เนื่องจากสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ oncogenic HPV ที่ปากมดลูก เชื้อ HPV สายพันธุ์ที่พบว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากที่สุดคือ เชื้อ HPV 16 และ HPV 18 ซึ่งเป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 70 การฉีด HPV Vaccine เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ HPV เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV ได้
ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ HPV Vaccine
ผลการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ HPV 16/18 Vaccine พบว่า HPV 16/18 Vaccine มี
- ศักยภาพสูงในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
- ความปลอดภัยสูง ไม่พบอาการข้างเคียงชนิดรุนแรง
- ประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ HPV 16/18 แบบเนิ่นนาน (persistent) และการป้องกันรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อ HPV 16/18
ช่วงอายุที่แนะนำให้ฉีด HPV Vaccine
ประสิทธิภาพของ HPV Vaccine จะสูงทีสุดในสตรีที่ยังไม่ติดเชื้อ HPV ดังนั้น จึงควรฉีดวัคซีนก่อนถึงวัยที่จะมีเพศสัมพันธ์ หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV และรอยโรคที่จะเกิดตามมา ในปัจจุบัน HPV Vaccine มีความปลอดภัย มีศักยภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูง และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV และรอยโรคของอวัยวะเพศสตรี ในสตรีช่วงอายุ 9-26 ปี
ส่วนสตรีที่มีอายุมากกว่า 26 ปี ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV และรอยโรค สำหรับการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นซ้ำ (booster) ยังไม่มีข้อมูลว่าควรฉีดเมื่อไร ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่าระดับ antibody ยังคงป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้นานอย่างน้อย 5 ปี
การฉีด HPV Vaccine
การฉีด HPV Vaccine ให้ฉีด 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อ จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 : ฉีดในวันที่กำหนด
ครั้งที่ 2 : ฉีดในเดือนที่ 1-2 หลังจากการฉีดครั้งแรก
ครั้งที่ 3 : ฉีดในเดือนที่ 6 หลังจากฉีดครั้งแรก
ข้อบ่งชี้ในการฉีด HPV Vaccine
1. เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์เดียวกับวัคซีนที่ฉีด
2. เพื่อป้องกันรอยโรคและมะเร็งที่อวัยวะเพศสตรีที่เกิดจากการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์เดียวกับวัคซีนที่ฉีด
ข้อบ่งห้ามของการฉีด HPV Vaccine
1. ผู้ที่มีภาวะ hypersensitivity ต่อสารประกอบในวัคซีน เช่น ยีสต์ และ adjuvants ชนิดต่าง ๆ
2. ผู้ที่มีอาการบ่งว่าเคยมีภาวะ hypersensitivity หลังจากการฉีด HPV Vaccine ครั้งแรก
คำแนะนำที่ควรแจ้งให้ทราบก่อนการฉีด HPV Vaccine ควรอธิบายให้ผู้รับการฉีดวัคซีนเข้าใจดังนี้
1. การฉีด HPV Vaccine ไม่สามารถใช้ทดแทนการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้
2. การฉีด HPV Vaccine อาจจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV รอยโรคก่อนมะเร็ง และมะเร็งปากมดลูกได้ทุกราย
3. การฉีด HPV Vaccine ไม่สามารถป้องกันผล Pap smear ผิดปกติ และไม่สามารถใช้รักษารอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกได้
4. การฉีด HPV 16/18 Vaccine ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อหรือรอยโรคที่เกิดจากเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่น นอกจาก HPV 16/18 ได้
5. การฉีด HPV Vaccine ไม่ได้ป้องกันโรคที่เกิดจากสาเหตุอื่นนอกจากเชื้อ HPV เช่น ตกขาวหรือกามโรค ฯลฯ
6. การฉีด HPV Vaccine ในสตรีที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ระดับของ anyibody อาจต่ำกว่าในสตรีทั่วไป
7. หลังจากการฉีด HPV Vaccine แล้ว ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์แบบสำส่อน ควรมีเพศสัมพันธ์เชิงป้องกันการติดเชื้อ HPV ด้วย
8. ควรฉีดวัคซีนให้ครบ 3 ครั้ง
ผลข้างเคียงของการฉีด HPV Vaccine
โดยทั่วไปการฉีด HPV Vaccine มีความปลอดภัยสูง ไม่พบอาการข้างเคียงชนิดรุนแรง อาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่
1. อาการข้างเคียงบริเวณที่ฉีดวัคซีน เช่น ปวด บวม แดง และคัน ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เป็นอยู่ชั่วคราวและหายไปเอง
2. อาการทั่วไป เช่น ไข้ พบประมาณร้อยละ 10 ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และหายไปเองได้ อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และผื่นคันตามตัว อาการเหล่านี้ไม่รุนแรงและหายไปได้เอง
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อนและหลังฉีด HPV Vaccine
การทำ Pap smear ก่อนการฉีดวัคซีนขึ้นกับประวัติการมีเพศสัมพันธ์ และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
1. ถ้ายังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ไม่จำเป็นต้องทำ Pap smear ก่อนการฉีดวัคซีน
2. ถ้าเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว
2.1 ถ้าไม่เคยทำ Pap smear มาก่อน หรือทำไม่สม่ำเสมอ แนะนำให้ทำ Pap smear เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อน
- ถ้าผลปกติ สามารถฉีดวัคซีนได้ และควรมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามคำแนะนำของ
แพทย์
- ถ้าผลผิดปกติ ให้ดูแลรักษาตามมาตรฐาน ถ้าหายแล้วอาจให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการฉีด HPV Vaccine ให้สตรีพิจารณา
2.2 ถ้าเคยทำ Pap smear มาแล้วอย่างสม่ำเสมอและผลปกติทุกครั้ง สามารถฉีดวัคซีนได้
หลังฉีด HPV 16/18 vaccine แล้ว ควรมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะเชื้อ HPV 16 และ HPV 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกประมาณร้อยละ 70 เท่านั้น
การตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนการฉีด HPV Vaccine
ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ HPV (HPV test) ก่อนการฉีด HPV Vaccine เนื่องจากการตรวจหาเชื้อ HPV ไม่สามารถระบุได้ว่าเคยมีการติดเชื้อมาแล้วหรือไม่ ถ้าผลการตรวจให้ผลบวกก็บอกได้เพียงว่า มีการติดเชื้อ HPV อยู่ในปัจจุบันหรือไม่เท่านั้น การตรวจหา antibody ต่อเชื้อ HPV ยังไม่สามารถกระทำได้ในทางปฎิบัติ จึงไม่แนะนำให้ตรวจ การตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนการฉีด HPV Vaccine จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนสูงมากขึ้น ทำให้การฉีดวัคซีนไม่คุ้มทุน
สตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว
สตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว สามารถฉีด HPV Vaccine ได้ สตรีที่มีผล Pap smear ผิดปกติ หรือ HPV test ให้ผลบวก ควรได้รับการดูแลตามมาตรฐาน และสามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ควรให้คำแนะนำว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงถ้าเคยติดเชื้อ HPV มาก่อน อย่างไรก็ตาม อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอด้วย
สตรีที่เคยเป็นรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูก
สตรีที่เคยเป็น CIN มาก่อน ถ้าได้รับการรักษาแล้วสามารถฉีด HPV Vaccine ได้ แต่ต้องมารับการตรวจติดตามผล การรักษาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด และต้องเน้นย้ำว่าถ้าสตรีมีการติดเชื้อ HPV 16/18 แล้ว การฉีด HPV 16/18 Vaccine ไม่ได้มีผลเชิงรักษาและอาจจะได้ประโยชน์น้อยในการป้องกันการติดเชื้อ HPV 16/18 และรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อ HPV 16/18
สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่เลี้ยงลูกด้วยนม
HPV Vaccine จัดอยู่ใน Category B ไม่แนะนำให้ฉีดในสตรีตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าจะไม่มีรายงานก่อทารกพิการในสัตว์ทดลอง ถ้าตั้งครรภ์ในขณะที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ 3 ครั้ง ให้ฉีดเข็มถัดไปจนครบในระยะหลังคลอด ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่า antigens ของ HPV Vaccine และ antibodies ที่ร่างกายสร้างขึ้นออกมากับน้ำนมหรือไม่ แต่เนื่องจาก HPV Vaccine ประกอบด้วย virus-like particles ของเชื้อ HPV ซึ่งไม่ก่อการติดเชื้อ (noninfectious) จึงไม่มีผลกกระทบในด้านความปลอดภัยต่อทั้งมารดาและทารก
สตรีที่ภูมิคุ้มกันต่ำ
การมีภูมิคุ้มกันต่ำไม่ได้เป็นข้อบ่งห้ามของการฉีด HPV Vaccine แต่การตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันอาจจะน้อยกว่าสตรีที่มีภูมิคุ้มกันปกติ
ที่มา -: ชมรมคอลโปสโคปี และพยาธิสภาพมดลูกแห่งประเทศไทย (TSCCP)