8 เรื่องน่าปวดหัวของการเช่าห้องพัก




บ้านเช่า หอพัก อพาร์ตเมนต์ หรือ คอนโด-มิเนียม เหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์จำเป็นต้องมี โดยเฉพาะคนเมืองอย่างเราทุกวันนี้ ที่เรื่องของความสะดวกสบายต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง แน่นอนที่อยู่หลับนอน หากไม่ได้อยู่กลางเมือง เพื่อให้เดินทางสะดวกสบาย คงต้องทุกข์ใจกับปัญหาการจราจรในเมืองหลวงที่นับวันจะเข้าขั้นวิกฤติเข้าไปทุกที ส่วนใหญ่สาวๆ อย่างเราที่ต้องอาศัยคนอื่นอยู่ มักจะเริ่มต้นตั้งแต่วัยมหาวิทยาลัย เรื่อยมาจนถึงช่วงทำงาน หากยังไม่ได้แต่งงานมีเรือนหอกันไป ชีวิตนี้คงหนีไม่พ้นสภาพการตกเป็นผู้เช่า
 
ครั้นเมื่อต้องอยู่ห้องแคบๆ อย่างหอพัก หรืออาจกว้างหน่อย อย่างอพาร์ตเมนต์ และ  อาจจะหรูหน่อยอย่างคอนโดมิเนียม ความปลอดภัยก็ไม่ได้ถูกกำหนดอยู่ที่ความกว้างใหญ่ของห้อง หรือความหรูหราของสถานที่ โดยเฉพาะอันตรายเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องร้ายแรงก็สามารถคืบคลานเข้ามาหาคุณถึงภายในห้องนอนได้ไม่ยากนัก มี 8 อันตรายที่ผู้เช่าอย่างเราๆ ต้องระมัดระวังให้ดี

1. สัญญาเช่า เจ้าปัญหา

‘สัญญาเช่า’ จะไม่เหมือนสัญญาใจ เพราะเมื่อไหร่ที่ผิดสัญญา คู่กรณีของคุณคงไม่ใช่แค่เศร้าโศกเสียใจ เขาอาจต้องใช้ข้อกฎหมายมาจัดการกับคนผิดสัญญา อย่างคุณก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นก่อนเริ่มต้นเซ็นสัญญาเช่า ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญสำหรับผู้ที่เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านผู้อื่นต้องมีการอ่านข้อความภายในสัญญานั้นๆ ให้ดีเสียก่อน เริ่มต้นจากคำนำหน้าชื่อของคุณ จะมีคำว่า ‘ผู้เช่า’ ขึ้นมาเป็นคำแรก และเจ้าของที่พักเหล่านั้นจะเป็น ‘ผู้ให้เช่า’ ซึ่งตามหลักสากลใดๆ ในโลกนี้ เมื่อใดก็ตามที่คุณตกเป็นผู้เช่า คุณจะกลายเป็นผู้เสียเปรียบในทันที 

ลัดดา อาศัยอยู่อพาร์ตเมนต์ย่านห้วยขวาง ปัญหาส่วนใหญ่ที่เธอเจอคือเวลาที่ต้องย้ายออก มักต้องเจอกับค่าใช้จ่ายไม่พึงประสงค์หลายรายการ และเมื่อรวมๆ กันแล้วเธอมักไม่ค่อยได้ค่ามัดจำห้อง และค่าประกันคืนเลยแม้แต่บาทเดียว

“ตอนทำสัญญาต้องเสียเงินค่ามัดจำห้อง 2 เดือน และค่าประกัน 1 เดือน แต่รายละเอียดยิบย่อยพวกค่าทำความสะอาดเมื่อย้ายออก ค่าทำสีห้อง ค่าซ่อมแซม เหล่านี้จะมีเป็นหัวข้อย่อยเล็กๆ ท้ายสัญญา ถือเป็นเคล็ดลับสำคัญของพวกเจ้าของที่พักที่ไม่อยากคืนเงินมัดจำให้เรา ที่เคยเจอแบบ เลวร้ายที่สุดก็คือ วันแรกที่เข้าไป ก็เห็นประตูชำรุด อยู่แล้ว ตามผนังมีร่องรอยโดยเจาะ เจ้าของห้องก็เห็น แต่พอวันย้ายออกกลับเอารอยเหล่านี้มารวมอยู่ในค่าประกันที่เราต้องโดนหัก สรุปว่าครั้งนั้นไม่ได้เงินประกันแล้วยังต้องเสียเงินเพิ่มอีกต่างหาก”

2. กดดันเพื่อให้ย้ายออก

อีกหนึ่งความซวยที่ผู้เช่าส่วนใหญ่จะเจอกัน โดยเฉพาะผู้ที่เช่าอยู่นานเกิน 3 ปี เจ้าของที่พักส่วนใหญ่จะอยากได้เหยื่อรายใหม่ๆ เข้ามาอยู่แทน ด้วยหลากหลายเหตุผล อย่างคุณอาจเป็นผู้เช่าที่ไม่ดีนัก อาทิ เสียงดัง, สกปรก, จ่ายเงินช้า หรือในบางกรณี นางเอกผู้แสนดีอย่างคุณอาจโดนกลั่นแกล้ง เพราะเจ้าของที่พักเขาดันอยากขึ้นค่าเช่า แต่การ จะขึ้นค่าเช่ากับคนเก่าแก่อย่างคุณคงทำได้ยาก สู้หาทางขับไล่ด้วยกลโกงต่างๆ คงง่ายกว่า เป็นไหนๆ 

ชิดชนก กำลังประสบกับปัญหาน้ำไม่ไหล ไฟติดๆ ดับๆ มานานกว่า 2 อาทิตย์แล้ว เธอเริ่มได้ยินคนในหอพักพูดคุยกันว่า เจ้าของหอขึ้นค่าเช่ากับผู้ที่มาอยู่ใหม่อีก 1,500 บาท ตัวเธอเอง จึงค่อนข้างมั่นใจว่ากำลังเผชิญกับกลยุทธ์ขับไล่เจเนอเรชั่นเก่าเสียแล้ว

“ช่วงนี้นักศึกษาใหม่มาหาที่อยู่กัน นกเลยคิดว่าปัญหาที่น้ำไม่ไหลบ้าง ไฟดับบ้างน่าจะเกิดขึ้นแค่ไม่กี่ห้อง ส่วนใหญ่จะเป็นห้องที่อยู่กันมานานแล้ว พอถามเจ้าของหอเขาก็ชอบบ่ายเบี่ยง หาว่าเป็นเพราะการประปาไม่ดี ไฟฟ้าขัดข้องบ้าง ตอนนี้เพื่อนที่อยู่ถัดไป 2 ห้องก็ตัดสินใจย้ายสิ้นเดือนนี้แล้วค่ะ เพราะทนอยู่ไม่ไหวจริงๆ ส่วนตัวนกเองก็เริ่มมองหาห้องเช่าใหม่แล้วเหมือนกันค่ะ”

3. โฆษณาแค่ครึ่งเดียว 

ช่วงเวลาแห่งการหาที่อยู่ใหม่ ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของชีวิตเลยก็ว่าได้ เพราะเวลาเจอป้ายประกาศ หรือโฆษณาต่างๆ ในหนังสือหรือตามเว็บไซต์ ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับ มักจะดี เริด หรูเหมือนกันหมด แม้แต่วันที่ไปดูสถานที่จริง จนได้พูดคุยกับเจ้าของที่พัก เราก็ไม่มีโอกาสได้รู้ข้อมูลปลีกย่อยอื่นๆ ได้ นอกจากขนาดห้อง, สิ่งอำนวยความสะดวกที่จะได้รับ, ค่าใช้จ่ายต่างๆ จนเมื่อคุณได้เข้าไปอยู่แล้วเท่านั้น ข้อมูลอีกด้านที่ไม่ได้โฆษณาไว้ก็จะเปิดเผยออกมา 

อนุวัฒน์ ตัดสินใจเช่าทาวน์เฮาส์หลังหนึ่งย่านลาดพร้าวเพราะเดินทางสะดวก ข้อมูลแรกเริ่มที่ได้รับคือ ซอยนี้เงียบสงบ และเพื่อนบ้านนิสัยดี แต่เมื่อเดือนแรกของการมาอยู่ อนุวัฒน์ก็เจอปัญหาหนักใจที่ทำให้เขาแทบอยากจะย้ายออกจากที่นี่แทบทุกวัน 

“เดือนแรกที่มาอยู่ก็เจอปัญหาน้ำท่วมซอยเลย บางครั้งถ้าฝนตกหนักก็ถึงขั้นท่วมเข้าบ้านเลย แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่า คือ ซอยนี้มีโจรขโมยเยอะมาก บ้านผม โดนโจรขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ตอนที่ตัดสินใจขอย้ายออก เจ้าของบ้านก็โวยวายบอกว่าไม่คืนเงินมัดจำให้แน่ๆ เพราะสัญญาเช่า 1 ปี ตอนนี้ผมคงตัดสินใจทิ้งเงินมัดจำแล้วล่ะครับ เพราะทนอยู่ไม่ไหวจริงๆ”

4. กลยุทธ์งัดแล้วขาย
อพาร์ตเมนต์หรูแห่งหนึ่งย่านพระราม 4 ได้รับการกล่าวขวัญ ถึงกลยุทธ์เด็ดของเจ้าของอพาร์ตเมนต์ว่า มักจะใช้เวลาช่วงกลางวันที่ผู้เช่าไม่อยู่ห้อง จัดการเดินสำรวจตรวจตราภายในห้องพักอยู่เสมอๆ หญิง (นามสมมุติ) ผู้เช่าคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า เธอมักได้ยินคนพูดคุยกันบ่อยๆ ว่า ห้องถูกงัด ของภายในห้องถูกขโมย ตัวเธอเองแม้ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์น่ากลัวแบบนี้ แต่ทุกครั้งที่มีการประกาศว่าห้องหมายเลขใด บ้างโดนขโมยของ ไม่นานเจ้าของอพาร์ตเมนต์ก็จะติดป้ายขายสัญญาณ กันขโมยขึ้นภายในลิฟต์โดยสารทันที 

“จริงๆ อยากย้ายออกมาก เพราะกลัวขโมย แต่ติดสัญญาเช่าอยู่กับที่นี่อีก 4 เดือนเลยย้ายออกไม่ได้ ทุกครั้งที่มีข่าวว่ามีขโมยเข้าห้องหมายเลขไหน เจ้าของเขาก็เริ่มติดป้ายขายสัญญาณกันขโมย อันหนึ่งก็ตกประมาณ 3,000-4,000 บาท เขาบอกให้พวกเราซื้อมาติดเพื่อความปลอดภัย เพราะทางอพาร์ตเมนต์จะไม่รับผิดชอบ ให้ทุกคนคอยระวังตัวกันเอาเอง” 

5. ไม่รับผิดแล้วชอบโวย
 
พรพิมล เป็นอีกคนที่เอือมระอากับพฤติกรรมเจ้าของหอพักที่มักไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้เช่า โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการลักทรัพย์ขึ้น แล้วต้องการ ไปแจ้งความผู้ให้เช่ากลับโวยวายเสียอีก หาว่าเรื่อง เล็กน้อยอาจทำให้ชื่อเสียงของสถานที่เสียหายได้ 

 “หลายครั้งที่มีโจรแอบแฝงเป็นหนึ่งในผู้เช่าห้อง ตัวดิฉันเองเกิดเหตุหลายครั้งมาก โดยเฉพาะ ช่วงที่อยู่หอพักแถวรามคำแหง มีอยู่ครั้งหนึ่งกระเป๋าหายไปทั้งใบ ด้วยความที่โจรคงงัดเข้ามา แล้วรีบมาก เลยหยิบได้แต่กระเป๋าถือไปอย่างเดียว แล้วดิฉันก็พยายามจะแจ้งความแต่เจ้าของหอพัก กลับโวยวายไม่ยอม กลัวเรื่องจะลุกลาม พยายาม ที่จะขอร้องไม่ให้มีตำรวจมาตรวจสอบ เนื่องจากเขากลัวเสียชื่อเสียงและคนจะไม่กล้ามาพักที่นี่”

6. อุปกรณ์เพียบ แต่ชำรุดกว่าครึ่ง

ส่วนอพาร์ตเมนต์ หรือคอนโดมิเนียมให้เช่าบางแห่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกรอบด้าน ทั้งฟิตเนส สระว่ายน้ำ ห้องอาหาร โดยเฉพาะอุปกรณ์เตือนภัยต่างๆ ที่มีอยู่อย่างครบครัน ทุกชั้น ทุกอาคาร สิ่งเหล่านี้หากต้องจ่ายแพงกว่าที่อื่นสัก 1-2 เท่า เชื่อว่าผู้เช่าหลายคนก็คงยอมจ่าย แต่สิ่งที่น่าจะทำให้เจ็บใจยิ่งกว่าคือการจ่ายแพงกว่า แต่เมื่อถึงเวลาจริงกลับใช้งานไม่ได้ 

พิมผกามาศ เลือกจ่ายค่าเช่าคอนโดมิเนียม 8,500 บาท ต่อเดือน เธอได้ทำเลที่ดี ห้องขนาดใหญ่ สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ด้านความปลอดภัย อุปกรณ์ดับเพลิงก็มีให้เห็นอยู่ทุกชั้น แต่คืนวันหนึ่งที่เกิดเหตุไฟไหม้บริเวณชั้น 7 ของอาคารความสูง 10 ชั้นกลับไม่มีสัญญาณเตือนภัยใดๆ เล็ดรอดออกมาจากตัวอาคาร ซ้ำร้ายเมื่อพนักงานดับเพลิงมาถึง ได้ตรวจสอบพบว่า ไม่มีถังดับเพลิงของชั้นใดใช้การได้จริงเลย

7. โดนชาร์จตลอด

เป็นกฎตายตัวที่ผู้เช่ารู้กันดี โดยเฉพาะชาวหอพัก หรืออพาร์ตเมนต์ที่จำต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ที่แพงกว่าชาวบ้านปกติ คนที่อยู่บ้านเช่า หรือคอนโดมิเนียม อาจไม่รู้สึกเท่าว่าการถูกชาร์จ 3-5% จากค่าใช้จ่ายปกติเป็นเงินที่น่าช้ำใจแค่ไหน โดยเฉพาะบางรายที่ถูกคิดเงินโดยที่ไม่ได้ใช้สิ่งเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย

ภคพร เล่าว่าสมัยอยู่อพาร์ตเมนต์ใกล้ๆ มหาวิทยาลัย เธอมักแปลกใจกับบิลค่าโทรศัพท์ที่แพงลิบลิ่วเสมอๆ แต่ด้วยความที่เธอและเพื่อนร่วมห้อง เรียนกันคนละเวลา จึงไม่ค่อยได้สอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งที่ค่าโทรศัพท์แพงเป็นพันกว่าบาท จึงได้รู้ความจริงว่าพวกเธอโดนชาร์จเสียอ่วมทีเดียว  

“ตอนนั้นเข้าใจว่าเพื่อนเป็นคนโทรฯ เราก็ไม่ได้คิดอะไร เพื่อนก็เข้าใจว่าเราเป็น คนโทรฯ ค่าโทรศัพท์มาทุกเดือนๆ ละ 500 กว่าบาท เราก็หารสองกันตลอด จนกระทั่ง เดือนหนึ่งค่าโทรศัพท์มาประมาณ 1,500 บาท เราก็เลยตัดสินใจถามกันว่าเธอโทรฯ  ไปไหนเหรอ สุดท้ายคือ เราไม่เคยโทรฯ ทางไกลกันเลย พอถามทางเจ้าหน้าที่ เขาก็ไม่ยอมรับผิดชอบ บอกว่าทางองค์การฯ ส่งมาแบบนี้ ทำให้เดือนต่อไปเราต้องคอยจดค่ะว่าโทรฯ ออกเบอร์อะไรบ้าง เพื่อสิ้นเดือนจะได้นำมาเป็นหลักฐานได้

8. สายด่วน จากหนุ่มผู้ลึกลับ 

เรื่องร้ายข้อสุดท้าย แม้จะไม่ได้เกิดจากเจ้าของที่พักเป็นผู้กระทำ แต่ ส่วนใหญ่ สาวๆ ชาวหอ อพาร์ตเมนต์ หรือคอนโดฯ มักเจอกันอย่างสม่ำเสมอ เรียกว่าร้อยทั้งร้อยต้องเคยเจอ สายด่วน...ที่มักมาตอนดึกๆ และปลายสายมักกำลังทำกิจกรรมส่วนตัว แต่อยากขอแรงให้เราช่วยบิลด์อารมณ์เสียหน่อย ว่างั้นเถอะ!! ข้อนี้สำหรับบางคนที่เจอครั้งแรกคงช็อก และตกใจกลัว แต่สำหรับคนที่เจอจนชิน ส่วนใหญ่มักโต้ตอบด้วยการวางสายไป หรือไม่ก็พูดคุยด้วยเสียเลย อันนี้ก็แล้วแต่เทคนิคพิเศษของแต่ ละคนที่จะนำมาตอบโต้ หนุ่มโรคจิตที่เชื่อกันว่าแอบแฝงตัวอยู่แทบทุกหอพัก อาคาร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่พบพฤติกรรมการออกมาทำร้ายคนอื่น เพราะหนุ่มๆ เหล่านี้ทำได้แค่การใช้โทรศัพท์ทำร้ายสาวๆ ค่ะ 

แต่สิ่งที่เป็นห่วงมาก คงเป็นเรื่องร้ายในข้อ 1-7 เสียมากกว่าที่ถือเป็นภัยอันตรายที่เกิดจากเจ้าของที่พักที่มีความคิดเอาแต่ได้ ต้องการผลประโยชน์ที่ไม่รู้จบ ผู้เช่าซึ่งโชคร้าย ตกเป็นเหยื่อของมารสังคมเหล่านี้ บางคนก็ตัดสินใจ ย้ายออกทันทีเพียงแค่ได้ยินข่าวลือที่ไม่ดี แต่บางคน ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ไม่สามารถย้ายที่อยู่ได้ก็คงต้องมีมาตรการป้องกันตัวเองเพื่อให้ปลอดภัยจากพฤติกรรมเลวร้ายของผู้ให้เช่า ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ต้องตกเป็นผู้เช่าทุกคนให้สามารถต่อสู้เพื่อใช้สิทธิ์ของเรากันอย่างเต็มที่นะคะ

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Quiz


Advertisement