โรคหัวใจ


หัวใจ อวัยวะสำคัญที่ทำงานตลอดช่วงชีวิตของเรา มีหลายคำถามเกี่ยวกับหัวใจที่ยังไม่รู้และคิดไม่ถึง จึงรวบรวม 7 คำถามน่ารู้เกี่ยวกับหัวใจมาฝากคุณ

1. โรคหัวใจแบ่งได้อีกหลายโรค ?

   โรคหัวใจเป็นการเรียกรวมๆ ของ "กลุ่มอาการโรคหัวใจ" ซึ่งสมาคมแพทย์โรคหัวใจ ได้แยกเป็น 8 ประเภท ได้แก่
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด คือหัวใจไม่สมบูรณ์ตั้งแต่เกิดโดยไม่รู้สาเหตุที่แน่นอน แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากมารดาติดเชื้อไวรัส ได้รับสารเคมี หรือยาบางชนิดขณะตั้งครรภ์ เกิดได้กับทุกส่วนทั้งหลอดเลือดหัวใจ ผนังกั้นห้องหัวใจ ห้องหัวใจ และอาจแสดงอาการตั้งแต่เด็กๆ หรือแสดงอาการเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ได้
  • โรคลิ้นหัวใจ ส่วนใหญ่เกิดจากติดเชื้อคออักเสบแล้วไม่ได้รักษาอย่างถูกวิธีทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบจนหัวใจตีบหรือรั่วตามมา นอกจากนี้อาจเกิดจากการติดเชื้อที่หัวใจโดยตรง หรือจากความเสื่อมของลิ้นหัวใจเอง
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดจากหลายสาเหตุเช่นหลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน การติดเชื้อไวรัส หรือความดันโลหิตสูง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการบีบ คลายตัว ขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย 
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหัวใจขาดเลือด จากการสะสมของไขมันทำให้ผนังหลอดเลือดตีบและตัน จนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนได้
  • โรคเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นโรคที่พบไม่บ่อย เกิดจากการอักเสบเพราะติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อวัณโรค 
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากระบบไฟฟ้าในหัวใจทำงานผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกัน บางคนอาจไม่มีอาการอะไรเลย หรือมีอาการใจสั่น หัวใจบีบตัวแรงในบางจังหวะ เหนื่อยทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไร เพลีย หมดแรง อยากนอนตลอดเวลา หน้ามืด และอาจหมดสติหากหัวใจหยุดเต้นเกิน 3 วินาที
  • ติดเชื้อที่หัวใจ มักเกิดกับผู้ที่ภูมิต้านทานอ่อนแอหรือติดยาเสพติด หรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV 
  • มะเร็งที่หัวใจ มะเร็งจากอวัยวะใกล้เคียงทั้งมะเร็งปอด และมะเร็งเต้านมลุกลามมาสู่หัวใจ 

2. อาหารอะไรบ้างเป็นศัตรูของหัวใจ ?

  อาหารหลายชนิดหากกินมากไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

  • อาหารไขมันสูงหรือเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น เนื้อหมู เนื้อวัวติดมัน เครื่องในสัตว์ ไข่ปลา หอยนางรม ไข่แดง และกะทิ 
  • ขนมหวาน โดยเฉพาะที่อุดมด้วย น้ำตาล กะทิ คอเลสเทอรอล ไข่แดง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ตลอดจนขนมหวานอย่างข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวเหนียวทุเรียน ข้าวเหนียวสังขยา ลอดช่อง ปลากริมไข่เต่า เป็นต้น
  • อาหารฟาสต์ฟู้ด แม้มีผักบ้างแต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย แต่มากไปด้วยแป้ง ไขมัน และรสเค็ม
  • อาหารรสเค็ม ไม่เหมาะกับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว เพราะทำให้เหนื่อยหอบ ตัวบวม หลีกเลี่ยงอาหารปรุงรสเค็มจัด ลดการใช้เครื่องปรุงรสลง เช่น กะปิ น้ำปลา เกลือ เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว ซอส น้ำมันหอย ซุปก้อนลง และงดอาหารหมักดองอาหารกระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป กุ้งแห้ง ปลาเค็มด้วย
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจโตจนอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ส่วนเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง ก็กระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักเพิ่มขึ้น 

3. เบาหวานตัวการความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจตีบจริงหรือ ?

   หลอดเลือดหัวใจตีบอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการสูบบุหรี่ เพศชาย พฤติกรรมการบริโภค พันธุกรรม แต่สาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ โรคเบาหวาน เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงตลอดเวลาทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมเร็วขึ้น    

   มีผลการวิจัยเพิ่มเติมอีกว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสหัวใจล้มเหลวสูงถึง 2 เท่า ซึ่งอาจเกี่ยวกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น คอเลสเทอรอลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และการไหลเวียนโลหิตไม่ปกติ

4. แปรงฟันไม่สะอาดทำให้หัวใจติดเชื้อ ?

   ช่องปากเป็นที่อยู่ของแบคทีเรียและเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิดทั้งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ หากทำความสะอาดฟันไม่ดีอาจทำให้เชื้อบางชนิดหลุดเข้าสู่กระแสเลือด เข้าไปเกาะติดในบริเวณหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดการติดเชื้อและทำให้มีไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย เบื่ออาหารได้ จึงควรแปรงฟันตอนเช้า ก่อนเข้านอน และใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันเป็นประจำทุกวัน และควรระวังไม่ให้ฟันผุ ไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อเช็คสภาพฟันและขูดหินปูน

5. แน่นหน้าอกไม่จำเป็นต้องเกิดจากโรคหัวใจเสมอไป ?

   บางครั้งอาการแน่นหน้าอก ปวดร้าวไปที่คอ หลัง ไหล่หรือแขน หายใจไม่เต็มปอด อาจเกิดจากความเครียด โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ถุงน้ำดี แผลในกระเพาะอาหาร ก็เป็นได้ ลองสังเกตว่าเวลาปวดแน่นหน้าอกมีลักษณะอย่างไร เช่น ปวดทุกครั้งเวลาทำงานหนัก เดินเร็วๆ อ่อนเพลีย เหงื่อออก คลื่นไส้ อ่อนเพลีย หากได้พัก 10 -15 นาทีจะหายไปหรือไม่ ถ้ามีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดหัวใจ ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ค่ะ     

6. ใครว่าเป็นโรคหัวใจออกกำลังกายไม่ได้ ?

   เมื่อรู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคหัวใจ ช่วง 2 เดือนแรกควรให้หัวใจได้พักฟื้น ไม่ออกกำลังหักโหมเกินไป เน้นการออกกำลังที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง ไม่มีแรงต้าน เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ รำไทเก็ก ว่ายน้ำช้าๆ ช่วงที่รู้สึกร่างกายแข็งแรงขึ้นแล้วจึงออกกำลังมากขึ้น เร็วขึ้นได้      
 
   การออกกำลังที่พอเหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจนั้นให้เทียบกับการเดินขึ้นบันไดจากชั้นล่างถึงชั้น 2 หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องเบ่ง ยก หรือเกิดแรงต้านเพราะทำให้เกิดแรงอัดในเส้นเลือดย้อนกลับเข้าหัวใจ เกิดการตึงที่ผนังหัวใจ ทำให้หัวใจจ่ายเลือดยากขึ้น กระตุ้นให้เกิดอาการหัวใจขาดเลือด 

7. เป็นโรคหัวใจห้ามมีเซ็กซ์

   แม้การใช้แรงอย่างหักโหมหรือความตื่นเต้นขณะมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้ปวดเค้นหัวใจ แต่การมีเพศสัมพันธ์ก็ช่วยคลายเครียดและเป็นวิธีออกกำลังกายที่ดีวิธีหนึ่ง ดังนั้นคนที่เดินขึ้นลงบันไดได้ 13 ขั้นได้โดยไม่มีอาการเจ็บหน้าอกก็ไม่น่ามีอันตรายขณะมีเพศสัมพันธ์ หรืออาจปรึกษาแพทย์ถึงความเหมาะสมก่อนมีเพศสัมพันธ์

   แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่อย่าลืมใส่ใจหัวใจคุณด้วยนะคะ


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement