ร้อยความเชื่อหลักการ 'ตั้งชื่อ'


เสริมมงคลชีวิตไม่เท่าประพฤติดี!?

"...คนชื่อเฮง มากมีก็ยังซวย คนชื่อสวย ยังบ่งามเลยนี่ คนชื่อรวย ฮ่วยเงินบ่มี คนชื่อดี ยัง  บ้า บ้า บ๊อง บ๊อง...” ส่วนหนึ่งของบทเพลงนี้อาจทำให้ฉุกคิดได้ว่า “ชื่อ” บ่งบอกอะไรได้มากมายหลายอย่าง บางคนก็เป็นอย่างที่บทเพลงกล่าวถึง แต่บางคนกลับเป็นไปตามชื่อของตนอย่างไม่น่าเชื่อ!! อย่างที่โบราณกล่าวไว้ว่า “เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง”
   
คงไม่มีใครอยากตั้งชื่อที่ไม่เป็นมงคลให้กับตนเองหรือคนที่คุณรัก ส่วนใหญ่ล้วนปรารถนาในชื่อที่มีความหมายที่ดี นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง มั่งมี ศรีสุข ให้กับชีวิตกันทั้งนั้น
   
ความเชื่อเรื่องการตั้งชื่อเกิดขึ้นในสังคมของมนุษย์มานับร้อย ๆ ปีแล้ว เพราะคนเราทุกคนจำเป็นต้องมีชื่อหรือนามใช้เรียกขาน สื่อสารกับผู้อื่นเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าใครติดต่อกับใคร หรือว่ากำลังพูดกับใครอยู่ เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
   
“ชีวิตของคนไทยมีความผูกพันกับการตั้งชื่อมายาวนาน เริ่มตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย เพราะเป็นช่วงที่คนไทยเริ่มมีการรวมตัวกันเป็นชาติและที่สำคัญพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมาโดยการนำรูปแบบมาจากอักษรขอมโบราณ” อ.คฑา ชินบัญชร เกริ่นเข้าเรื่อง
   
หลักการตั้งชื่อก็เพื่อความเป็นสิริมงคล มีความหมายที่ดี เช่น อัจฉรา แปลว่า นางฟ้า หรือ ศักดา แปลว่า ผู้สูงศักดิ์ เป็นการตั้งชื่อตามความหมาย รวมไปถึงศักดินาต่าง ๆ ราชทินนาม หรือนามที่ได้รับพระราชทานของเจ้าพระยา พระยา หมื่น กรม ก็เช่นเดียวกัน
   
มาในสมัยกรุงศรีอยุธยา รูปแบบที่นิยมตั้งชื่อมีอยู่ 3 ลักษณะ ด้วยกัน แบบแรกยังเป็นการตั้งชื่อ โดยมีความหมายที่ดี ส่วนแบบที่ 2 คือ การตั้งชื่อโดยการแก้ดวง หรือการตั้งเสริมดวง เช่น เมื่อตรวจดวงชะตาแล้วคนนั้นอายุสั้นจะตั้งชื่อให้มีอายุยาว เป็นคนอ่อนแอก็ต้อง ตั้งให้เป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง หรือดูจากท่าทางแล้วเป็นคนซนหยาบกระด้างก็จะตั้งชื่อให้มีความหมายเป็นคนสุภาพ ถ้าผู้หญิงที่ดูกระโดกกระเดกจะตั้งชื่อให้แปล ว่าเป็นคนอ่อนช้อย เป็นผู้มีกิริยามารยาทงดงาม สุดท้าย การตั้งชื่อตามอาชีพของพ่อแม่ หรือตามลักษณะของวงศ์ตระกูลของบรรพบุรุษ เช่น พ่อรับราชการเป็นทหาร มีลูกชายก็จะตั้งชื่อว่า กล้าศึก ชาติชาย ฯลฯ
   
โดยในส่วนของการตั้งชื่อในลักษณะแก้ดวงหรือเสริมดวงนั้น ยังแบ่งได้อีกว่า เมื่อตรวจดูดวงชะตาแล้วไม่ดี ก็มักนิยมหาชื่อที่ตรงกันข้ามหรือที่มีความหมายที่แก้ดวงนั้นมาตั้งชื่อ อีกวิธีหนึ่งที่นิยมกัน คือ การเปลี่ยนชื่อโดยใช้หลักตำราทักษาปกรณ์
   
ตำราทักษาปกรณ์ หรือ ตำรามหาทักษา ที่เรียกอีกชื่อว่า อัฏฐเคราะห์ เป็นตำราโบราณมาจากอินเดีย แรกเริ่มนิยมใช้ตั้งฉายาพระสงฆ์เมื่อบวช ตำรานี้ มีหลักอยู่ว่าการตั้งชื่อคนควรให้สอดคล้องกับสิริมงคล 7 อย่าง คือ บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี และหลีกเลี่ยงสิ่งไม่ดี 1 อย่าง คือ กาลกิณี โดยเอาวันเกิดของเจ้าชะตาเป็นหลักในการตั้งชื่อ เช่น วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร เป็นต้น แล้วมากำหนดตัวพยัญชนะ ที่ดีให้กับชื่อ โดยต้องไม่มีตัวกาลกิณี ถ้าเป็นเพศชายควรใช้พยัญชนะในวรรคเดชนำหน้า ถ้าเป็นเพศหญิงควรใช้พยัญชนะวรรคศรีนำหน้าชื่อ
   
“การตั้งชื่อในสมัยก่อนยังเป็นการตั้งชื่อที่มีความหมายที่ดี เรียกง่าย เป็นคำที่ไม่ซับซ้อนเข้าใจง่าย เนื่องจากใน สมัยนั้นประชาชนยังไม่ค่อยมีความรู้ การศึกษายังอยู่เฉพาะในวัดและวังเท่านั้น จึงมักมีพยางค์เดียวหรืออย่างมากก็ไม่เกินสองพยางค์ อย่าง แจ่ม เอี้ยง อิน จัน มั่น หรือทองอิน บุญมา พิกุล ส่วนชื่อยาวที่ไพเราะเพราะพริ้งมาจากภาษาบาลี และสันสกฤต มักเป็นชื่อของเชื้อพระวงศ์ ที่มีบรรดาศักดิ์ เจ้านาย เสียเป็นส่วนใหญ่”
   
จุดมุ่งหมายของการตั้งชื่อเพื่อที่จะทำให้เกิดความมั่นใจ เกิดกำลังใจให้กับตนเอง รวม ทั้งเกิดความมุมานะ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ไปสู่จุดหมายให้สมกับชื่อ ตำราการตั้งชื่อจึงมีการพัฒนาควบคู่กันไปกับการพัฒนาของระบบบริหารราชการแผ่นดิน รวมไปถึงระบบบัญชีรายชื่อต่าง ๆ
   
มาในปัจจุบัน ประชาชนเริ่มมีความรู้มากขึ้น ความนิยมในการเปลี่ยนชื่อจึงมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อมีคนเปลี่ยนชื่อแล้วชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในบางคน จึงเปลี่ยนตามบ้าง ยิ่งถ้าหาก ดารา นักแสดง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงเปลี่ยนชื่อแล้วเห็นได้ชัดเจนว่าดีขึ้น ยิ่งเป็นแรงจูงใจมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงอาจเปลี่ยน เพื่อเอาเคล็ด เปลี่ยนเพื่อให้ฟังง่าย คุ้นหู เรียกง่าย ไม่ได้มีเจตนาอื่น
   
“สมัยนี้พ่อ แม่ นิยมตั้งชื่อที่เป็นมงคล ถูกต้องตามตำรากันตั้งแต่เกิด โดยมีความคิดว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ชื่อ ที่ไพเราะ เป็นมงคล ให้กับลูกที่กำลังจะเกิดมา ทำให้การตั้งชื่อตามหลักทักษาปกรณ์แพร่ หลายมากขึ้นจนมีตำราออกมามากมายอย่างที่เห็นกัน โดยจะสรรหาชื่อที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนคนอื่น มีรูปลักษณ์ทางภาษาที่แปลกหรือมีหลายพยางค์มากกว่าสมัยก่อนที่แสดงลักษณะเด่นของผู้เป็นเจ้าของชื่อ เช่น ออกเสียงแปลก สะกดแปลก เพื่อให้เป็นที่รู้จักและจดจำได้ง่าย สะดุดตา สะดุดหู ทำให้อยากเห็นรูปร่างเจ้าของชื่อ”
   
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่พอใจในชื่อของตนนิยมเปลี่ยนชื่อกัน ซึ่ง ตามกฎหมายพระราชบัญญัติ ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 ทุกคนสามารถเปลี่ยนชื่อได้ไม่มีกำหนดโดยให้เปลี่ยนได้ตลอด แต่ถ้าหากบุคคลนั้นกระทำความผิดแล้ว มาเปลี่ยนชื่อจะทำได้หรือไม่นั้นสมดี คชายั่งยืน ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า สามารถทำได้แต่ถ้านายทะเบียนท้องที่สอบสวนแล้วปรากฏว่า การเปลี่ยนชื่อดังกล่าวเป็นไป โดยเจตนาทุจริตจะใช้ดุลพินิจ ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนได้
   
ถึงแม้จะเปลี่ยนชื่อไปแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนเลขไอดีบุคคล (ID Card) 13 หลัก ที่มีในบัตรประชาชนได้ เพราะคน 1 คนจะมีเลขไอดีบุคคล 13 หลัก เพียงครั้งเดียวคือ ครั้งแรกที่ทำบัตรประจำตัวประชาชน ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อใหม่อีกกี่ครั้ง ทำบัตรหาย หรือจะเป็นบัตรหมดอายุ ไม่ว่าจะกรณีใด ๆ ก็ตาม เมื่อได้บัตรประจำตัวประชาชนใบใหม่มา เลข 13 หลัก ก็จะยังเป็นเลขเดิมอยู่ รวมทั้งแม้  จะเปลี่ยนชื่อใหม่ แต่ชื่อเดิมก็ ยังปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลทำให้ สามารถตรวจสอบได้ รวมไปถึง คนต่างด้าวที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ก็สามารถตรวจสอบได้ เพราะบุคคลเหล่านั้นก็มีเลข 13 หลักเช่นกัน
   
“เลขไอดีบุคคลทั้ง 13 หลักนี้จะไม่มีใครสามารถ เปลี่ยนแปลงได้ เพราะการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนราษฎรของทางกรมการปกครองในระบบงานทะเบียนใช้ระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในองค์กรโดยเฉพาะ ไม่ได้ใช้ร่วมกับระบบอินเทอร์เน็ตทั่วไป ฉะนั้นการแฮกข้อมูลทำได้ลำบาก จะต้องมีเทคนิคที่สูงมาก”
   
ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน เผยว่า จากการสำรวจ ชื่อที่มีคนใช้มากที่สุดคือ สมชาย โดยมีผู้ใช้จำนวน 244,221 คน รองลงมา คือ สมศักดิ์ จำนวน 234,062 คน สมพร จำนวน 218,482 คน สมบูรณ์ จำนวน 173,955 คน และ ประเสริฐ จำนวน 173,367 คน ตามลำดับ
   
ด้าน อ.คฑา แนะเกี่ยวกับเรื่องชื่อไว้อย่างน่าคิดว่า มาก กว่าชื่อที่ไพเราะ มีความเป็นมงคลนั้นคือ การกระทำหรือความดี ขอให้ระลึกถึง คุณของแผ่นดิน เพราะเราจะไม่มีชื่อ ถ้าเราไม่มีแผ่นดินเกิด เพียงแค่ไม่ทิ้งขยะลงพื้นก็เท่ากับเป็นการรักแผ่นดินแล้ว ต่อมาคือ พระคุณของพระมหากษัตริย์ ไม่ดูหมิ่น ให้ความนับถือ เพราะถ้า  ไม่มีพระองค์ท่าน ก็จะไม่มีใครมาปกปักแผ่นดินให้เราเกิด
   
พระคุณที่ 3 คือ พระคุณพ่อ แม่ เพราะถ้าไม่มีท่านเราก็จะเกิดมาไม่ได้ เราก็จะไม่มีชื่อ พระคุณต่อมา คือ พระคุณครู อาจารย์ เป็นผู้ที่สั่งสอนให้เรามีความรู้ เป็นคนที่มีคุณค่า นำวิชาความรู้ที่มีไปใช้ในทางที่ถูก ชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์ และสุดท้าย คือ พระคุณของพระศาสนา ถ้าไม่มีศาสนาไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม เราจะไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ไม่รู้จักการทำความดี ทั้งหมดนี้เป็นพระคุณที่ยิ่งใหญ่เพราะทำให้เรามีชื่อ
   
“ถ้าทำได้ ไม่ว่าจะชื่ออะไร นามใดก็ตาม จงมีความเป็นสิริมงคลและภาคภูมิใจในชื่อตนเอง ฉะนั้นไม่ว่าจะชื่อเพราะ เป็นมงคลขนาดไหน มีความหมายดีอย่างไร แต่ถ้าคนนั้นทำแต่สิ่งที่ไม่ดี คดโกง เอาเปรียบผู้อื่น ก็จะไม่มีใครเรียกชื่อที่ตั้งมาแต่จะตั้งชื่อใหม่ให้แทน เมื่อมีชื่ออยู่แล้วก็อย่าให้คนมาตั้งชื่อ ให้ใหม่เลย”
   
ถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ...ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อไปอีกกี่ร้อยครั้ง...ชื่อนั้นก็เป็นอัปมงคลอยู่ดี!!.

การตั้งชื่อตามหลักทักษาปกรณ์

จะแบ่งกลุ่มของตัวพยัญชนะออกเป็นภูมิต่างๆในแต่ละวัน

วันอาทิตย์            อะ อา อิ อี อึ อื อุ อู เอ โอ
วันจันทร์            ก ข ค ฆ ง
วันอังคาร            จ ฉ ช ซ ฌ ญ
วันพุธกลางวัน            ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ
วันพฤหัสบดี            บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม
วันศุกร์                ศ ษ ส ห ฬ ฮ
วันเสาร์                ด ต ถ ท ธ น
วันพุธกลางคืน            ย ร ล ว
   
การนับ เริ่มจากเกิดวันใดให้นับวันนั้นเป็น บริวาร จากนั้นก็เรียงลำดับไปให้ครบ คือ อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี และ กาลกิณี เพื่อจะได้ทราบว่าตกอยู่ที่ทักษาใด เพื่อจะได้นำพยัญชนะที่ดีเป็นมงคลมาตั้งเป็นชื่อ โดยเรียงตามวัน ตามหลัก อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ (กลางวัน) เสาร์ พฤหัสบดี ราหู (พุธกลางคืน) ศุกร์ ทักษาปกรณ์ ดังนี้ ตัวอย่าง คนเกิดวันอาทิตย์ ถือว่า บริวาร คือ สระทั้งหมด อายุ ได้แก่ ก ข ค ฆ ง เดช คือ จ ฉ ช ซ ฌ ญ ศรี ได้แก่ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ  มูละ ได้แก่ ด ต ถ ท ธ น อุตสาหะ คือ บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม มนตรี คือ ย ร ล ว และ กาลกิณี คือ ศ ษ ส ห ฬ ฮ

ความหมายตามหลักทักษาปกรณ์

บริวาร            หมายถึง  บุตร สามี ภรรยา ญาติ ลูกน้อง บริวาร
อายุ            หมายถึง  อายุยืน ร่างกายแข็งแรง
เดช           หมายถึง  อำนาจวาสนา เกียรติยศ ตำแหน่ง
ศรี            หมายถึง  โชคลาภ รวมไปถึงความสำเร็จ ความมีเสน่ห์
มูละ            หมายถึง  ทรัพย์สิน มรดก หลักฐาน ความมั่นคง
อุตสาหะ        หมายถึง  ความขยันหมั่นเพียร หน้าที่ ความรับผิดชอบ
มนตรี            หมายถึง  ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่  เจ้านาย  มีคนอุปถัมภ์
กาลกิณี        หมายถึง  อุปสรรค ศัตรู ความเหน็ดเหนื่อย  (ไม่ควรมีในชื่อ)

จุฑานันทน์ บุญทราหาญ

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement