อาการแพ้ท้องและวิธีแก้ไข


เมื่อคุณแม่เริ่มรู้สึกว่ามีสิ่งมีชีวิตอีกชีวิตหนึ่งกำลังเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์อย่างช้าๆ เชื่อว่า ความรู้สึกของคุณแม่ต้องมีความสุขอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ แต่ควบคู่กับความสุข คือ ความเบื่อหน่ายกับการตั้งครรภ์ เนื่องจากอาการหรือภาวะที่ไม่พึงประสงค์ของการตั้งครรภ์ซึ่งมีอยู่หลายอาการด้วยกัน และเกิดขึ้นได้แทบจะทุกระยะของการตั้งครรภ์เลยทีเดียว ในที่นี้จะกล่าวถึงอาการแพ้ท้อง ซึ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่คุณแม่บางท่านอาจจะต้องเผชิญเป็นด่านแรกของการตั้งครรภ์ และอาจจะรู้สึกหงุดหงิด รำคาญอยู่ไม่น้อยทีเดียว เพราะอาการดังกล่าวมักสร้างความรู้สึกไม่สบายให้ว่าที่คุณแม่แทบจะทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา

อย่างไรก็ตามอาการแพ้ท้องอาจจะไม่ได้เกิดกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทุกคน แต่หากท่านเป็นคนหนึ่ง ที่ต้องประสบกับอาการนี้ก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลไป เพราะอาการแพ้ท้องเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย เพียงแต่ต้องทำความ เข้าใจรายละเอียดของอาการแพ้ท้องอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับ สาเหตุของการเกิดอาการแพ้ท้องว่าเกิดจากเหตุใด ลักษณะอาการแพ้ท้องที่ปรากฏ ตลอดจนวิธีการป้องกันการเกิดอาการแพ้ท้อง ทั้งนี้สิ่งที่ควรทราบ คือ อาการแพ้ท้องไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด เพราะในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ทารกยังพึ่งอาหารจากคุณแม่น้อยมาก ส่วนใหญ่จะใช้อาหารที่สะสมในตัวทารกเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่จะสามารถปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติได้ เพราะหากเกิดอาการแพ้มาก และเป็นระยะเวลานานๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายคุณแม่และทารกในครรภ์ได้เช่นกัน แต่โดยปกติแล้วอาการดังกล่าวไม่ใช่อาการถาวร จะหายได้เองเมื่อการตั้งครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 (ประมาณ 14 – 16 สัปดาห์) หลังจากผ่านพ้นระยะนี้คุณแม่ก็คงจะรู้จักแต่คำว่า หม่ำ หม่ำ หม่ำ จนอาจจะรั้งไว้ไม่อยู่เป็นแน่

อาการแพ้ท้อง

อาการแพ้ท้อง เป็นภาวะที่เกิดได้กับว่าที่คุณแม่หลายๆท่านที่เริ่มตั้งครรภ์ โดยมากมักปรากฏอาการบ่อยในช่วงเช้า จึงมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Morning Sickness แต่อาการแพ้ท้องไม่ได้เป็นตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ กล่าวคือ ส่วนใหญ่มักจะปรากฏอาการในช่วง 2- 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์และโดยมากอาการมักจะค่อยๆดีขึ้นและหายไปเองในที่สุดเมื่อการตั้งครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 (ประมาณ 14 -16 สัปดาห์ )

สาเหตุที่แน่นอนของการเกิดอาการแพ้ท้องนั้น ยังไม่มีใครทราบว่าเกิดจากอะไร แต่ทางการแพทย์เชื่อว่า อาการแพ้ท้องน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่มีชื่อว่า HCG ( Human Chorionic Gonadotropin) ในร่างกาย หากว่าที่คุณแม่มีปริมาณฮอร์โมน HCG ในระดับสูงก็จะส่งผลให้เกิดอาการแพ้ท้องมากตามไปด้วย นอกจากนี้ภาวะจิตใจและอารมณ์ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการแพ้ท้องค่อนข้างมากเช่นกัน คุณแม่ที่มีสภาพจิตใจและอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย มักจะมีอาการ แพ้ท้องมากและรุนแรงกว่าคุณแม่ที่มีจิตใจเข้มแข็ง เนื่องจากคุณแม่ที่มีอารมณ์อ่อนไหวมักจะต้องการการดูแล เอาใจใส่จากคนรอบข้างมากกว่าปกติ

ลักษณะอาการแพ้ท้อง ที่เกิดขึ้นมักเป็นอาการที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้เสแสร้ง เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน พะอืดพะอม เหม็นเบื่อสิ่งต่างๆ น้ำหนักลด ปัสสาวะมี สีเข้ม บ้วนน้ำลายตลอดเวลา ฯลฯ

วิธีป้องกันอาการแพ้ท้อง มีอยู่ด้วยกันมากมายหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีคงไม่ยากเกินความสามารถของคุณแม่แต่ละท่านอย่างแน่นอน แต่วิธีป้องกันอาการแพ้ท้องที่ได้ผลดีและสำคัญที่สุด คือ บุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกในครอบครัวต้องให้ความรัก ความเข้าใจ และเอาใจใส่ว่าที่คุณแม่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ว่าที่คุณแม่เกิดความรู้สึกอบอุ่น ไม่ว้าเหว่ หรือรู้สึกว่าตนเองต้องตั้งครรภ์อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องให้น้อยลงได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามอาการแพ้ท้อง หายได้เองโดยไม่ต้องรับประทานยาให้วุ่นวาย เพียงแต่ว่าที่คุณแม่ลองปฏิบัติตาม 13 เคล็ดไม่ลับ ดังนี้

1. รับประทานอะไรก็ตาม ให้รับประทานในปริมาณน้อย แต่บ่อยครั้ง
2. ขณะรับประทานอาหารไม่ควรรับประทานแบบข้าวคำน้ำคำ เพราะจะทำให้รู้สึกอยาก
อาเจียน
3. ก่อนนอนพยายามรับประทานอะไรก็ได้ที่กระเพาะอาหารไม่ต้องทำงานหนัก เช่น นมโยเกริ์ต ขนมปัง    เพื่อป้องกันอาการแพ้ท้องหลังตื่นนอนตอนเช้าวันรุ่งขึ้น

4. หลังจากตื่นนอน ไม่ควรรีบลุกพรวดพราด เพราะจะทำให้คลื่นไส้ได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีเครื่องเทศ อาหารทอด เพราะอาหารประเภทนี้ย่อยยาก
  • ไม่ควรแปรงฟันหลังรับประทานอาหารทันที เพราะแปรงสีฟันที่แหย่เข้าไปในปากอาจทำให้รู้สึกอยากอาเจียนได้
    5. พยายามอยู่ในบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ ถ่ายเทสะดวก ไม่อับ
  • หากกลิ่นของอาหารร้อนๆทำให้รู้สึกคลื่นไส้ ให้ลองเปลี่ยนมารับประทานอาหารเย็นๆ ดูบ้าง
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะนาว ส้ม. พยายามดื่มน้ำขิงดูบ้าง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้บ้าง

    6. พยายามอย่าเครียด หรือวิตกกังวลมากเกินไป
    7. รับประทานวิตามิน และเกลือแร่โดยต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
    8. สมาชิกในบ้าน โดยเฉพาะสามีต้องให้ความรัก และเอาใจใส่ว่าที่คุณแม่อย่างสม่ำเสมอ

    หากปฏิบัติได้ทั้งหมด เชื่อว่าอาการแพ้ท้องของว่าที่คุณแม่คงจะไม่รุนแรงจนเกิดความรู้สึกไม่อยากตั้งครรภ์อีกเป็นครั้งที่ 2 เป็นแน่


  • Tag :




    แสดงความคิดเห็น






    Pooyingnaka Wellness


    Advertisement