ทุกคนสามารถตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงได้ทั้งสิ้น หากวันนี้เรายังบริโภคความรุนแรงผ่านทางสิ่งต่างๆ รอบตัว หยุดและหันมามองมหันตภัยร้ายที่กำลังฆ่าสังคมไทย มาช่วยกันทำให้ความรุนแรงหมดไปจากโลกใบนี้กันเถอะค่ะ
ไม่กระทำ ไม่นิ่งเฉย ช่วยเหลือเมื่อพบเหตุ สโลแกนรณรงค์ยุติความรุนแรงประจำปี 2550 ของสำนักงานกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว เราหวังให้สิ้นปีนี้เป็นการอำลาความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะความรุนแรงต่อเด็กและสตรี อยากให้คุณเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือป้องกันภัย ช่วยเหลือ ดูแลกันและกัน ให้หนูน้อยและหญิงสาวที่ถูกกระทำทุกคนได้รับความช่วยเหลือตลอดเดือนพฤศจิกายนของทุกปี บ้านเรากำหนดให้เดือนนี้เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี รวมถึงทั่วโลกก็ยังกำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนเป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงอีกด้วย เพราะฉะนั้นการทำร้ายกันของคนบนโลกใบนี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องเล็กน้อยของคนอื่นอีกต่อไป หากแต่วันใดวันหนึ่งมันอาจเกิดขึ้นกับเพื่อน คนในครอบครัว และตัวเราเองก็เป็นได้
หันกลับมามองปัญหานี้กันอีกสักครั้ง อย่างน้อยเมื่อรับรู้ปัญหาแล้ว เราอาจมีโอกาสยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน หากคุณมีสิทธิ์สร้างรอยยิ้มให้กับพวกเขาได้ คุณไม่คิดอยากลองทำบ้างหรือคะ?
หยุดเสียที! ความรุนแรง
Violence หรือความรุนแรง ถือเป็นปัญหาที่มีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากรายงานสถิติของสำนักระบาดวิทยา ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้บาดเจ็บจากการถูกทำร้ายร่างกาย และเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ พบว่าในปีพ.ศ. 2549 เพียงปีเดียวมีผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากถึง 216,037 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2545 มากถึง 30% ส่วนเด็กและสตรีโดนทำร้ายทางเพศและร่างกายเฉลี่ย 37 คนต่อวันเลยทีเดียว ซึ่งนับจากข่าวที่เราได้รับรู้ผ่านทางสื่อต่างๆ แล้ว ละก็ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อค่ะว่าความรุนแรงคืบคลานเข้ามาใกล้เรามากขึ้นทุกที
น.พ.พรเพชร ปัญจปิยะกุล จากสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงแรงจูงใจในการกระทำรุนแรงมากที่สุดคือ นอกใจ/หึงหวง/ทะเลาะวิวาท อันดับสองคือ เมาสุรา/ติดยาเสพติด อันดับที่สามคือ เจตนาล่อลวง, ใช้กำลังข่มขืน และปัญหาครอบครัว ตามลำดับ เพราะฉะนั้นเราคงต้องแบ่งก่อนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ส่วนใหญ่จะเป็นทางเพศ ส่วนผู้หญิงนั้นความรุนแรงจะเกิดขึ้นทางด้านร่างกายเสียมากกว่า ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนมากลงความเห็นตรงกันว่า สาเหตุของพฤติกรรมความรุนแรงมักเกิดจากการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อม
เรารู้ว่ามาถึงตรงนี้แล้ว คุณอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกใบนี้ให้ห่างไกลจากความรุนแรงแล้วใช่มั้ยคะ แต่ก่อนอื่นเราต้องขอแบ่งออกเป็น ผู้กระทำ, ผู้ถูกกระทำและผู้เห็นการกระทำ เพื่อให้เราได้รับผิดชอบหน้าที่แต่ละส่วนได้อย่างเหมาะสมและผนึกกำลังในการช่วยกันหยุดความรุนแรง
+ ต้นปีกับข่าวพี่เลี้ยงสาวใจโหด ที่ทำร้ายน้องเอ็มเจ เด็กน้อยวัยเพียงแค่ 23 วัน สาเหตุเพียงเพราะโมโหที่เด็กร้องไห้ไม่หยุด เธอจึงทำร้ายจนกะโหลกแตก เนื้อสมองบวม มีรอยช้ำที่หน้าอก กระดูกซี่โครงหัก แม้จะไม่เสียชีวิตแต่พัฒนาการของน้องเอ็มเจก็ช้าลง และอาจมีปัญหาทางด้านอารมณ์รวมอยู่ด้วย
+ เด็กหญิงอายุ 14 ปีถูกข่มขืนแล้วฆ่าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยผู้ร้ายคือกลุ่มเด็กชายวัยเพียง 14-20 ปีเท่านั้น สาเหตุมาจากการที่เด็กหญิงไม่สนใจเด็กชายในกลุ่มที่เข้ามาจีบ ผลลัพธ์จึงทำให้เธอต้องโดนทำร้าย ก่อนจะถูกข่มขืนและฆ่าทิ้ง
+ พ่อแท้ๆ ข่มขืนลูกสาววัย 14 ปีมานานกว่า 10 ปี แถมยังอ้างอีกว่าไม่ใช่ความผิด สิ่งที่ทำคือการสอนเพศศึกษาให้กับลูกสาวมากกว่า
+ พบศพ 2 ศพของนางหนูจันทร์ แสงสี และนายชัยวัฒน์ แสงสี สองผัวเมียที่จังหวัดบุรีรัมย์ สาเหตุเกิดจากการฆ่าเพราะรักอย่างแท้จริง เมื่อฝ่ายหญิงคิดหย่าขาด ฝ่ายชายกลับเข้าใจว่ามีคนใหม่ เกิดการโต้เถียงกันขึ้น และสุดท้ายก็ใช้อาวุธปืนของฝ่ายชายเป็นเครื่องมือตัดสิน
+ ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อีกครั้งกับการบุกจับพ่อใจชั่วที่ข่มขืนลูกสาวตัวเองจนตั้งครรภ์ ซึ่งพ่อคนนี้เป็นเซลส์ขายยา แต่กลับมอมยาลูกสาวจนสลบไป แล้วทำการข่มขืน จนเด็กหญิงตั้งท้องเรื่องจึงแดงขึ้นมา แม้เจ้าตัวจะยังให้การปฏิเสธ แต่หลักฐานต่างๆ ก็มัดแน่นจนดิ้นไม่หลุด
+ และตลอดทั้งปีกับการเผยแพร่คลิปวิดีโอนักเรียนหญิงตบตีกันในโรงเรียน และตามสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมไปถึงการยกพวกตีกันของหมู่วัยรุ่น, การนำน้ำร้อนมาสาดใส่คู่กรณี, และการฆ่าตัวตายหนีปัญหา
เหล่านี้เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ ของข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี และนี่ยังไม่รวมกรณีที่ไม่ได้เป็นข่าว แต่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปัญหาภายในครอบครัว ที่สามีเป็นผู้ทำร้ายภรรยา และสาเหตุก็มาจากความเมาเป็นอันดับหนึ่ง
ต้นเหตุแห่งความรุนแรง
น.พ.พรเพชร ปัญจปิยะกุล จากสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงแรงจูงใจในการกระทำรุนแรงมากที่สุดคือ นอกใจ/หึงหวง/ทะเลาะวิวาท อันดับสองคือ เมาสุรา/ติดยาเสพติด อันดับที่สามคือ เจตนาล่อลวง, ใช้กำลังข่มขืน และปัญหาครอบครัว ตามลำดับ เพราะฉะนั้นเราคงต้องแบ่งก่อนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ส่วนใหญ่จะเป็นทางเพศ ส่วนผู้หญิงนั้นความรุนแรงจะเกิดขึ้นทางด้านร่างกายเสียมากกว่า ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนมากลงความเห็นตรงกันว่า สาเหตุของพฤติกรรมความรุนแรงมักเกิดจากการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อม
+ การเลี้ยงดู จากสถิติของศูนย์พึงได้
ซึ่งดูแลเด็กและผู้หญิงที่โดนทำร้าย ได้มีการเปิดเผยว่า ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่มักเติบโตมาในครอบครัวที่นิยมใช้ความรุนแรงใส่กัน ไม่ว่าจะเป็นด้านวาจา การกระทำ คนเหล่านี้มักไม่ได้รับการกอดจากพ่อแม่ และถูกปล่อยปละละเลยในเรื่องของร่างกายและจิตใจ หรือบางครั้งก็อาจมองเห็นอารมณ์ที่เกรี้ยวกราดของคนในบ้าน แล้วจึงจำฝังใจจนนำมาใช้ต่อเมื่อมีโอกาส
+ สภาพแวดล้อม เชื่อมั้ยคะว่า ต่อให้เราเลี้ยงดูลูกๆ ดีอย่างไร หากแต่สภาพแวดล้อมรอบตัวเรามีแต่ภาพของความรุนแรง ทั้งจากบริเวณที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ทางสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือเกมออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ต โอกาสที่เขาจะถูกสภาพแวดล้อมกลืนกินก็มีสูงไม่แพ้กัน ที่เห็นชัดเจนคงเป็นเรื่องของคลิปวิดีโอเด็กนักเรียนหญิงที่ตบตีกัน ทันทีที่มีการเผยแพร่ออกมา พฤติกรรมการเลียนแบบก็เกิดขึ้นตามมาตลอดทั้งปีเลยทีเดียว
+ สุราและยาเสพติด ตัวเลขเฉลี่ยของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายคือ 37 คนต่อวัน และผู้กระทำส่วนใหญ่ก็คือสามี และบุคคลในครอบครัว สาเหตุหลักๆ คือ สุราและยาเสพติด ซึ่งผลที่ได้รับนอกจากความเจ็บปวดทางด้านร่างกายแล้ว จิตใจก็ได้รับความกระทบกระเทือนไม่น้อยทีเดียว
+ ความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจ สาเหตุนี้มักเกิดกับผู้ชาย ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นสามี หรือพ่อ เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น การแข่งขันก็มีมากขึ้นตามไปด้วย รายรับเท่าเดิมหรือลดน้อยลง ย่อมส่งผลถึงรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ความเครียดที่เกิดอาจถูกระบายออกด้วยการดื่มสุรา และตามด้วยการใช้กำลังกับคนในบ้าน แต่บางคนก็หาทางออกที่ร้ายแรงกว่านั้น นั่นคือการฆ่ายกครัวเพื่อหนีปัญหา เช่น กรอกยา ฆ่าแมลง หรือใช้ปืนยิงคนในครอบครัว
สร้างเกราะคุ้มภัย สร้างหัวใจไร้ความรุนแรง
1. สร้างรักในครอบครัว วิธีที่ดีที่สุดในการพาลูกหลานให้ ห่างไกลจากความรุนแรงในสังคมปัจจุบัน ไม่มีอะไรจะสร้างเกราะกันภัยได้ดีเท่ากับความเข้มแข็งของครอบครัวอีกแล้วค่ะ พ่อแม่ลูกมีโอกาสได้พูดคุย ทำความเข้าใจ ปลูกฝังความอ่อนโยน มีเมตตา ใช้สติในการแก้ไขปัญหา ไม่เอาอารมณ์มาเป็นที่ตั้ง และไม่แสดงความรุนแรงให้เด็กและเยาวชนในครอบครัวเห็น เพียงเท่านี้เขาก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นคนมีคุณภาพ ปลอดภัยจากการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นอย่างแน่นอนค่ะ
2. สร้างความรับผิดชอบร่วมกันต่อสังคม โดยเฉพาะสื่อที่อยู่รอบตัวเด็กและเยาวชน ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือ และอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะเกมออนไลน์ หากผู้ผลิตสิ่งเหล่านี้มีจิตสำนึกว่ากำลังนำเสนอเรื่องอะไรให้กับสังคม ซึ่งไม่มีประโยชน์และยังสร้างความก้าวร้าวให้กับคนในสังคมได้ ก็ควรหยุด และช่วยกันกลั่นกรองก่อนนำเสนอออกไปสู่สังคมใหญ่ที่มีคนอีกจำนวนมากเป็นผู้รับข่าวสาร ทุกอย่างอยู่ที่ความผิดชอบและจิตสำนึกที่ดี หากช่วยกันรณรงค์ ปลูกฝังให้ทุกคน ต่อต้านความรุนแรงด้วยกันได้จะเป็นการดีไม่น้อยค่ะ เพื่อที่เราจะไม่ต้องยัดเยียดความรุนแรงให้กับคนในสังคมอีกต่อไป
3. สร้างธรรมะในหัวใจ หัดเข้าวัดฟังธรรม เพื่อสร้างจิตใจที่อ่อนโยน มีเมตตาต่อผู้อื่น รู้จักให้อภัยและอดทน จะช่วยทำให้เราไม่เกิดความก้าวร้าวและอยากใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น พุทธศาสนาจะสอนให้เรารู้ว่าทุกชีวิตล้วนมีคุณค่าในตัวเอง การใช้ความรุนแรงต่อกันเป็นการละเมิดคุณค่าชีวิตกันและกัน นำมาซึ่งความทุกข์แก่ทั้งสองฝ่าย หากเรารู้จักนำเอาธรรมะมาไว้ในหัวใจ เราจะรู้จักกับคุณธรรม การไม่เบียดเบียนผู้อื่น สังคมควรเน้นการปลูกฝังสิ่งเหล่านี้แก่เยาวชนในปัจจุบันให้มากๆ เพื่อให้เขาเติบโตมาอย่างมีศีลธรรมประจำใจค่ะ
4. สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน ปัญหาอย่างหนึ่งของคนในสังคมที่ยังปล่อยให้ความรุนแรงเป็นเรื่องไกลตัว นั่นคือการไม่สนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น บางครั้งเห็นความรุนแรงตรงหน้าเป็นเรื่องของคนอื่น ไม่อยากยุ่งเกี่ยว หากเราสร้างหัวใจที่เป็นหนึ่งเดียวกับคนในสังคมได้ เราจะรู้สึกว่า ต้องเข้าไปช่วยเหลือ เราไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปเสี่ยงกับความรุนแรง แต่เราสามารถเลือกที่จะขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานมากมายให้ความช่วยเหลือคนที่โดนทารุณกรรมรูปแบบต่างๆ อย่าปล่อยให้ความกลัวของคุณมาทำให้เพื่อนมนุษย์คนหนึ่งต้องทุกข์ทนไปทั้งชีวิตเลยค่ะ
ทุกสาเหตุที่ว่ามาล้วนเกิดขึ้นจากผู้กระทำความรุนแรงที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติ แม้บางครั้งบุคคลเหล่านี้ เมื่อถูกจับกุมแล้วจะตรวจพบว่ามีความบกพร่องทางจิต แต่สาเหตุใหญ่ของโรคจิตประสาทก็เกิดจากการอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็กนั่นเองค่ะ
เราช่วยกันหยุด! ความรุนแรงได้
เรารู้ว่ามาถึงตรงนี้แล้ว คุณอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกใบนี้ให้ห่างไกลจากความรุนแรงแล้วใช่มั้ยคะ แต่ก่อนอื่นเราต้องขอแบ่งออกเป็น ผู้กระทำ, ผู้ถูกกระทำและผู้เห็นการกระทำ เพื่อให้เราได้รับผิดชอบหน้าที่แต่ละส่วนได้อย่างเหมาะสมและผนึกกำลังในการช่วยกันหยุดความรุนแรง
+ เริ่มต้นกันที่ตัวผู้กระทำ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยใช้ความรุนแรง และปัจจุบันก็ยังใช้ความรุนแรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทางวาจา และการกระทำ ขอให้คุณหันกลับมามองคนที่โดนกระทำเสียใหม่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวเขาทั้งทางร่างกายและจิตใจเป็นอย่างไรบ้าง ลองหันมาพูดคุยกัน หาสาเหตุที่คุณจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงว่าคืออะไร แล้วจัดการกับปัญหานั้นๆ อย่างมีสติ ที่สำคัญคุณต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากๆ หากคุณไม่ชอบให้ใครมาด่าว่า หรือทำร้ายให้เจ็บปวด แน่นอนว่า คนอื่นก็ย่อมไม่ชอบเช่นกัน เพราะฉะนั้นเมื่อคุณยั้งคิดก่อนลงมือกระทำได้ โอกาสในการแสดงความรุนแรงออกไปก็จะมีน้อยลงค่ะ ดีที่สุดควรหยุดการกระทำผิดเสียตั้งแต่วันนี้เลยดีกว่าค่ะ เพื่อเป็นการดีต่อผู้อื่นและสังคม
+ ผู้ถูกกระทำ หากคุณอยู่ในกลุ่มนี้ จัดได้ว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อโดยตรงของความรุนแรง น.พ.ปราชญ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเปิดเผยถึงการช่วยเหลือเด็กและสตรีจากความรุนแรงผ่านทางศูนย์พึ่งได้ ที่เปิดให้บริการช่วยเหลือครอบคลุมทั่วประเทศสำหรับผู้ที่ได้รับความรุนแรง ผ่านทางสายด่วน 1669 ที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้คำปรึกษา และในกรณีฉุกเฉินก็สามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที แต่สิ่งแรกสุดที่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ก่อนคือการป้องกันตัว โดยที่ไม่ยอมให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อในครั้งที่ 2, 3 และต่อๆ ไปค่ะ เราเชื่อว่าหากคุณกล้าที่จะเดินจากมา คุณก็สามารถหยุดความรุนแรงได้แล้วค่ะ
+ ผู้เห็นการกระทำ ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่จะเป็นแรงผลักดันให้สังคมห่างไกลจากความก้าวร้าวรุนแรงได้ เพราะเมื่อไหร่ที่เราพบเห็นคนในครอบครัว คนข้างบ้าน เพื่อน-ร่วมงาน และคนอื่นๆ ในสังคม กำลังถูกกระทำความรุนแรง เราสามารถเข้าแจ้งความ ที่สถานีตำรวจทั่วประเทศ หรือโทรฯ สายด่วน 1669 ฟรี 24 ชั่วโมง เพียงเท่านี้เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้แล้วค่ะ อย่างที่สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวบอกไว้ว่า ไม่กระทำ ไม่นิ่งเฉย ช่วยเหลือเมื่อพบเหตุ ถูกต้องที่สุดค่ะ
ขอฝากไว้สำหรับหน้าที่คนไทยอีกอย่างหนึ่งนะคะ นอกจากความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แล้ว อยากให้เราร่วมกันหยุดความรุนแรง ไม่ให้มันเป็นภัยคอยกัดกร่อนความเข้มแข็งของคนในชาติ
หากทุกคนจับมือกันต้านภัยมืดชนิดนี้ได้ เราเชื่อว่ารอยยิ้มของเด็กและหญิงไทยอีกจำนวนมากที่กำลังโดนทำร้ายจะกลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้ง
หน่วยงาน, มูลนิธิต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือ
+ มูลนิธิผู้หญิง โทร. 0-2433-5149, 0-2435-1246
+ บ้านพักฉุกเฉิน โทร. 0-2929-2222
+ มูลนิธิศูนย์ฮอตไลน์ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0-5385-0270
+ มูลนิธิเพื่อนหญิง โทร. 02-279-6533
+ สายด่วนวัยรุ่น โทร. 0-2275-6993
+ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว โทร. 0-2954-2346