ในสมัยโบราณหากกล่าวถึงการกิจอันยิ่งใหญ่ของ ชายชาตรี เห็นทีจะหนีไม่พ้นเรื่องการเป็น ทหาร รับใช้ชาติบ้านเมืองยามมีศึกสงคราม ส่วน กุลสตรีไทย นั้นก็มีการกิจอันยิ่งใหญ่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายไม่แพ้กัน นั่นคือ การตั้งครรภ์และการให้กำเนิดลูก
ที่เป็นเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากว่า ในสมัยก่อนวิทยาการทางการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้าอย่างเช่นในปัจจุบัน การดูแลรักษาครรภ์อีกทั้งการคลอดลูกแต่ละครั้งจึงนับเป็นเรื่องยากที่ต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างมาก ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่เป็นคำสอนเป็น ความเชื่อ ของคนรุ่นเก่าผู้มากด้วยประสบการณ์จึงได้รับการยอมรับ และปฏิบัติตามอย่างเชื่อมั่น ปราศจากข้อสงสัยหรือข้อโต้แย้งใดๆ
ทุกวันนี้แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีหรือที่เรียกกันว่ายุค โลกาภิวัตน์ แล้วก็ตาม แต่สิ่งที่เป็น ความเชื่อโบราณ ในเรื่องของการดูแลครรภ์นั้นยังคงหลงเหลืออยู่ในสังคมไทย บ่อยครั้งที่ความเชื่อเหล่านี้ได้สร้างความสับสนให้กับคุณแม่ยุคใหม่ซึ่งไม่ทราบว่าควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำของใครดี ระหว่างคุณแม่ คุณยาย คุณย่า คุณป้า ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนกับสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
จะเชื่อใครดี ???
เพื่อคลายความสับสนกังวลใจของบรรดาคุณแม่มือใหม่แห่งยุค บันทึกคุณแม่ ฉบับนี้ จึงได้หยิบยกเอาบางเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่อง การดูแลครรภ์ ในสมัยอดีตกาลมานำเสนอพร้อมทั้งอาศัยหลักการและเหตุผลตลอดจนข้อมูลทางด้านวิชาการมาอ้างอิง เพื่อช่วยให้คุณแม่ช่างสงสัยได้ใช้ประกอบในการพิจารณาตัดสินใจนะคะ
1. ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน
มีความเชื่อต่อๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้ว่า การดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนทุกวันระหว่างตั้งครรภ์นั้น จะทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีผิวพรรณสะอาดเกลี้ยงเกลา ไม่มีไขมันติดตัวออกมาเวลาคลอด ?? เกี่ยวกับความเชื่อมในเรื่องนี้นั้นคุณคัทรินทร์ ปิยะวาทวงศ์ นักโภชนาการโรงพยาบาลพระรามเก้ากล่าวชี้แจงว่า ...ในเรื่องนี้นั้นยังไม่มีงานวิจัยออกมายืนยันอย่างชัดเจนค่ะว่าข้อเท็จจริงนั้นเป็นอย่างไร แต่เคยมีงานวิจัยของเมืองนอกชิ้นหนึ่งออกมาว่า ในน้ำมะพร้าวมีสารชนิดหนึ่งซึ่งช่วยให้มดลูกบีบตัว ดังนั้นหากหญิงมีครรภ์ดื่มน้ำมะพร้าวเข้าไปสารตัวนี้ก็จะไปช่วยให้มดลูกบีบรัดรก ทำให้เกิดมีการคล้ายๆ ชะล้างเกิดขึ้น ...เหมือนๆ กับที่มีข้อห้ามไม่ให้คนที่กำลังมีประจำเดือนดื่มน้ำมะพร้าวนั่นแหละค่ะ เพราะเกรงว่าจะไปบีบรัดมดลูก แต่ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ออกมายืนยันว่าดื่มน้ำมะพร้าวแล้วผิวพรรณเด็กจะดีค่ะ... อย่างไรก็ตามไม่ได้มีข้อห้ามไม่ให้คุณแม่ตั้งครรภ์ดื่มน้ำมะพร้าวที่แสนอร่อย เย็นชื่นใจ ... จริงไหมคะ ??
2. ห้ามนอนหงายเพราะรกจะติดหลังแล้วคลอดออกมาไม่ได้
พ.อ. ดาราพงศ์ ลังกาฟ้า สูตินรีแพทย์ได้กรุณาให้คำตอบเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องนี้ว่า ...เป็นการเข้าใจผิดของคนในสมัยก่อน ซึ่งไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องรกในร่างกาย รกจะไม่เกาะติดกับหลังของเรา เพราะรกอยู่ในมดลูก รกจะเกาะติดด้านหน้า หรือด้านหลังของมดลูกก็ได้ไม่มีอันตรายใดๆ ที่จะมีอันตรายคือ รกเกาะต่ำ โดยรกมาเกาะด้านล่างบริเวณปากมดลูก ซึ่งทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดได้ รกจะเกาะที่ไหนไม่ได้ขึ้นกับท่านอน การนอนตะแคงดีกว่านอนหงายในอายุครรภ์หลังๆ ตอนท้องโต การนอนหงายมดลูกจะไปกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ ซึ่งอยู่ด้านหลังมดลูกได้ ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง และเลือดไปหล่อเลี้ยงมดลูกน้อยลง เป็นอันตรายต่อแม่และเด็กได้ แต่ถ้านอนตะแคง มดลูกจะไม่ไปกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ อันตรายก็ไม่เกิดขึ้น...
ข้อห้ามไม่ให้ คนท้องนอนหงาย นี้ ดูเหมือนจะเป็นความเชื่อของคนแทบทุกภาคของประเทศ ต่างกันเพียงแค่เหตุผล (คำขู่) เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเองค่ะ บางท้องถิ่นบอกว่า...หากคนท้องนอนหงาย ลูกในท้องจะดิ้นแรง ทำให้แม่ท้องแตกตายได้ ...ฟังแล้วน่ากลัวจังเลยนะคะ อย่างไรก็ตามจากการวิจัยทางการแพทย์ของหลายหน่วยงานยืนยันว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ควรนอนตะแคงด้านซ้ายเพราะเส้นเลือดใหญ่อยู่ทางด้านขวา หากนอนตะแคงขวาจะทำให้เลือดไหลไม่ค่อยสะดวกค่ะ
3. ห้ามไปงานศพ
ร.อ. (หญิง) เพ็ญพร สมศิริ หัวหน้าโครงการเตรียมมารดาเพื่อการคลอด กองสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้แนะนำไว้ในหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน (7 มี.ค. 2544) ว่า ...หญิงตั้งท้องในระหว่างรอคลอดอย่าเครียด และแสดงอาการวิตก เพราะจะส่งผลต่อทารกน้อยในครรภ์ ...ควรทำใจให้มีความสุขยิ้มแย้ม เด็กเกิดมาจะได้มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง...
น่าแปลกที่ความเชื่อเรื่องนี้ปรากฏมีตรงกันแทบทุกท้องถิ่นของประเทศไทย แตกต่างกันเฉพาะเหตุผลที่ไม่อนุญาตหรือห้ามคนตั้งครรภ์ไม่ให้ไปร่วมงานเท่านั้นที่ไม่ตรงกัน เช่น บางที่ให้เหตุผลว่า กลัวมีวิญญาณร้ายจากสุสารติดตามมา บางท้องที่ก็บอกว่า กลัวผีเข้า
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาตามหลักจิตวิทยาโดยยกเอาคำแนะนำของคุณหมอเพ็ญพรข้างต้นมาประกอบแล้ว จะเห็นถึงความห่วงใยที่คนรุ่นเก่ามีต่อคนตั้งครรภ์และเด็กในท้อง ไม่อยากให้ต้องเข้าไปอยู่ท่ามกลางบรรยากาศ แห่งความสูญเสียโศกเศร้า ทำให้จิตใจต้องสลดหดหู่และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นงานศพของญาติพี่น้องคนที่รักด้วยแล้ว อาจจะทำให้เกิดอาการ เครียด ขึ้นมาได้ ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อทั้งตัวแม่และลูกในครรภ์
4. ห้ามออกกำลังกาย / ควรออกกำลังกาย
คงเป็นเพราะในระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่ส่วนใหญ่มักมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน ฯลฯ ดังนั้น ในสมัยก่อนบางท้องถิ่นจึงมองว่าการตั้งครรภ์นั้นเหมือนเป็นการเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องการการพักผ่อนห้ามออกแรงในเรื่องนี้ พลเรือตรี นายแพทย์สุริยา ณ นคร รองเจ้ากรมแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง หญิงมีครรภ์กับการออกกำลังกายในน้ำ ดังนี้ ...อย่างไรก็ดีหลักฐานต่างๆ แสดงว่าการออกกำลังกายสม่ำเสมอในระหว่างการตั้งครรภ์ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการออกกำลังกาย ช่วยให้คลอดง่ายและหลังคลอดแล้วร่างกายจะคืนสู่สภาพปกติรวดเร็ว... อย่างไรก็ตาม ท่านรองเจ้ากรมแพทย์ได้บอกว่า สตรีมีครรภ์ควรออกกำลังกายอย่างระมัดระวัง และพอเหมาะภายใต้คำแนะนำของแพทย์
ความเชื่อในเรื่องนี้ไม่เป็นเอกฉันท์แตกต่างไม่ตรงกันเหมือนดังข้ออื่นๆ เพราะบางท้องที่ทางภาคเหนือกลับนิยมให้หญิงมีครรภ์ทำงานบ้านไม่นั่งไม่นอนอยู่เฉยๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า หากอยู่เฉยๆ ไม่ทำงานแล้วท้องจะฝืดทำให้คลอดลูกยาก ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลที่คุณหมอแนะนำมาอย่างน่าประหลาดใจ
5. ห้ามกินกล้วยน้ำว้า เพราะจะทำให้คลอดยาก
คุณคัทรินทร์ ปิยะวาทวงศ์ นักโภชนาการจากโรงพยาบาลพระรามเกล้าได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ...กล้วยน้ำว้าเป็นกล้วยที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สาเหตุที่คนโบราณห้ามไม่ให้คนท้องกินนั้นน่าจะมีหลายสาเหตุ อย่างเช่น กลัวเด็กจะตัวโตแล้วคลอดยาก เพราะในสมัยก่อนยังไม่มีการผ่าตัดทำคลอด หากเด็กในท้องอ้วนท้วนสมบูรณ์เกินไปจะเป็นอันตรายต่อทั้งแม่และลูกได้ค่ะ อีกอย่างนั้นคือ ในกล้วยสุกๆ จะหวานมีแป้งมาก กินสองสามลูกก็จะรู้สึกอิ่มจนไม่อยากกินอย่างอื่น ทำให้ขาดสารอาหารได้ นอกจากนี้ การกินกล้วยห่ามๆ ไม่สุกจะทำให้เกิดอาการท้องผูก อาการท้องผูกนั้นเป็นปัญหาของคนท้องอยู่แล้ว ยิ่งกินกล้วยห่ามๆ เข้าไปจะทำให้มีปัญหาเรื่องท้องผูกมากยิ่งขึ้นค่ะ...
6. ห้ามกินเนื้อวัว เพราะเชื่อว่าจะทำให้เนื้อตัวทารกที่เกิดใหม่ จะเต็มไปด้วยไขมันล้างออกยาก
เกี่ยวกับข้อห้ามข้อนี้ คุณคัทรินทร์กล่าวว่า ...จริงๆ แล้วโภชนาการสมัยใหม่ไม่ได้ห้ามไม่ให้คนท้องกินเนื้อวัวค่ะ แต่ควรระมัดระวังเพราะโดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่ที่กินเนื้อวัวมักจะไม่ชอบกินสันในแต่ชอบกินเนื้อติดมัน ซึ่งจะทำให้อ้วนมีไขมันเยอะค่ะ...
7. ห้ามกินหอย
คนโบราณห้ามคนท้องกินหอยทุกประเภท เพราะมีความเชื่อว่า เวลาคลอดจะมีกลิ่นคาว และคลอดยากเหมือนหอยที่ติดอยู่ในเปลือก คุณคัทรินทร์ได้กรุณาชี้แจงในเรื่องนี้ว่า โภชนาการคนท้องสมัยนี้ไม่มีข้อห้ามไม่ให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์กินหอยค่ะ เพราะหอยส่วนใหญ่จะให้คุณค่าให้สารไอโอดีนสูงคุณแม่ควรจะกินเพื่อป้องกันการขาดสารไอโอดีน ยกเว้นแต่คุณแม่ตั้งครรภ์ในรายที่มีไขมันในเลือดสูง ควรงดกิน โดยเฉพาะหอยนางรมที่มีคอเรสเตอรอลสูงมากค่ะ
8. ห้ามกินผักที่เป็นเครือเถา
คนโบราณในบางท้องที่เช่นทางภาคเหนือจะห้ามไม่ให้คนท้องกินผักที่มีลักษณะเป็นเครือเถา เช่นผักตำลึง ยอดฟักทอง เป็นต้น คุณคัทรินทร์อธิบายในเรื่องนี้ว่า น่าจะมาจากการที่คนสมัยก่อน ประสบกับตัวเองเป็นต้นว่า เห็นคนที่กินอาหารประเภทนี้แล้วมีอาการปวดขา ตามหลักโภชนาการแล้วน่าจะมีส่วนค่ะ เพราะในผักยอดอ่อนจะมีสาร purin สูง สารนี้เมื่อทำการย่อยจะกลายเป็นกรดยูริก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคเก๊าส์ได้ ส่วนคนที่กินแล้วไม่เกิดอาการใดๆ นั้นควรจะทานผักเยอะๆ เพราะช่วยให้การขับถ่ายง่ายขึ้น
ปัจจุบันคุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนยังคงดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนต่อไปและนอนตะแคงข้างซ้ายอยู่ทุกวัน ตราบใดที่ยังมีคำว่า เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด ตราบนั้น... ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ยากยิ่งที่จะเลือนลบ ความเชื่อโบราณ ทั้งหลายให้จางหายไปจากสังคมไทย