20 คำถามเรื่องสุขภาพที่คุณกลัวคำตอบ


1. ฉันกินยาคุมกำเนิดนานหลายปีแล้ว จะทำให้ตั้งครรภ์ยากในอนาคตหรือไม่?
นี่เป็นความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับยาคุมกำเนิดเพราะยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการใช้ยาคุมกำเนิดจะกระทบต่อการตั้งครรภ์ ความจริงแล้วจากงานวิจัยในอังกฤษพบว่าผู้หญิงที่เคยกินยาคุม แล้วหยุดกินจะมีโอกาสตั้งครรภ์มากกว่าด้วยซ้ำ ถึงจะอย่างนั้น แต่ยาคุมทำให้เราชะลอการตั้งครรภ์ออกไปและเมื่อคุณอายุมากขึ้น ความสามารถในการตั้งครรภ์ก็จะลดลง ยิ่งคุณชะลอการตั้งครรภ์ออกไปนานเท่าไหร่ ก็จะเสี่ยงเกิดปัญหาบางอย่างมากขึ้น เช่น โรคเยื่อบุมดลูกผิดปกติหรือโรคติดเชื้อคลามิเดีย ยาคุมยังทำให้คุณไม่เห็นปัญหาบางอย่างเช่นประจำเดือนมาไม่ปกติด้วย ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยแล้ว หญิงสาวที่หยุดกินยาคุมจะตั้งครรภ์ภายใน 6 - 12 เดือน

2. ฉันไม่คิดว่าตัวเองติดบุหรี่ ฉันแค่สูบสองสามมวนต่อสัปดาห์เวลาเข้าสังคมเท่านั้น มันไม่เป็นไรใช่ไหม?
ตอบสั้นๆ ว่า เป็นค่ะ การสูบบุหรี่ไม่มีกำหนดว่าจะระดับไหนปลอดภัย เพราะมันคือยาเสพติดชนิดหนึ่ง มันทำให้เกิดรอยย่นบนใบหน้า และถ้าไม่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง หรือมะเร็งตามที่ต่างๆแล้ว ก็จะเร่งให้คุณเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเร็วขึ้น

3. ฉันเข้ายิมอาทิตย์ละครั้ง ถือว่าเสียเวลาเปล่าไหม?
มันขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากได้อะไรจากการเข้ายิมนั้น ถ้าคุณตั้งใจจะลดน้ำหนัก การเข้ายิมอาทิตย์ละครั้งก็ไร้ความหมาย คุณต้องออกกำลังในระดับเหนื่อยกำลังพอดีประมาณ 60 นาทีต่อวันถึงจะลดน้ำหนักได้ โดยเฉพาะถ้าคุณไม่เปลี่ยนวิธีกินอาหารให้ถึงที่สุดด้วย ถ้าเป้าหมายของคุณคือการกระชับกล้ามเนื้อ ก็ขอแนะให้ออกกำลังวันละ 20 - 60 นาที อาทิตย์ละ 3 - 5 วัน ซึ่งความถี่ขั้นต่ำที่คุณจะเริ่มเปลี่ยนแปลง ยิ่งคุณต้องการความกระชับมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องออกกำลังมากขึ้นเท่านั้น

คุณจะไม่มีวันเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านความแข็งแกร่ง ความทนทาน หรือความฟิตของหัวใจได้เลยจากการเข้ายิมอาทิตย์ละครั้ง อย่างน้อยถ้าอยากรักษาความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อเอาไว้ (เมื่อสร้างขึ้นได้แล้ว) ก็ต้องออกกำลังอาทิตย์ละ 2 ครั้ง แต่ในทางกลับกัน บางคนอาจแย้งว่าการเข้ายิมอาทิตย์ละครั้งก็คุ้มแล้วถ้ามองทั้งในแง่การเข้าสังคมและสุขภาพจิต

4. จะทำให้มีน้ำหล่อลื่นตลอดเวลามีเซ็กซ์ได้อย่างไร
สาเหตุเด่นชัดที่สุดที่ทำให้ผู้หญิงไม่มีน้ำหล่อลื่นคือ เธอได้รับการปลุกเร้าอารมณ์ไม่เพียงพอ อาจแก้ไขได้ด้วยการหาความรู้ และสำรวจตัวเองเพราะเมื่อคุณรู้ว่าร่างกายของคุณทำงานอย่างไร คุณก็จะสื่อให้คู่รักรู้ด้วย ในทางกลับกันถ้าคุณเคยมีน้ำหล่อลื่นดีแล้วกลับไม่มี ก็ควรดูแลสุขภาพโดยรวมของคุณ ความเจ็บป่วย ความอ่อนเพลีย และความเครียดอาจเป็นต้นเหตุของปัญหา ตัวยาบางชนิด เช่นยากดประสาท และแม้แต่ยาคุมกำเนิดก็มีผลต่อการตอบสนองทางเพศได้ อีกอย่างที่พึงรู้คือผู้หญิงจะมีระดับของน้ำหล่อลื่นแตกต่างไปตามช่วงรอบเดือน

ถ้าคุณอยากให้ชีวิตเซ็กซ์เข้ารูปเข้ารอยก็อาจใช้สารหล่อลื่นที่ไม่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ การที่ช่องคลอดแห้งผากอาจทำให้เพศสัมพันธ์เป็นความเจ็บปวด ซึ่งก็ยิ่งทำให้ไม่มีน้ำหล่อลื่นยิ่งขึ้น ดังนั้นสารหล่อลื่นที่มีขายตามท้องตลาดอาจช่วยให้คุณสบายใจ ให้ทดลองใช้หลายยี่ห้อจนกว่าจะพบอันที่ได้ผลดีที่สุด อีกเรื่องที่ต้องนึกถึงคือ สภาพความสัมพันธ์ คุณมีเรื่องคับข้องใจกับคู่รักหรือเปล่า? เขาขอให้คุณร่วมเพศในวิธีที่คุณอึดอัดใจหรือเปล่า? การปรึกษาจิตแพทย์ก็อาจช่วยคุณได้

5. ฉันอ่อนเพลียตลอดเวลาแม้จะนอนหลับได้ดี มีอะไรผิดปกติหรือไม่?
ควรดูระดับธาตุเหล็กในร่างกาย แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮีโมโกลบินของคุณ ถ้าอยู่ในระดับต่ำ แสดงว่าที่คุณอ่อนเพลียเป็นเพราะกล้ามเนื้อไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ ถ้าคุณขาดธาตุเหล็กอย่างรุนแรง ก็อาจเป็นเพราะประจำเดือนมามาก ตั้งครรภ์หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ ถ้าสาเหตุคือประจำเดือน แพทย์อาจแนะให้คุณกินยาคุมกำเนิดเพื่อให้รอบเดือนมาสม่ำเสมอ ถ้าภาวะบกพร่องเกิดจากการกินอาหาร ก็ควรกินอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก เช่น เนื้อแดงหรือกินผักที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก กับวิตามินซีเพื่อช่วยในการดูดซึม คุณอาจต้องการอาหารเสริม แต่ไม่ควรหาซื้อกินเอง เพราะการกินธาตุเหล็กเสริมในปริมาณมากอาจเป็นอันตรายได้

6. ฉันจำเป็นต้องกินวิตามินเสริมหรือเปล่า?
วิตามินเสริมจำเป็นต่อเมื่อ คุณไม่สามารถได้รับวิตามินตามที่ต้องการในแต่ละวันจากการกินอาหารหลากหลายได้ แต่ถ้าคุณกินอาหารธัญพืช แป้งไม่ขัดขาว ผลไม้ ผัก เนื้อสันไม่ติดมัน ปลา ไก่ รวมทั้งนมเนย หรืออาหารจากถั่วเหลืองในแต่ละวัน คุณก็ปกติดี ส่วนคนที่แพ้อาหารอาจต้องการวิตามินเสิรม ถ้าไม่สามารถกินอาหารบางหมู่ได้เลย วิตามินเสริมอาจจำเป็นในบางช่วงของชีวิตคุณ เช่น แพทย์จะแนะนำให้ผู้หญิงกินโฟเลทเสริม เมื่อคิดจะตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก วิตามินดีเสริมอาจจำเป็นสำหรับคนที่ไม่ได้รับแดดเพียงพอ เช่น คนสูงอายุ หรือผู้หญิงที่ปกปิดผิวมิดชิดด้วยเหตุผลทางศาสนา วิตามินเหล่านี้ควรใช้เฉพาะเมื่อแพทย์วินิจฉยว่าคุณมีภาวะบกพร่องเท่านั้น และทางที่ดีที่สุดคืออย่ากินเป็นเวลานาน เพราะอาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารอื่นได้

7. สายเกินไปไหมที่จะเสริมสร้างกระดูกเมื่อคุณอยู่ในวัยสามสิบ?
กระดูกคือเนื้อเยื่อที่มีชีวิตและเติบโตอย่างต่อเนื่อง กระดูกใหม่จะถูกสร้างขึ้น และกระดูกเก่าจะถูกกำจัดออกไปตลอดชีวิตของคุณ แต่อัตราความเร็วของกระบวนการนี้จะแตกต่างไปตามวัย และตัวบุคคล ในวัยสามสิบนั้น กระบวนการนี้จะสมดุลกัน แต่เมื่ออายุมากขึ้น (ประมาณ 45 ปี) การสูญเสียกระดูกจะเริ่มล้ำหน้าการเติบโตของกระดูก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงปกติที่เกิดขึ้นจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป แต่ไม่มีคำว่าสายเกินไปในการดูแลสุขภาพกระดูกของคุณ กระดูกเติบโตจากหลายปัจจัย รวมทั้งการตึงตัวของกล้ามเนื้อที่ไปดึงกระดูก ด้วยเหตุนี้การออกกำลังสม่ำเสมอจึงทำให้กระดูกเติบโต โดยเฉพาะการยกน้ำหนัก และการออกกำลังกายที่ฝึกความแข็งแกร่ง ถ้าจะให้มีผลในการสร้างกระดูก คุณต้องฝึกความแข็งแกร่งประมาณ 45 - 60 นาทีต่อครั้ง อาทิตย์ละ 2 - 3 ครั้ง ควรเลิกสูบบุหรี่ กินแต่อาหารที่มีประโยชน์ กินอาหารหลากหลายที่อุดมไปด้วยแคลเซียม และเลี่ยงแอลกอฮอร์ คาเฟอีน และน้ำอัดลม

8. เส้นเลือดที่เห็นชัดบนขาเป็นอันตรายหรือไม่?
โดยทั่วไปแล้ว เส้นเลือดบนขาแบ่งเป็น 2 จำพวก คือเส้นเลือดขอดและเส้นเลือดใยแมงมุม เส้นเลือดประเภทหลังคือ เส้นเลือดสีแดงหรือน้ำเงินที่อยู่บนผิวหนังตามธรรมชาติ เส้นเลือดฝอยบนผิวหนังเหล่านี้อาจเกิดปัญหาได้แต่โดยทั่วไปไม่เป็นปัญหา ส่วนเส้นเลือดขอดอาจทำให้เจ็บปวดมาก แต่ไม่มีอันตรายถึงชีวิต แค่ทำให้ปวด สั่น แสบร้อน เจ็บ ข้อเท้าบวม คัน เป็นตะคริว และกระสับกระส่าย เส้นเลือดขอดจะยิ่งแย่เมื่อปล่อยทิ้งไว้ แต่โชคดีที่รักษาได้ โดยไม่ต้องผ่าตัด เคยมีคนว่ากันว่าผู้หญิงควรปล่อยเส้นเลือดขอดทิ้งไว้จนกว่าจะมีลูกแล้ว แต่วิธีการรักษาสมัยใหม่ทำให้สามารถรักษาได้ทั้งก่อน ระหว่าง หรือหลังตั้งครรภ์ แทนที่จะปล่อยให้แย่ลงเมื่อมีลูกแต่ละครั้งแล้วมาผ่าตัดเมื่อมีอาการแย่ที่สุดแล้ว เส้นเลือดใยแมงมุมไม่เป็นอันตราย แต่บางครั้งก็อาจเป็นอาการนำว่า จะเป็นเส้นเลือดขอดตามมา แพทย์จะทำอัลตราซาวด์ตรวจดูขาของคุณเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีปัญหาแอบแฝงอยู่ ขอแนะให้รักษาเส้นเลือดขอดเพื่อไม่ให้มันลุกลาม และป้องกันอาการแทรกซ้อนอื่น ส่วนการไขว้ขาไม่ได้ทำให้เกิดเส้นเลือดขอด!!

9. ฉันมีกระเพาะปัสสาวะที่เล็กที่สุดในโลกเพราะเข้าห้องน้ำตลอดเวลา เป็นเรื่องปกติหรือไม่หรือควรจัดการอย่างไรดี?
ผิดปกติค่ะ ไม่น่าใช่พันธุกรรม น้อยคนนักที่จะเกิดมาโดยมีกระเพาะปัสสาวะเล็ก ส่วนใหญ่แล้ว โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีกระเพาะปัสสาวะเล็กเพราะพวกเธอจะเข้าห้องน้ำ "เผื่อไว้ก่อน" ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เราถูกสอนมาในวัยเด็ก ด้วยเหตุนี้กระเพาะปัสสาวะของเราจึงถูกฝึกมาให้เก็บปัสสาวะได้ไม่มาก แต่ยังมีวิธีฝึกกระเพาะปัสสาวะเสียใหม่และช่วยให้มันมีขนาดใหญ่ขึ้น เก็บปัสสาวะได้มากขึ้น โดยการบริหารอุ้งเชิงกราน และปรับพฤติกรรม เช่น อย่าไปสนใจ คุณควรเลี่ยงสารกระตุ้นเช่นคาเฟอีนอ้วย ดื่มน้ำให้เพียงพอ ปัสสาวะจะยิ่งเข้มข้นถ้าคุณไม่ดื่มน้ำและอาจระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะซึ่งยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง คุณควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติอื่นๆ

10. ฉันอายุยี่สิบต้นๆ จำเป็นต้องตรวจคอเลสเตอรอลไหม?
คุณควรตรวจคอเลสเตอรอลในกรณีต่อไปนี้ ถ้าคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง ถ้าคุณหรือญาติสนิทเป็นโรคเบาหวาน ถ้าคุณสูบบุหรี่หรือถ้าคุณไม่ออกกำลังกายเลย เพราะเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ปัจจุบันระดับคอเลสเตอรอลที่ถือว่าสูงคือวัดได้มากกว่า 4.5 ยิ่งต่ำกว่านั้นยิ่งดี เมื่อผู้หญิงเราอายุมากขึ้น ก็จะสูญเสียการคุ้มกันฮอร์โมนและคอเลสเตอรอลสูงขึ้น คอเลสเตอรอลมีหลายชนิด แต่ที่สำคัญที่สุดคือ low-density lipoprotein (LDL) ซึ่งพบในเลือด และเป็นระบบนำส่งไขมันไปยังเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย คุณจะรู้จักคอเลสเตอรอลตัวนี้ว่าเป็น "ชนิดเลว" อีกชนิดหนึ่งคือ high-density lipoprotein (HDL) ซึ่งรวบรวมคอเลสเตอรอลจากร่างกายไปยังตับเพื่อกำจัดออกไป ถ้าวัดคอเลสเตอรอลชนิดนี้ได้สูง ก็ถือว่าดี ถ้าคุณตรวจระดับคอเลสเตอรอลต้องตรวจทั้งสองชนิด ถ้าคุณห่วงว่าระดับคอเลสเตอรอลจะสูงเกินไป ก็ควรจำกัดการกินไขมันอิ่มตัวให้ตลอด ถ้าคุณลดการกินไขมันอิ่มตัวได้ 10% โอการสที่จะเป็นโรคหัวใจก็จะลดลง 20% ถ้าระดับคอเลสเตอรอลของคุณสูงผิดปกติ ก็สามารถควบคุมได้ด้วยการกินยา เพราะการเคร่งครัดเรื่องการกินทำได้ยากเพราะพฤติกรรมในกลุ่ม พฤติกรรมทางวัฒนธรรมและสังคม 

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement