ชื่อเดือนของไทย ใครเป็นคนตั้ง?


เคยสงสัยหรือไม่ว่าชื่อเดือนแต่ละเดือนที่คนไทยใช้กันทั้ง 12 เดือน คือ มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน...ไปจนถึงธันวาคมนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร? ใครช่างอัจฉริยะตั้งมาได้? คำตอบได้มาว่า สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ คืออัจฉริยะผู้นั้น


เริ่มต้นมาจากทรงสนใจและทรงได้ศึกษาเรียนรู้ค้นคว้าเกี่ยวกับปฏิทิน ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของคนทุกคน เพราะคนเราต้องอาศัยปฏิทินตั้งแต่ลืมตาเกิด ในการดูวัน เวลา นัดหมาย และเป็นสิ่งเตือนความจำในวันสำคัญได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นวันสำคัญทางศาสนา วันสำคัญทางโลก กระทั่งวันหยุดต่างๆ


นอกเหนือจากพระราชกรณียกิจในราชการแผ่นดินที่ได้ทรงปฏิบัติจนเกิดประโยชน์ต่อแผ่นดินอย่างอเนกอนันต์ในเรื่องของการต่างประเทศแล้ว สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ สนพระทัยเรื่องของโหราศาสตร์มาตั้งแต่แรก


เมื่อเสด็จไปราชการต่างประเทศในยุโรป ปี 2430 ทรงซื้อหนังสือที่เป็นตำราโหราศาสตร์ว่าด้วยสุริยุปราคาจากกรุง เบอร์ลินมา 1 เล่ม ภายในเล่มนี้มีแผนที่ทางสุริยุปราคาอยู่เกือบเต็มทั้งเล่ม


การที่ทรงสนพระทัยในเรื่องโหราศาสตร์นี้ อาจเป็นเพราะทรงได้รับอิทธิพลทางความคิดเกี่ยวกับโหราศาสตร์จาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระราชบิดา ความชำนาญเรื่องโหราศาสตร์ของ สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ จึงต้องเกี่ยวพันไปกับการตรวจตรา ตรวจสอบดูปฏิทินด้วย เพราะต้องเรียนรู้การคำนวณ วัน เดือน ปี โดยตรง เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับปฏิทินโดยตรง จึงทำให้เกิดที่มาของชื่อเดือน ดังที่กล่าวมา      

คำว่า "ปฏิทิน" ที่เราใช้ในปัจจุบัน สามารถเขียนได้เป็น "ประติทิน" ภาษาสันสกฤต หรือ "ประฏิทิน" บาลีแผลง "ประดิทิน" หรือ "ประนินทิน" ก็ได้


การพิมพ์ปฏิทินมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2385 ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะนั้นปฏิทินยังคงใช้ตามแบบ "จันทรคติ" การนับ วัน เดือน ปี ถือการโคจรของดวงจันทร์เป็นหลัก ต่อมาจึงมีวิธีนับวัน เดือน ปี ตามการหมุนเวียนของโลกรอบดวงอาทิตย์ เรียกว่า "สุริยคติ"


เมืองไทยประกาศใช้ปฏิทินแบบใหม่ตามสุริยคติอย่างเป็นทางราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แม้เราจะใช้ปฏิทินตามสุริยคติ แต่ทางจันทรคติเราก็ยังใช้ควบไปด้วย ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากจันทรคติที่นับตั้งแต่เดือนอ้าย เดือนยี่...ถึง เดือนสิบสอง มาเป็นแบบสุริยคติ จึงได้มีการกำหนดชื่อเดือนขึ้นมาใหม่โดยสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงเป็นผู้คิดปฏิทินไทยใช้ตามสุริยคติ ซึ่งนับวันและเดือนแบบสากล ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 จากนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นประเพณีบ้านเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2432 เรียกว่า "เทวะประติทิน" ที่เป็นต้นแบบปฏิทินไทยในวันนี้


สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงคิดตั้งชื่อเดือนมกราคม ถึง ธันวาคม ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยทรงใช้ตำราจักรราศี หรือการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ในหนึ่งปี ประกอบด้วย 12 ราศี ตามวิชาโหราศาสตร์มาใช้กำหนดชื่อเดือนทั้ง 12 เดือน


ทั้งนี้แบ่งเดือนที่มี 30 วัน และเดือนที่มี 31 วัน ให้ชัดเจนด้วยการลงท้ายเดือนต่างกัน คือ คำว่า "ยน" และ "คม" ส่วนคำนำหน้านั้นมาจากชื่อราศีที่ปรากฏในช่วงเวลานั้นๆ เป็นวิธีนำคำ 2 คำมา "สมาส" กัน คำต้นเป็นชื่อราศี คำหลังคือคำว่า "อาคม" และ "อายน" แปลว่า "การมาถึง"


อีกทั้งกำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ของไทย คือเดือนเมษายน เดือน 4 ทางสุริยคติ แต่เป็นเดือน 5 ทางจันทรคติ ใช้มาจนถึง พ.ศ. 2483 จากนั้นวันที่ 1 มกราคม 2484 จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากลนิยมปีแรกของไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 และทรงใช้คำว่า "ปฏิทิน" แทน "ประติทิน" มาโดยตลอด ลงไว้ในประกาศวิธีนับวัน เดือน ปี ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455


สำหรับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้นี้ ในหนังสือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ โดยวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย บอกเล่าไว้อย่างละเอียด แต่ขอสรุปมาเล่าต่ออย่างคร่าวๆ คือทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา โดยทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 42 ในรัชกาลที่ 4 ส่วนสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา นั้นเดิมคือเจ้าจอมมารดาเปี่ยม เกิดในสกุลสุจริตกุล เป็นธิดาของหลวงอาสาสำแดง และท้าวสุจริตธำรง (นาค) ซึ่งเป็นต้นราชนิกุล "สุจริตกุล" ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าคุณจอมมารดาในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้รับสถาปนาพระอัฐิเป็น "สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา" ในรัชกาลที่ 6


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงมีพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงษ" ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน ปีมะเมีย พ.ศ. 2401 เมื่อทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาแรกเริ่มเยี่ยงลูกหลานเจ้านายทั่วไป โดยศึกษาขั้นต้นเขียน อ่านภาษาไทยในสำนัก พระองค์เจ้าหญิงมณี และพระองค์เจ้าหญิงกฤษณา (พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 3) ทรงศึกษาภาษามคธ แล้วเข้าชั้นมัธยมศึกษาในสำนัก พระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) จนกระทั่งโสกันต์ จึงผนวชเป็นสามเณร ไปประทับอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเล่าเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นภายในกรมทหารมหาดเล็ก ในพระบรมมหาราชวัง กระทั่งลาผนวช และเข้ารับราชการ
 

สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงมีคุณูปการอย่างล้นเหลือต่อชาติบ้านเมือง ทรงบริหารราชการแผ่นดินถึง 3 รัชกาล จากรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 ด้วยพระปรีชาสามารถ สุขุมคัมภีรภาพ ทรงเป็นแบบฉบับแห่งข้าแผ่นดินผู้เทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์ไว้ตลอดพระชนม์ชีพ


ทรงเป็นพระบิดาแห่งการต่างประเทศของไทย ทรงดำรงหลายตำแหน่งที่สำคัญทางราชการ และทรงมีบทบาทสำคัญด้านการทูต เป็นผู้เจรจาข้อพิพาทกับฝรั่งเศส ครั้งวิกฤต ร.ศ. 112 ทรงมีพระอัจฉริยภาพในงานพระนิพนธ์หนังสือหลายเล่ม


เพื่อเป็นการสดุดีและถวายพระเกียรติคุณ สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้บูรณะตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ ไว้เป็นมรดกทางด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์แก่แผ่นดินและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย


 จากบทความเรื่อง "กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้ตั้งชื่อเดือนของไทย" โดย สุชาฎา ประพันธ์วงศ์





แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement