การแท้งบุตร


ตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก การแท้งบุตรคือการสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ หรือเมื่อเด็กมีน้ำหนักต่ำกว่า 1,000 กรัม การที่ใช้น้ำหนัก 1,000 กรัมเป็นเกณฑ์เพราะเราถือว่า โดยทั่วไปเด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 1,000 กรัมจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หลักเกณฑ์ของการแท้งบุตรอาจแตกต่างจากนี้ เพราะเขาสามารถเลี้ยงเด็กให้รอดได้ตั้งแต่เด็กมีน้ำหนักเพียง 500 กรัม ซึ่งเท่ากับการตั้งครรภ์เพียง 20 สัปดาห์ ดังนั้นการแท้งบุตรของเขาจึงหมายถึงการสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ก่อนครรภ์อายุ 20 สัปดาห์ หรือเมื่อเด็กมีน้ำหนักต่ำกว่า 500 กรัม

การแท้งบุตรแบ่งออกเป็น 2 จำพวก คือ การแท้งเอง และการแท้งจากการกระทำหรือการทำแท้ง ซึ่งอาจกระทำเพื่อการรักษาหรือกระทำโดยผิดกฎหมาย
 
การแท้งบุตรอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

อุบัติการณ์ของการแท้งบุตรเองเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 20 - 30 ของการตั้งครรภ์ แต่อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะบอกตัวเลขได้แน่นอน เพราะว่าถ้ามีการตกเลือดหลังจากประจำเดือนขาดไปเพียง 2 - 3 สัปดาห์ อาจบอกได้ยากว่าเป็นการแท้งบุตร การแท้งเองตามธรรมชาติร้อยละ 80 เกิดในระหว่างเดือนที่ 2 และที่ 3 ของการตั้งครรภ์ และการแท้งบุตรระยะนี้ทั้งเด็กและรกจะออกมาพร้อมกันแต่ถ้าการแท้งบุตรเกิดในระยะหลัง 12 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ไปแล้วกระบวนการก็เหมือนการคลอด คือจะมีอาการปวดท้อง ถุงน้ำทูนหัวแตก แล้วทารกก็คลอด 
 
การแท้งบุตรเป็นกระบวนการ
การแท้งบุตรจะเริ่มโดยมีเลือดออกทางช่องคลอด เพราะรกลอกตัวจากผนังมดลูก มีอาการปวดท้องหรือปวดหลังเนื่องจากมดลูกรัดตัว ปากมดลูกเปิด และเด็กกับรกจะถูกขับออกมา การแท้งบุตรตามธรรมชาติมีลักษณะทางคลินิกหลายอย่าง ขึ้นกับระยะของกระบวนการแท้งบุตร ได้แก่

- "การแท้งคุกคาม" (Threaten abortion) หมายถึง มีการตกเลือดและปวดท้องเพราะมดลูกรัดตัว แต่ปากมดลูกยังไม่เปิด และเด็กยังไม่ออกจากมดลูก

- "การแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้" (Inevitable  abortion) คือระยะหลังจากมีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้อง และปากมดลูกเริ่มเปิด ทำให้การแท้งจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

- "การแท้งครบ" (Complete abortion) คือ กระบวนการที่กล่าวข้างต้นร่วมกับที่เด็กและรกถูกขับออกมาด้วย แต่ถ้าเด็กออกมาโดยที่รกยังค้างอยู่ เรียกว่า "การแท้งไม่ครบ" (Incomplete abortion) หรือกรณีที่ทารกตายในครรภ์ แต่ไม่ถูกขับออกมาก็เรียกว่า "การแท้งค้าง" (Missed abortion)

ในบางครั้งอาจมีสภาวะแทรกซ้อนของการแท้งบุตรเกิดขึ้น เช่น การติดเชื้อ จึงเรียกว่า "การแท้งติดเชื้อ" ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่มีการทำแท้งโดยผิดกฎหมาย (Criminal abortion) และหญิงบางคนอาจแท้งบุตรติดต่อกันถึง 3 ครั้งขึ้นไป เรียกว่า "การแท้งเป็นอาจิณ" หรือ "การแท้งเป็นนิสัย" (Habitual abortion) 
 
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแท้งบุตร
การแท้งบุตรอาจเกิดจากการที่เด็กเสียชีวิตหรือมีการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์เนื่องจากมีความผิดปกติในตัวเด็ก เช่น มีความผิดปกติของโครโมโซม หรือมีความพิการ บางครั้งเด็กอาจได้รับเลือดมาหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากการที่รกทำงานไม่ดี หรือจากความผิดปกติของสายสะดือ เช่น สายสะดือพันกันหรือผูกเป็นปมรวมทั้งการที่บางส่วนของรกลอกตัวจากผนังมดลูก ก็ทำให้เลือดมาเลี้ยงทารกน้อยลง

บางกรณีเลือดแม่กับเลือดลูกอาจเข้ากันไม่ได้ หรือเด็กได้รับสารมีพิษหรือยาบางอย่าง เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ก็อาจทำให้เกิดการแท้งได้

การอักเสบ โดยเฉพาะจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อซิฟิลิส เชื้อท็อกโซพลาสมา (Toxoplasma) และไวรัส รวมทั้งการที่แม่มีไข้สูง ก็อาจทำให้ทารกเสียชีวิต โรคเบาหวานและโรคของต่อมไทรอยด์ก็อาจทำให้แท้งบุตรได้เช่นกัน

ความผิดปกติที่มีมดลูก หรือการที่แม่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเตรียมมดลูกให้พร้อมที่จะรับการตั้งครรภ์ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้มดลูกรัดตัว เช่น การตกใจอุบัติเหตุหรือได้รับการผ่าตัดก็อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ นอกจากนั้น การที่หูรูดของปากมดลูกไม่แข็งแรงเพราะฉีกขาดจากการคลอดครั้งที่แล้วหรือการขูดมดลูก ก็จะทำให้ปากมดลูกเปิดอ้า ไม่สามารถเก็บทารกไว้ภายในได้

สำหรับการแท้งเป็นอาจิณหรือการแท้งเป็นนิสัยเกิดจากระดับฮอร์โมนเพศต่ำ การติดเชื้อ เช่น เชื้อซิฟิลิสหรือท็อกโซพลาสมาเลือดแม่กับเลือดลูกเข้ากันไม่ได้ ความผิดปกติของมดลูกแต่กำเนิดหรือรูรูดของปากมดลูกฉีกขาด

เนื่องจากสาเหตุของการแท้งบุตรมีมากมายดังที่กล่าวแล้ว และการแท้งบุตรในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากหลายปัจจัย ดังนั้นถ้าไม่มีการตรวจเป็นพิเศษ เรามักจะไม่ทราบสาเหตุของการแท้งบุตรที่แท้จริงในผู้ป่วยแต่ละราย 
 
การรักษาแตกต่างกันตามประเภทของการแท้งบุตร
วิธีการรักษาขึ้นกับระยะของการแท้งบุตร ในกรณีที่มีการแท้งคุกคาม หญิงมีครรภ์จะต้องพักและได้รับการรักษาด้วยยาที่ทำให้มดลูกคลายตัว รวมทั้งอาจต้องใช้ยากล่อมประสาทร่วมด้วย การร่วมเพศในระยะนี้จำเป็นต้องงดชั่วคราว เพราะอาจกระทบกระเทือนต่อมดลูก และในระหว่างการรักษาต้องตรวจปัสสาวะเป็นระยะๆ เพื่อดูว่าการตั้งครรภ์ยังดำเนินไปด้วยดีหรือไม่ การรักษาด้วยยาฮอร์โมนชนิดฉีดอาจช่วยให้การแท้งคุกคามดีขึ้นและการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปได้

ในกรณีที่ปากมดลูกและถุงน้ำทูนหัวแตกแล้ว มดลูกจะรัดตัวเพื่อขับเด็กออกมา ซึ่งเรียกว่า "การแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้" การรักษาในระยะนี้จำเป็นต้องใช้ยาเร่งมดลูกให้ขับเด็กออกมาและขูดมดลูกเสีย เพราะถ้าทิ้งไว้ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดและตกเลือด การขูดมดลูกอย่างรีบด่วน เพราะถ้าภายในมดลูกยังมีเศษของรกติดค้างอยู่ อาการตกเลือดจะไม่ดีขึ้น ทั้งยังอาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อตามมาอีกด้วย

ส่วนกรณีที่เป็น "แท้งค้าง" เมื่อวินิจฉัยแน่นอนว่าทารกในครรภ์เสียชีวิตแล้วจากการตรวจการเต้นของหัวใจเด็กด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวนด์) แพทย์ก็จะขูดมดลูกให้โดยเร็วเช่นกัน เพื่อป้องกันปัญหาแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ถ้าการแท้งบุตรเกิดจากหูรูดของปากมดลูกไม่สมบูรณ์ แพทย์จะผ่าตัดเย็บปากมดลูกเพื่อเสริมให้หูรูดแข็งแรงและเก็บทารกไว้ได้ เมื่อครรภ์ใกล้ครบกำหนด แพทย์จึงจะตัดไหมหรือด้ายที่ผูกนั้นออก เพื่อให้การเจ็บครรภ์และการคลอดดำเนินไปตามปกติ

ลูกเป็นสิ่งมีค่าสูงสุดของพ่อแม่ การแท้งบุตรจึงเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของมนุษย์ นอกจากนั้นการแท้งยังมีผลกระทบต่อสุขภาพ หญิงมีครรภ์จึงควรศึกษาและทำความเข้าใจปรากฎการณ์นี้ให้ถ่องแท้ เพื่อจะสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Quiz


Advertisement