วันนั้นของเดือนมาทีไร เป็นหงุดหงิดใส่เขาได้ทุกที
แม้กระทั่งเพื่อนสาวคนสนิทเพศเดียวกันแท้ๆ ก็ยังไม่เข้าใจ อย่าว่าแต่คนอื่นเลย บางทีเราก็ยังไม่เข้าใจตัวเองก็มีเหมือนกัน รู้อย่างเดียวฉันอารมณ์เสีย แต่ลืมคิดถึงสาเหตุและลืมที่จะแก้ปัญหา ปล่อยให้กลายเป็นความเคยชินไปเสียอย่างนั้น แต่งานนี้ขอเตือนว่า คนอื่นไม่ชินกับการอยู่ใกล้ๆ คนอารมณ์เสียนะคะ ดังนั้นเรามาขจัดปัญหาของอารมณ์เสียแห่งรอบเดือนกันดีกว่า
ต้นเหตุ...สวยอารมณ์เสีย
จากการสำรวจของสวนดุสิตโพลที่ทำการสำรวจกลุ่มนิสิต นักศึกษา และสตรีวัยทำงาน ที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี ในกรุงเทพฯ 503 คน และต่างจังหวัด 554 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,057 คน ระหว่างวันที่ 5-23 มี.ค. ที่ผ่านมา ในหัวข้อ ภาวะทางอารมณ์และประสบการณ์เกี่ยวกับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนในสตรี พบว่าผู้หญิงจำนวนมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ต้องประสบกับภาวะทางอารมณ์ ทั้งอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด เครียด ซึมเศร้า ที่มาพร้อมกับอาการทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นตึงคัดเต้านม ปวดศีรษะ ท้องอืด อยากอาหารมากกว่าปกติอยู่เป็นประจำทุกเดือน โดยไม่รู้ว่าอาการเหล่านั้นคือ กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรือ PMS (Premenstrual Syndrome)
บางคนอาจจะมีอาการเพียงเล็กน้อยพอรำคาญ แต่ยังสามารถดำเนินกิจกรรมตามปกติในชีวิตได้ แต่บางคนอาจต้องทนทุกข์ทรมาน ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ จนถึงขั้นต้องพึ่งหมอ ซึ่งอาการก่อนมีประจำเดือนขั้นรุนแรงนี้เรียกว่า PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder)
นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนา สตรีไทยห่างไกลวิกฤตทางอารมณ์ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันกับ 24/4 ที่จัดขึ้นโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และไบเออร์ เชริง ฟาร์มา ว่า กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) คือ อาการทางกายและใจที่เกิดกับผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ในช่วงเวลา 5-10 วัน ก่อนมีประจำเดือน และอาการจะดีขึ้นและหายไปหลังจากประจำเดือนมาแล้ว
สาเหตุของการเกิด PMS ยังไม่ทราบกันแน่ชัด แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานว่า อาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนเพศในระหว่างรอบประจำเดือน ความรุนแรงของอาการแต่ละคนขึ้นอยู่กับหลายสาเหตุ เช่น ลักษณะการใช้ชีวิต ความเครียด และกรรมพันธุ์ โดยอาการหลักๆ ที่มักเป็นกันมาก เช่น คัดตึงเต้านม แขนหรือขาบวม ปวดศีรษะ ไมเกรน ท้องอืด น้ำหนักขึ้น อยากอาหารมากกว่าปกติ นอนไม่หลับ หรือนอนมากกว่าปกติ หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ขาดสมาธิ เครียด วิตกกังวล
ส่วนกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนชนิดรุนแรง (PMDD) เป็นกลุ่มอาการที่มีความรุนแรงมากกว่า PMS โดยความรุนแรงอาจมีผลเสียต่อการใช้ชีวิตของผู้ที่มีอาการเป็นอย่างมาก และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษา
เข้าใจอารมณ์ในรอบเดือน
หากเป็น PMS จริงก็ไม่ต้องตกใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตช่วยได้ เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ฝึกสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบ พักผ่อนให้เพียงพอ บริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงความเครียดในชีวิตประจำวัน หรือใช้ผลิตภัณฑ์ปรับสมดุลที่ช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน แต่ผู้มีอาการก่อนมีประจำเดือนควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ แนะนำว่า ผู้หญิงควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องภาวะทางอารมณ์ที่อาจมาจากอาการก่อนมีประจำเดือน เพราะอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย เพราะร่างกายจะหลั่งสารแห่งความเครียด ทำให้นอนไม่หลับ ปวดเกร็งตามท้ายทอย หัวไหล่ เพราะกล้ามเนื้อเกร็งตัว กระทบต่อการทำงาน เพราะไม่มีสมาธิ ทำให้การงานล่าช้าหรือบกพร่อง กระทบต่อความสัมพันธ์ ทั้งเพื่อนร่วมงานและสมาชิกในครอบครัว เพราะอารมณ์รุนแรงจะแสดงออกมาทางการสื่อสาร ทำให้คนรอบข้างเครียดไปด้วย ทำให้เป็นคนไม่น่ารัก ไม่มีเสน่ห์ ไม่มีคนอยากอยู่ใกล้ หากมีอาการผิดปกติกับตนเองควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกวิธี
โยคะ เพื่อผู้หญิงอารมณ์สวย
ท่าโยคะง่ายๆ สำหรับผู้เริ่มฝึก ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติเองที่บ้านได้ อุปกรณ์สำหรับการฝึกก็หาง่าย เช่น เก้าอี้ บล็อก และเข็มขัดยืด ควรฝึกเป็นประจำสม่ำเสมอ จะช่วยลดอาการก่อนมีประจำเดือนได้ ทั้งอาการทางร่ายกาย เพราะจะช่วยยืดกล้ามเนื้อ กระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในให้สมบูรณ์มากขึ้น และช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิต ที่สำคัญผู้ฝึกโยคะเป็นประจำสม่ำเสมอจะใจเย็น อารมณ์ผ่อนคลาย ไม่หงุดหงิดง่าย ช่วยลดความเครียด อาการซึมเศร้าให้ผู้หญิงสวยทั้งร่างกายและอารมณ์
ท่านั่งขัดสมาธิ (Easy Pose Sukhasana)
- ฝึกการหายใจ
- เพิ่มสมาธิให้มากขึ้น เพราะช่วงก่อนมีประจำเดือนผู้หญิงหลายคนจะไม่มีสมาธิ
- ช่วยให้รู้สึกปลอดโปร่ง คลายเครียด
- หายใจเข้าให้ลึก ช่วยให้ออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้มากขึ้น หายใจออกให้หมด ช่วยนำอากาศเสียออกจากปอด
ท่าผีเสื้อ (Buddha Konasana)
- กระตุ้นอวัยวะในช่องท้อง รวมถึงรังไข่
- ยืดกล้ามเนื้อต้นขา เข่า
- ลดอาการเครียดและซึมเศร้า
- ลดอาการปวดประจำเดือน
ท่านั่งเหยียดขาตรงด้านหน้า (Dandasana)
- ช่วยยืดกล้ามเนื้อขาลำตัวและหลัง
- ลดอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดหลัง
- ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
ท่าสะพานเตี้ย (Setu Bandha)
- เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง หน้าท้อง และคอ
- ลดความเครียดและอาการซึมเศร้า
- กระตุ้นอวัยวะภายใน
- ช่วยระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้น
- ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน
ท่านั่งขัดสมาธิก้มตัว (Adho Mukha Sukhasana)
- ลดอาการเครียดและลดอาการซึมเศร้า
- ยืดกล้ามเนื้อหลัง ไหล่และกล้ามเนื้อต้นขา
- กระตุ้นอวัยวะภายในช่องท้อง
- ลดอาการปวดประจำเดือนและอาการวัยทอง
- ช่วยลดความดันโลหิต โรคนอนไม่หลับ