โรคร้ายของลูกน้อยที่เรียกว่า ไอ พี ดี




กลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อโรคร้าย ไอ พี ดี

หลังจากที่คุณแม่พอที่จะทราบอาการของโรค ไอ พี ดี กันไปบ้างแล้ว คราวนี้เราก็มาทราบถึงกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงต่อโรค ไอ พี ดี กันดีกว่าค่ะ  

เด็กกลุ่มไหนมีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ ไอ พี ดี ?
จากการศึกษาพบว่า กลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคติดเชื้อ ไอ พี ดี นั้นได้แก่ เด็กแข็งแรงที่อายุต่ำกว่า 2 ปี อาจแบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่มค่ะ คือ
- กลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน เด็กที่อยู่กับผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ และเด็กที่ไม่ได้กินน้ำนมแม่ เด็กที่ได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อน
- กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กที่เคยมีประวัติติดเชื้อในหู และเด็กที่มีภูมิต้านทานบกพร่องและเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เด็กที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำหน้าที่บกพร่อง เด็กที่มีน้ำในเยื่อบุช่องท้อง เด็กที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคเบาหวาน เด็กที่มีน้ำไขสันหลังรั่วจากความพิการแต่กำเนิดหรือมีกะโหลกศีรษะแตก และเด็กที่ได้รับการผ่าตัดใส่วัสดุเทียมของหูชั้นใน

ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็แพร่เชื้อนิวโมคอคคัสได้!!
โดยปกติพบเชื้อนิวโมคอคคัสบ้างทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทุกเพศ ทุกวัย (ไม่แสดงอาการ แต่เป็น "พาหะ" ที่สามารถแพร่เชื้อได้) โดยในเด็กเล็กเชื้อจะอยู่ในทางเดินหายใจประมาณ 2-4 เดือน ในขณะที่ผู้ใหญ่เชื้อจะอยู่ได้นานประมาณ 2-4 สัปดาห์ค่ะ


ไอ พี ดี กับ ไข้หวัดธรรมดา ความเหมือนที่แตกต่าง

ไอ พี ดี กับ ไข้หวัดธรรมดา
เมื่อลูกน้อยเป็นไข้คุณพ่อคุณแม่อย่านิ่งนอนใจ... จริงอยู่ที่อาการไข้ในเด็กเล็กนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักหายได้เองแต่อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่ควรเอาใจใส่ลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพราะบางครั้งไข้ที่เกิดกับลูกน้อยอาจไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา ซึ่งหนึ่งในเชื้อแบคทีเรียที่อาจพบในเด็กเล็ก คือ แบคทีเรียนิวโมคอคคัสแม้จะพบไม่ค่อยบ่อยนักแต่เชื้อตัวนี้ก็รุนแรง และอาจลุกลามไปสู่อวัยวะสำคัญได้ และหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที ชีวิตลูกน้อยอาจเป็นอันตรายได้ค่ะ
 
อาการแสดงของโรค
เชื้อนิวโมคอคคัสมักทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินหายใจ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบซึ่งส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงแต่พบได้บ่อย นอกจากนี้เชื้อนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบ ซึ่งอาจมีอาการรุนแรง ส่วนการติดเชื้อแบบ ไอ พี ดี พบได้น้อยกว่ามากแต่ในเวลาเดียวกันก็มีความรุนแรงสูงกว่ามากเช่นกัน ซึ่งหากติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองเด็กจะมีอาการไข้สูง คอแข็ง งอแง ซึม ไม่ดื่มนม และชัก หรือหากติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง ร้องกวน งอแง อาจช็อก และถ้ามีอาการปอดอักเสบเด็กจะมีอาการไข้ ไอ หอบ หายใจเร็ว
เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบอาการแบบนี้กับลูกน้อยเข้าแล้วจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดค่ะ

การวินิจฉัย
การวินิจฉัยที่แน่ชัดที่สุดคือการเพาะเชื้อที่มากับเลือด หรือสิ่งคัดหลั่งอื่นๆ เช่น น้ำไขสันหลัง ซึ่งวิธีการนี้ถือได้ว่าเป็นวิธีการที่มีความถูกต้องและแม่นยำต่อการวินิจฉัยโรคมากที่สุดในกรณีที่เด็กยังไม่ได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อน

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากโรงพยาบาลเด็กสมิติเวชศรีนครินทร์
http://www.samitivejhospital.com/HealthNewsDetail_en.aspx?NewsID=381&imagePath=../images/web/ipd.jpg


ในปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
  แต่ก็ยังมีอีกหลายโรคที่ยังเป็นปัญหา  โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพของลูกน้อย  อย่างโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส  ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่ความพิการและการเสียชีวิตของเด็กทารกทั่วโลก  จากสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าโรค ไอ พี ดี หรือ โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ทำให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ในทั่วโลกเสียชีวิตจากการติดเชื้อนี้มากกว่า 1 ล้านคนต่อปี แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็มีอุบัติการณ์โรคนี้เช่นกัน

โรค ไอ พี ดี โรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นโรคร้ายที่องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานเกี่ยวกับวัคซีนต่างๆ* รณรงค์ให้นานาประเทศหันมาตระหนักในการป้องกันรับรองว่า สามารถป้องกันได้ โดยการเสริมภูมิคุ้มกันให้กับเด็กทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศโลกที่ 3 จะสามารถช่วยชีวิตคนได้ถึง 5.4 ล้านคนภายในปี 2030

นิวโมคอคคัส กับ ปอดบวม

โรค ไอ พี ดี ย่อมากจากคำว่า "Invasive Pneumococcal Disease"  เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส เป็นเชื้อชนิดรุนแรงและอันตราย ซึ่งมักเกิดที่เยื่อหุ้มสมอง หรือในกระแสเลือด หรือที่ปอด ที่เราอาจเรียกว่า ปอดอักเสบชนิดรุนแรงหรือลุกลามจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส โดยเด็กสุขภาพดีที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อนี้ ซึ่งหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที เด็กอาจเสียชีวิตใน 2-3 วันหรือมีอาการพิการได้

เชื้อนิวโมคอคคัสนั้นมักพบอยู่ในโพรงจมูก และลำคอของคนทั่วไป ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใดๆ แต่สามารถเป็นพาหะนำเชื้อแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ โดยการไอหรือจามรดกัน โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี จะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัส

ปัจจุบัน องค์การยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลก ระบุว่า โรคปอดบวมคือมฤตยูร้ายที่ถูกลืม และแนะให้ทุกประเทศเฝ้าระวัง โดยข้อมูลทางการแพทย์และผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกายืนยันว่า การฉีดวัคซีน ไอ พี ดี สามารถลดอัตราการเข้ารับการรักษาโรคปอดบวมชนิดรุนแรงจากเชื้อนิวโมคอคคัสในโรงพยาบาลได้ถึง 65%

(ทั้งนี้วัคซีน ไอ พี ดี นั้นมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่ควรปรึกษากุมารแพทย์ถึงความคุ้มค่า รวมทั้งคำนึงถึงสุขภาพของลูกน้อย)

ไอ พี ดี ไม่ใช่เรื่องใหม่

แม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง  แต่โรคติดเชื้อ ไอ พี ดี นี้ไม่ใช่โรคใหม่สำหรับคนไทย  เพราะโรคติดเชื้อ ไอ พี ดี จะมีอาการเป็นไข้คล้ายกับโรคติดเชื้อทั่วไป  คุณพ่อคุณแม่ของลูกน้อยส่วนใหญ่จึงมักคิดว่าเป็นไข้ธรรมดา  และไม่ให้ความสำคัญในการตรวจวินิจฉัยโรค  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการติดเชื้อดังกล่าวในบางรายสามารถคร่าชีวิตลูกน้อยได้ภายใน 48 ชั่วโมง หรือ ภายใน 2 วันเลยทีเดียว....

เพราะเราห่วงใยลูกน้อยคุณ ด้วยความปราถนาดีจากโรงพยาบาลเด็กสมิติเวชศรีนครินทร์

AMC ; Anvance Market Commitment for Vaccines, PneumoADIP, PACE ; Pneumococcal Awareness Council of Experts. http://www.medicalnewstoday.com/articles/62828.php


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Insurance


Advertisement