บันได...อย่างไรดี


บันได ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญภายในบ้าน ทำหน้าที่เชื่อม พื้นที่ชั้นต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ ยังถือเป็นทางสัญจรใน แนวตั้งรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถออกแบบให้เป็นบริเวณที่ช่วยถ่ายเทอากาศ นำแสงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาสู่ตัวบ้านได้ บันไดนับเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งภายในบ้านในเรื่องของการจัดวางทีเดียว คำถามน่าสนใจก็คือว่า แล้วบันไดแบบไหนล่ะ ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นบันไดที่ดี เหมาะสมที่สุดสำหรับการใช้งานภายในตัวบ้าน

นาวิน เมธนาวิน สถาปนิกอิสระ บอกว่า บันไดที่ดีต้องสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมตามที่ผู้ใช้งานต้องการ มีความสะดวกสบายในการใช้งาน อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนภายในบ้าน มีความปลอดภัยแสงสว่างส่องถึง ใช้วัสดุที่เหมาะสม มีการใช้งานที่ยาวนาน รวมไปถึงความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นทางรูปทรงหรือการประดับตกแต่ง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มคุณค่าทางจิตใจของผู้อยู่อาศัยอีกด้วย

สำหรับการออกแบบบันไดภายในบ้าน ขั้นตอนแรกต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก่อน เช่น รูปทรงของบ้านและพื้นที่ใช้งาน วัสดุที่จะนำมาใช้ รูปแบบของบันไดที่จะสร้าง การวางตำแหน่งบันได รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ฮวงจุ้ย เป็นต้น

รูปทรงของบ้านหรือพื้นที่ใช้งาน

สิ่งที่ควรพิจารณาคือ หน้ากว้างหน้ายาวของบ้าน ความสูงซึ่งสัมพันธ์กับการวางชานพัก การสัญจรของคนภายในบ้าน แสงสว่างซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับความปลอดภัย รวมไปถึงข้าวของต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ซึ่งอาจกีดขวางการสัญจรได้

เลือกวัสดุให้เหมาะ

วัสดุแต่ละประเภทจะให้ความรู้สึกและรูปแบบโครงสร้างที่แตกต่างกัน เช่น บันไดไม้ เหมาะกับใช้ภายในบ้าน ซึ่งหากต้องการอารมณ์ความรู้สึกแบบธรรมชาติของไม้ภายนอกอาคาร ก็สามารถเลือกวัสดุที่ทำผิวสัมผัสคล้ายไม้ทดแทนกันได้ เช่น พลาสติก หรือแผ่นไม้เทียม ขณะที่บันไดเหล็กนิยมในงานที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก ติดตั้งรวดเร็ว แต่จะมีปัญหาเรื่องเสียง บันไดคอนกรีตสามารถทำได้หลายประเภท เช่น งานขัดมัน ทรายล้าง หรือคอนกรีตเปลือย ข้อดีก็คือ ทำความสะอาดง่าย และมีอายุการใช้งานยาวนาน

รูปแบบบันได

ควรเลือกให้สัมพันธ์กันกับพื้นที่ใช้งาน ถ้าหากบ้านแคบก็ใช้บันไดทางตรง หรือถ้าต้องการบันไดแบบชั่วคราวในพื้นที่ที่ไม่สูงมาก ก็อาจจะใช้บันไดลิง เป็นต้น

ประเภทบันไดมีมากมายหลายประเภท อาทิ บันไดทางตรง (Straight-Run Stair) เป็นบันไดแบบทางตรง ไม่มีการเลี้ยวหรือโค้ง เหมาะกับบ้านที่มีหน้าแคบแต่ทรงยาว และสามารถใช้โครงสร้างให้เป็นประโยชน์ได้ เช่น เป็น Built-in ตู้วางหนังสือ

บันไดแบบหักฉาก (Quarter-Turn Stair) เป็นบันไดแบบรูปตัว L เลียวเป็นมุมฉาก 90 องศา ความยาวบันไดช่วงต้นกับช่วงปลายจะเท่ากันหรือไม่ก็ได้ บันไดแบบหักกลับ (Half-Turn Stair) เป็นบันไดแบบหักกลับ 180 องศา จะพบเห็นได้ในบ้านส่วนใหญ่ เหมาะกับบ้านที่มีลักษณะพื้นที่ในชั้นต่างที่คล้ายคลึงกัน

บันไดเวียนแบบหักฉาก (Winding Stair) จะคล้ายบันไดแบบหักฉาก แต่บริเวณชานพักจะใช้ขั้นบันไดรูปลิ่มแทน ซึ่งจะช่วยประหยัดเนื้อที่ในการเพิ่มความสูงของบันไดได้ แต่ตัวขั้นบันไดอาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้งานได้เนื่องจากเป็นรูปลิ่ม เหมาะกับบ้านที่ต้องการความต่อเนื่องของพื้นที่ในการใช้บันได เนื่องจากไม่มีชานพัก และรูปทรงของบันไดเอื้ออำนวยต่อการใช้งานพื้นที่ได้อิสระกว่าบันไดแบบอื่น

บันไดแบบโค้งวงกลม (Circular Stair) เป็นบันไดแบบโค้งวงกลมเมื่อมองจากด้านบน เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นบันไดที่มีการเปิดมุมมองให้ผู้เดินเห็นพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้านได้มากที่สุด เหมาะกับบ้านที่มีการประดับตกแต่ง หรูหรา หรืองานพิธีการที่ต้องการให้เป็นจุดสนใจ เช่น พิธีวิวาห์ในบ้าน

บันไดแบบเกลียว (Spiral Stair) เป็นบันไดเวียน ซึ่งเหมาะกับบ้านที่ต้องการประหยัดพื้นที่ใช้สอยในการใช้บันได อาจใช้เป็นบันไดรองตามพื้นที่เฉพาะจุด และบันไดลิง (Ladders) ส่วนใหญ่ใช้ในงานก่อสร้าง แต่อาจนำมาใช้ในพื้นที่บ้านบางจุดได้ เช่น ส่วนเชื่อมต่อที่ไม่สูงนัก หรือส่วนที่มีพื้นที่จำกัด

“บันไดไม่ควรสร้างให้มีลักษณะโปร่ง คือมองเห็นขั้นบันไดชัดเจน บันไดมักนิยมให้ตกจำนวนขั้นเป็นเลขคี่ เนื่องจากการวางเท้าหลักจะพอดีและสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว ลักษณะบันไดภายในบ้านไม่ควรโปร่งมาก ซึ่งจะทำให้โป๊ได้ ขั้นบันไดควรจะมีความกว้างพอให้เหยียบได้เต็มเท้า เพื่อความสะดวกสบาย และความปลอดภัย ควรมีราวจับเพื่อความปลอดภัย ไม่ควรใส่กระจกบริเวณการขึ้น-ลงบันได เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เนื่องจากเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจในการสัญจร” สถาปนิกหนุ่มแนะนำ

การวางตำแหน่งบันไดและอื่นๆ

บันไดบ้านที่ดีไม่ควรอยู่ในตำแหน่งที่เปิดประตูบ้านเข้ามาแล้วมองเห็นเลย หรืออยู่นอกบ้านมองเข้าไปก็เห็นบันได อย่าสร้างบันไดไว้ใจกลางบ้าน เนื่องจากจะสร้างความวุ่นวายในการสัญจร และในบ้านพักอาศัยไม่ควรมีบันไดขึ้นลงสองทางพร้อมๆ กัน เนื่องจากนอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองแล้ว ผู้อาศัยจะสับสนด้วย การทำบันไดขึ้นลงหลายๆ ทาง เหมาะแก่อาคารสาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า มากกว่า

บันไดควรอยู่ชิดด้านใดด้านหนึ่งของตัวบ้าน และมีแนวกำแพงหรือฉากมาบังบันไดไม่ให้คนภายนอกบ้านเห็นบันได เพื่อแยกแยะเรื่องส่วนตัวกับเรื่องภายนอก

นาวิน บอกต่อว่า การสร้างบันไดควรใช้สอยพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด คือ รูปแบบของบันไดและความต้องการของการใช้งาน ถ้าสามารถเลือกให้เข้ากันได้ก็จะสามารถใช้ประโยชน์ใช้สอยได้ตามความต้องการ เช่น บ้านที่ประกอบอาชีพค้าขาย ก็อาจเลือกใช้บันไดหน้ากว้างเพื่อประโยชน์ในการขนสินค้า และใช้วัสดุที่ทำความสะอาดง่าย เช่น คอนกรีต อาจเจาะช่องเปิดเพื่อให้แสงสว่างส่องถึง เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ส่วนที่สองคือการเพิ่มรูปแบบการใช้งานให้พื้นที่บันได เช่น การใช้โครงสร้างเป็นตู้หนังสือ ขั้นบันไดลูกตั้งเปิดเป็นลิ้นชักเก็บรองเท้า ผนังส่วนบันไดก็อาจตกแต่งเป็นมุมพักผ่อน

สำหรับพื้นที่ใต้บันได อาจจะแบ่งไว้สำหรับทำเป็นห้องเก็บของ ก็เป็นการใช้พื้นที่อย่างฉลาด ในการเก็บของกระจุกกระจิก แต่ถ้าหากว่าจัดให้ดีๆ ก็สามารถทำที่เก็บกระเป๋าและเสื้อผ้า หรือถ้าหากว่าเรามีเนื้อที่เก็บของสำหรับพวกนี้พอเพียงแล้ว พื้นที่บริเวณนี้ไม่ควรปล่อยว่างไว้เฉยๆ เราสามารถทำเป็นที่เก็บของอื่นๆ ได้ เช่น ถังแก๊ส ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า หรือเก็บเตารีด ที่รองรีด ชั้นวางรองเท้า อุปกรณ์ทำความสะอาด หรือกระทั่งอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในบ้าน หรืออะไรอีกจิปาถะ

หลายๆ บ้านที่มีพื้นที่จำกัด โถงกลางภายในบ้านชั้นบนที่เชื่อมต่อห้องนอนต่างๆ อาจจะเล็กแคบและดูอึดอัดจนเกินไป ดังนั้นการที่โถงบันไดมีช่องหน้าต่าง หรือกระจกกว้างๆ รวมทั้งมีโคมไฟสำหรับให้ความสว่างในเวลากลางคืนอย่างเพียงพอ นอกจากจะช่วยนำแสงเข้าบ้านแล้ว ยังช่วยให้ทางเดินแคบๆ ไม่ดูอึดอัดจนเกินไปนัก ที่สำคัญเพิ่มความปลอดภัยให้กับช่องทางเดินตรงบันไดได้เป็นอย่างดี

ทั้งหมดนี้เป็นเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับบันได ซึ่งหลายๆ คนอาจจะมองข้ามไป

รายงานโดย :เรื่อง อินทรชัย พาณิชกุล:

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement