ดูแลแผลผ่าคลอด


การผ่าคลอดมักทำหลังจากคุณหมอได้พิจารณาแล้วว่า หากคลอดผ่านทางช่องคลอด จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ แต่ผลจากการผ่าคลอดไม่ได้ทิ้งไว้แค่ร่องรอยแผลที่ไม่น่าดูเท่านั้นนะคะ หากดูแลแผลไม่ถูกวิธี ก็จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ค่ะ

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่าคลอดกันก่อน เพื่อคุณแม่จะได้เตรียมตัวและรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังคลอดได้อย่างมั่นใจค่ะ

ทำไมต้องผ่าคลอด

การผ่าคลอดเป็นการผ่าตัดคลอดทารกออกมาทางหน้าท้องบริเวณด้านล่างของมดลูกและจะทำในกรณีที่จำเป็นเท่านั้นค่ะ คุณหมอประจำตัวจะมีข้อบ่งชี้เพื่อใช้พิจารณาในการผ่าตัด ดังนี้
ทารกมีขนาดใหญ่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับกระดูกเชิงกราน ส่วนใหญ่ทารกมักเอาหัวลง ช่วงใกล้คลอดแพทย์จะตรวจขนาดศีรษะทารกเทียบกับกระดูกเชิงกรานของแม่ เพราะถ้าหัวใหญ่กว่ามากก็จะติดขัดจนอาจทำให้เกิดอันตรายทั้งแม่และลูกได้

ท่าของทารกผิดปกติ คือไม่เอาหัวลง หรือมีส่วนนำมากกว่าหนึ่ง เช่น มีศีรษะพร้อมกับแขน ขา

มีความผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างรอคลอด เช่น คุณแม่ปวดท้องคลอดอยู่นานก็ไม่คลอดเสียที หรือระหว่างรอคลอดพบว่า การเต้นของหัวใจลดลง เมื่อทารกเริ่มมีปัญหาแพทย์ก็จะเปลี่ยนไปใช้วิธีผ่าตัด เนื่องจากรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด

เคยมีการผ่าคลอดในครรภ์ครั้งก่อน

คุณแม่มีอายุมาก ตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป สภาพร่างกายจึงไม่สมบูรณ์เท่าแม่อายุน้อย ทำให้แรงเบ่งไม่พอ

เป็นความต้องการของคุณแม่และคุณพ่อ ซึ่งตกลงร่วมกันแล้วโดยคุณหมอจะอธิบายถึงข้อดีของการคลอดแบบธรรมชาติ หากคุณแม่ยังยืนยันความประสงค์ว่าต้องการผ่าคลอด ก็สามารถทำได้เพราะถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล โดยที่คุณหมอจะตรวจสภาพร่างกายทั้งตัวคุณแม่เอง และทารกในครรภ์อย่างละเอียด เพื่อจะได้ไม่เกิดอันตรายขึ้น


ลักษณะแผลผ่าคลอด...

1. การผ่าแนวตั้ง โดยปกติการผ่าคลอด จะผ่าลงไปถึง 7 ชั้น โดยผ่าตัดเนื้อผ่านชั้นผิวหนัง ไขมันใต้ผิวหนัง เยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อ ต่อจากนั้นจะเจอกับเยื่อหุ้มช่องท้อง ผนังเยื่อหุ้มมดลูก และกล้ามเนื้อมดลูกเป็นชั้นสุดท้าย

การผ่าตัดแนวตั้งนั้นจะผ่าจากใต้สะดือลงมาถึงช่วงกลางหัวหน่าว นิยมทำกันในอดีต เนื่องจากการแพทย์สมัยนั้นยังไม่ทราบว่าสามารถผ่าแนวนอนได้ เพราะเมื่อผ่าลงไปชั้นกลางบริเวณเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อช่องท้อง เส้นกล้ามเนื้อหน้าท้องจะเป็นแนวตั้ง แพทย์ในอดีตจึงเข้าใจว่าการลงแผลแนวตั้งจะช่วยแหวกกล้ามเนื้อได้โดยไม่ทำให้ฉีกขาด

2. การผ่าแนวขวาง หรือแนวนอน หรือบิกินีไลน์ เทียบกับแบบแรกจะดีกว่าตรงที่มีแผลเป็นน้อยกว่า และเจ็บน้อยกว่า เนื่องจากหน้าท้องของแม่ท้องจะมีความหย่อนอยู่ก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น แพทย์จึงจะลงแผลแนวนอนเพื่อเปิดผิวหนังเข้าไปข้างใน เมื่อถึงบริเวณชั้นของกล้ามเนื้อ จึงจะเปลี่ยนไปลงแนวตั้งเหมือนปกติ วิธีนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อไม่ช้ำ และแผลบริเวณผิวหนังสวยกว่าแบบแนวตั้ง 
  

ดีแน่...แค่ขยับ

คุณหมอส่วนมากจะแนะนำให้คนไข้หลังผ่าตัดขยับตัว เคลื่อนไหวร่างกายให้มาก การผ่าตัดคลอดก็เช่นเดียวกันค่ะ

โดยปกติเมื่อผ่าตัดในช่องท้องจะมีน้ำคร่ำ และเลือดหลงเหลืออยู่ แม้คุณหมอจะพยายามซับให้แห้ง แต่ตามช่องท้อง ลำไส้ ของคนเรามีซอกหลืบเยอะ หากคุณแม่ไม่ยอมขยับตัว ซึ่งจะไปเกาะยึดติดกับภายในช่องท้อง ส่งผลให้...
เสี่ยงกับภาวะมีบุตรยากในอนาคต เนื่องจากพังผืดไปติดกับท่อนำไข่ทำให้เกิดการอุดตันของท่อนำไข่ได้

ทำให้การผ่าคลอดในลูกคนต่อไป หรือกรณีมีเรื่องที่ต้องผ่าตัดภายในช่องท้องทำได้ยากมากขึ้น เพราะพังผืดไปรั้งลำไส้หรืออวัยวะภายในให้ติดผนังช่องท้อง

ลำไส้เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวกเมื่ออายุมากขึ้น อาจทำให้ท้องผูกเรื้อรัง หากเป็นมากจะทำให้ลำไส้อุดตันต้องผ่าเพื่อเลาะพังผืดออก
ดังนั้น หลังคลอดใหม่ๆ หากเคลื่อนไหวร่างกายได้เร็ว ก็จะยิ่งลดปัญหาการเกิดพังผืดได้ค่ะ

ดูแลแผลผ่าคลอด

ในอดีตหากคุณแม่คลอดด้วยวิธีผ่าตัดจะต้องมีการเช็ดล้างทำความสะอาดแผลทุกวัน แต่ปัจจุบัน คุณแม่ไม่ต้องเสียเวลากับความสะอาดแผลอีก เนื่องจากความก้าวหน้าของน้ำยาล้างแผล รวมไปถึงวัสดุปิดแผลที่สามารถกันน้ำเข้าได้

ถึงแม้ว่าจะไม่ต้องคอยห่วงกังวลกับการล้างทำความสะอาดแผล แต่ก็ยังมีเรื่องความสวยงามที่คุณแม่แทบทุกคนเป็นกังวล ซึ่งคุณหมอมีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวดังนี้ค่ะ
ในช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งมีโอกาสสูงที่แผลจะกลายเป็นคีลอยด์ คือมีลักษณะหนา นูน สามารถป้องกันได้โดยไม่ยกของหนัก หรือยืดเหยียดแผลมากจนแผลตึงเกินไป การยืดเหยียดจนแผลตึงนั้นทำให้ร่างกายปรับสภาพตัวเอง เนื่องจากกลัวว่าแผลจะหลุด จึงสร้างเส้นใยคอลลาเจนหนาๆ เพื่อทำให้แผลแน่นขึ้น เมื่อเส้นใยคอลลาเจนหนาเกินไปจึงกลายเป็นแผลนูนขึ้นมาเป็นแผลคีลอยด์ในที่สุด

ทาครีมซึ่งมีส่วนผสมของวิตามินอีหรือมีเสตียรอยด์อ่อนๆ ก็สามารถช่วยลดการเกิดแผลได้ ส่วนคุณแม่ที่ให้นมลูกอยู่ก็ไม่ต้องกังวลไปว่าครีมที่ทาจะส่งผลต่อน้ำนมเพราะว่าเป็นเพียงการใช้ภายนอกเท่านั้น ตัวยาไม่แทรกซึมไปทั่วร่างกายค่ะ
หวังว่าคุณแม่ที่ใกล้จะคลอด หรือเพิ่งผ่านการผ่าคลอดจะนำวิธีเหล่านี้ไปปฏิบัติ เพื่อการดูแลแผลผ่าตัดหลังคลอดได้อย่างถูกวิธีนะคะ

อ้อ...ถ้าคุณพ่อช่วยดูแลอย่างใกล้ชิดไปด้วยจะดีมากค่ะ แรงใจดีซะอย่างคุณแม่สู้ไม่ถอยอยู่แล้ว


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement