ปอดบวม โรคเสี่ยงติดเชื้อหวัด 2009


ตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วทุกมุมโลกในขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดนิ่ง ‘ภาษาหมอ’ วันนี้จึงขอหยิบยกโรคที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาเล่าสู่กันฟัง หนึ่งในนั้นคือ “โรคปอดบวม”

โรคปอดบวม หรือ Pneumonia เกิดจากภาวะการอักเสบของปอดที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อไวรัส (ส่วนใหญ่จะล่องลอยปะปนอยู่กับฝุ่นละอองในอากาศที่หายใจเข้าไป) หรือเชื้อแบคทีเรีย (ที่อยู่ในลำคอร่วงหล่นไปในถุงลมปอด ทำให้เกิดการอักเสบในเนื้อปอด) แต่ในสภาวะที่ผิดปกติอาจเกิดจากเชื้อราหรือหนอนพยาธิก็ได้ เมื่อผู้ป่วยเป็นปอดบวมก็จะมีหนองและสารน้ำอย่างอื่นในถุงลม ทำให้ร่างกายไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้ตามปกติ ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะขาดออกซิเจนและอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิต

แล้วเนื้อปอดอยู่ตรงไหน?  จุดเริ่มต้น เริ่มจากอากาศที่หายใจเข้าไปผ่านจมูก เข้าสู่กล่องเสียง เข้าสู่หลอดลมใหญ่แล้วไหลเรื่อยไปยังหลอดลมเล็ก เข้าสู่ถุงลมปอด ที่ถุงลมนี้เองจะเรียกรวม ๆ ว่า เนื้อปอด ส่วนการติดต่อเกิดขึ้นจากการหายใจเอาเชื้อโรคที่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป หลังจากได้รับเชื้ออาจจะเกิดอาการภายใน 1-3 วัน การไอ จาม รดกันก็ติดต่อ บางรายอาจได้จากการกินน้ำแก้วเดียวกัน หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน ที่สำคัญคือการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นปอดบวม
   
หากติดเชื้อ จะพบอาการมีไข้สูง ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก มีเสมหะใสเหนียว เสมหะข้นหรืออาจมีเลือดปนออกมา ซึ่งอาการทั้งหมดจะเกิดขึ้นโดยเร็ว ในเด็กเล็กอาจมีอาการไอเพียงเล็กน้อย ส่วนมากจะตัวร้อนจัด หายใจหอบจนซี่โครงบุ๋มและมีประวัติเป็นไข้หวัดมาก่อน วิธีการสังเกตุว่าเด็กหายใจเร็วหรือไม่ ให้นับอัตราการหายใจของเด็กขณะนอนหลับ โดยนับ 1 เมื่อหน้าอกเคลื่อนขึ้นลง 1 ครั้ง ในเด็กเล็กถ้าพบว่ามีการหายใจมากกว่า 40 ครั้ง หรือในเด็กโตหายใจมากกว่า 30 ครั้ง หรือพบว่ามีการหอบร่วมไปกับการหดตัวเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกหรือใต้ลิ้นปี่ ให้รีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลทันที
   
ผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ได้แก่ เด็กอายุน้อย โดยเฉพาะในขวบปีแรก, เด็กน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย หรือเด็กขาดสารอาหาร, เด็กที่มีความพิการ โดยเฉพาะหัวใจพิการแต่กำเนิด, ผู้ใหญ่ที่ร่างกายอ่อนแอ และกรณีที่เข้ารับการรักษาช้าไป  โรคแทรกซ้อนที่พบ น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด, หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด, ปอดแตกและมีลมในช่องปอด, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และหัวใจวาย

การรักษาของแพทย์

1. ผู้ป่วยที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาจไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ต้องกระตุ้นให้ดื่มน้ำมาก ๆ วัดไข้วันละ 2-3 ครั้ง รับประทานยาตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด ห้ามซื้อยาแก้ไอมารับประทานเอง ให้คอยตรวจดูริมฝีปากและเล็บว่ายังคงสีชมพูอยู่หรือไม่ หากมีสีคล้ำควรรีบพบแพทย์

2. ผู้ป่วยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรืออาการเป็นมาก เช่น ไข้สูง หอบมาก ไอมาก แพทย์จะให้นอนโรงพยาบาลและตรวจเลือด เพื่อพิจารณาการให้ยาปฏิชีวินะ ออกซิเจน และสารน้ำทางหลอดเลือด

3. อาการอื่น ๆ ที่ตรวจพบ เช่นมีไข้ แพทย์จะพิจารณาใช้ยาลดไข้เฉพาะเวลาตัวร้อนห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ส่วนอาการไอนั้น ในโรคปอดบวมจะไอได้มากกว่าโรคหวัด ยาที่กินอาจเป็นยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ยายขยายหลอดลมเพิ่ม แต่ห้ามกินยากดไม่ให้ไอหรือยาแก้แพ้ หรือยาแก้ไอสำเร็จรูปที่มีตัวยาตั้งแต่สามชนิดขึ้นไป เพราะแทนที่จะมีประโยชน์อาจเป็นโทษ เช่น ทำให้เด็กไอไม่ออก เสมหะที่มีมากอาจตกเข้าไปค้างในหลอดลมทำให้ปอดแฟบได้

ทำอย่างไรให้ไกลโรค? หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวม หลีกเลี่ยงมลภาวะเป็นพิษ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันท่อไอเสียรถยนต์ และหมอกควันในอากาศ ในเด็กอ่อนต้องไม่ให้สัมผัสกับความหนาวเย็น ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์และฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามความเหมาะสม

โรคปวดบวมแม้ว่าจะน่ากลัว แต่ก็สามารถป้องกันได้ เพียงใส่ใจดูแลตัวเอง

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement