชน์ใช้สอยแบบเอนกประสงค์ มีหอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นของชุมชน

ภาคกลาง

8. พระราชวังจันทรเกษม (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม) จ.พระนครศรีอยุธยา : พระราชวังแห่งประวัติศาสตร์เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยครั้งดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชในสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2102

9.โครงการเขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครนายก : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยราษฎรใน จ.นครนายก เนื่องจากประสบปัญหาอุทกภัยบ่อยครั้ง จึงทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำที่คลองท่าด่านเป็นเขื่อนคอนกรีตประเภทบดอัดใหญ่ที่สุดในโลก ส่งผลดีถึงการเกษตรกรรม รวมถึงการท่องเที่ยวในแม่น้ำนครนายก เพราะสามารถล่องแก่งและพายเรือเที่ยวได้ตลอดปี

10. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี : ในแต่ละปี จ.ลพบุรี เกิดอุทกภัยและภัยแล้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริให้สร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ขึ้น โดยเป็นเขื่อนแกนดินเหนียวที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และทำให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ด้วยความงดงามของทะเลสาบน้ำจืดซึ่งมีทางรถไฟสายอีสานพาดผ่านกลางเวิ้งน้ำกว้าง

11.อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ : เป็นสถานที่ซึ่ง รัชกาลที่ 4 ได้มาตั้งกล้องสังเกตการณ์การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2411 ปัจจุบันได้สร้าง "อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ" ขึ้น มีอาคารดาราศาสตร์ สวนผีเสื้อ อาคารแสดงสัตว์น้ำ และพบโบราณสถานที่ชาวฝรั่งเศสก่อสร้างไว้

12.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) จ.เพชรบุรี : รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2401 มีหมู่พระที่นั่ง ปราสาทราชมณเฑียร โรงมหรสพและหอดูดาว เป็นสถานที่ซึ่ง ร.4 และ ร.5 ได้เสด็จมาทรงประทับเป็นประจำ รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือน

13. พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จ.เพชรบุรี : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รื้อพระตำหนักที่หาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2466 เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนตามคำแนะนำของแพทย์ เป็นหมู่พระที่นั่ง 3 หมู่ สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมด ประกอบด้วยอาคาร 13 หลัง เป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป อาคารเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูงเปิดโล่ง ไม่กั้นห้อง มีทางเดินเชื่อมถึงกัน ในสมัยนั้น ได้รับขนานนามว่า "พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง"

ภาคใต้

14. วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช : พุทธสถานที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดของภาคใต้ จุดเด่นอยู่ที่เจดีย์องค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามตำนานว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. 854 โดยเจ้าชายธนกุมารและพระนางเหมชาลาเป็นผู้นำเสด็จพระบรมธาตุมาประดิษฐาน ต่อมาพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมกับก่อสร้างเจดีย์ใหม่เป็นทรงสาญจิ ในปี พ.ศ. 1093 ดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

15. วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม จ.ปัตตานี : วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมานานกว่า 300 ปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นสถานที่จำพรรษาของหลวงพ่อทวด หรือหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พระอริยสงฆ์อันเป็นที่เคารพและศูนย์รวมจิตใจของคนทั่วประเทศ พุทธศาสนิกชนในปัตตานีและละแวกใกล้เคียงต่างเดินทางมาสักการะบูชาบ่อยครั้ง มีเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ มีรูปปั้นหลวงปู่ทวดเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่

16. ประภาคารกาญจนาภิเษกแหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต : ประภาคารนี้สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2539 สูง 50 ฟุต หมายถึง ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี ฐานกว้าง 9 ม. หมายถึง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี แสงไฟจากประภาคารนี้มองเห็นไกลถึง 39 กม. บริเวณประภาคารมีลานชมวิว ส่วนภายในมีห้องแสดงนิทรรศการการเดินเรือ การคำนวณ และแสดงเวลา ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก

ภาคตะวันออก

17. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2525 ภายใต้พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้พัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณทะเลตะวันออกให้เป็นพื้นที่ชายฝั่งที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติวิทยาของป่าชายเลน มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบนสะพานไม้ยาวกว่า 850 ม. ในปี พ.ศ. 2545 ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประเภทองค์กรส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว

กรุงเทพมหานคร

18.หอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ณ วังวรดิศ : สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย เป็นคนไทยคนแรกที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก วังแห่งนี้เป็นตึกสองชั้นแบบเรอเนสซองส์ หลังคาทรงสูง ปัจจุบันยังคงสภาพดี ยูเนสโกจึงเสนอชื่อให้ที่นี่เป็นอาคารประวัติศาสตร์โลก

19. พระราชวังพญาไท : จากที่สวนและที่นาซึ่ง ร.5 ทรงซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โปรดให้สร้างวังพญาไทเพื่อประพาสนอกเมือง ในสมัย ร.6 ได้สร้างพระที่นั่งสถาปัตยกรรมตะวันตก อีก 4 หลังแทนอาคารเดิม คือ พระที่นั่งไวยกูณฐ์เทพยสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งศรีสุทธินิวาส พระที่นั่งเทวราชสภารมย์

20. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (พระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า) : รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระราชวังหลวง เพื่อเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทพระอนุชา(วังหน้า) ในสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานพระที่นั่งและหมู่พระวิมานทั้งหมดในวังหน้าให้เป็น "พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร" ภายในแบ่งพื้นที่การแสดงออกเป็น 3 หมวดคือ ประวัติศาสตร์ชาติไทย, ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย, ประณีตศิลป์และชาติพันธุ์วิทยา

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement