รู้เท่าทันส่วนลด..ก่อนควักเงินซื้อ




รู้ไว้ให้เท่าทัน ว่าถูกจริงหรือ
          สำหรับอาหารการกินในชีวิตประจำวันนั้น การลดราคาของบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านเบเกอรี่ทั้งหลาย ผู้บริโภคควรระวังไว้ให้ดี ประเภทถูกกว่าเดิม ซื้อทุกวันอังคารลด 10% หรือชั่วโมงประหยัด ลด20% ควรตรวจดูคุณภาพ เช่น กลิ่นและสีของอาหารให้ดี และดูวันหมดอายุให้ชัดเจนด้วยว่า คุณมีเวลาบริโภคทันหรือไม่

          กลยุทธ์ซื้อ 1 แถม 1 หรือของแถมที่ล่อตาล่อใจ เป็นวิธีกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้อย่างหนึ่ง เพราะคิดว่าได้สินค้ามาในราคาที่ถูกโดยการเอาราคาสินค้าปกติหักลบมูลค่าของแถมที่ติดป้ายไว้ แต่หลายๆครั้ง ของแถมที่ได้มานั้นก็ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไรเลยเพราะที่บ้านเองก็อาจจะมีอยู่แล้ว หรือแย่ไปกว่านั้นคือ สินค้าที่ซื้อมาเพื่อให้ได้ของแถมก็ซื้อมาโดยไม่ได้มีความจำเป็น

          นอกจากนี้สินค้าแถมอาจจะเกิดจากแผนการตลาดของผู้ขายที่ต้องการแนะนำสินค้าใหม่ โดยการเปิดตัวสินค้าใหม่กับสินค้าที่ขายดีอยู่แล้วเพื่อให้สินค้าใหม่นี้เป็นที่รู้จัก แต่ก็มีเหมือนกันที่ผู้ผลิตนำสินค้าที่ตกรุ่นมาเป็นของแถมเพื่อกำจัดสินค้าที่ตกค้าง อย่างน้อยก็ช่วยเพิ่มยอดขายจากคนที่อยากได้ของแถม แทนที่จะต้องทิ้งสินค้าที่ขายไม่ค่อยดีเหล่านั้นไป

          อีกกรณีหนึ่งของสินค้าที่ติดป้ายลดราคา บางครั้งก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นสินค้าที่ราคาถูกเสมอไป เพราะผู้ขายอาจติดราคาป้ายให้สูงกว่าปกติ เพื่อให้ผู้ขายสามารถลดราคาลงมาได้ เช่นสินค้าที่เดิมราคา 100 บาท ก็ตั้งราคาไว้ที่ 125 บาท แล้วบอกประกาศลดราคา 20% เพื่อให้ลูกค้าคิดว่าจะได้สินค้าราคาถูก แต่ในความเป็นจริงก็จะขายได้ในราคา 100 บาทเท่าเดิม ดังนั้น ก่อนจะซื้อสินค้าที่ติดป้ายลดราคา ถ้าเป็นสินค้าที่มีราคาแพง ก็ควรมีการเทียบราคากับสินค้าแบบเดียวกันนั้นในร้านค้าอื่นด้วย

ถ้าเสียรู้ผู้ขายแล้วจะแก้ไขอย่างไร
          ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเราได้กำหนดให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่จะได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตลอดจนได้รับข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องและเยงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการนั้นๆ

          ในกรณีที่เราไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ขาย รัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่เรียกว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีหน้าที่ติดตามและสอดส่องพฤติกรรมผู้ประกอบธุรกิจให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยออกมาสู่ประชาชน ตรวจสอบโฆษณาชวนเชื่อต่างๆว่าไม่เกินจริง และไม่เป็นการหลอกลวงประชาชน พร้อมทั้งรับเรื่องราวร้องทุกข็จากผู้บริโภคด้วย

          ยังมีอีกหนึ่งหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคในส่วนของสินค้าอุปโภค เช่น อาหาร ยา และเครื่องสำอาง หรือสินค้าด้านสาธารณสุขต่างๆ คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือที่เรียกสั้นๆว่า อย.

          ทางที่ดีที่สุดคือ การใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจว่ารายการส่งเสริมากรขายที่แต่ละร้านได้นำเสนอให้นั้นมีความน่าเชื่อถือเพียงใด และเป็นประโยชน์ต่อเราหรือไม่ หรือเป็นเพียงแต่ดึงดูดให้เราได้สินค้า(ที่เราคิดเองว่า)ราคาถูก แต่กลับกลายเป็นของแพงเพราะความเข้าใจผิดของเราเอง

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement