3 สารเคมี ที่แม่ท้องต้องระวัง


ในการใช้ชีวิตประจําวันคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับสารเคมีที่มากับเครื่องอุปโภค บริโภค และมลภาวะต่างๆ รอบตัว จึงจำเป็นจะต้องป้องกันตัวเองให้ห่างจากสารเคมีที่อันตราย โดยเฉพาะในช่วงที่ตั้งท้องด้วยแล้ว สารเคมี ที่คุณแม่ได้รับจะส่งผลไปสู่ลูกน้อยด้วย ดังนั้น คุณแม่จึงต้อง
หลีกเลี่ยงและป้องกันตัวเองจากสารเคมีเหล่านั้นเพื่อสุขภาพของตัวคุณแม่และลูกน้อยในท้องค่ะ

สารตะกั่ว
มักพบในสีทาบ้าน หรืออาจปนเปื้อนมาในอาหาร อากาศ และน้ำ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม

หากแม่ท้องสูดอากาศที่มีสารตะกั่วเข้าไปจะเป็น อันตรายต่อระบบสืบพันธ์ เพราะสารตะกั่วจะสะสมอยู่ในกระดูกและเม็ดเลือดได้นาน สามารถซึมผ่านรกไปสู่ทารกในท้องได้ โดยระดับตะกั่วในสายสะดือจะมีค่าเท่ากับระดับตะกั่วในเลือดของแม่ ซึ่งพิษของสารตะกั่วจะทําลายสมองและระบบประสาท ตับ ไต หัวใจ ทางเดินอาหาร ทําให้ทารกแรกเกิดมีอาการพิการทางสมอง ตาบอด หูหนวก หรือเสียชีวิตได้ นอกจากนี้สารตะกั่วยังไปทําลายอวัยวะต่างๆ หรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของอวัยวะบางส่วนของทารกด้วย

นอกจากทารกในท้องจะสามารถรับสารตะกั่วจากแม่ได้ทางสายสะดือแล้ว เด็กอาจได้รับสารตะกั่วจากการหยิบสิ่งที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนเข้าปาก
หรือรับจากน้ำนมแม่ที่มีสารตะกั่วได้เช่นกัน คุณแม่ท้องจึงต้องระมัดระวังไม่ไปในสถานที่หรือกินอาหารในที่ที่ใกล้กับแหล่งที่มีควันพิษจากรถยนต์หรือโรงงานอุตสาหกรรม และควรพกผ้าปิดจมูกติดตัวไว้เพื่อป้องกันมลพิษเสมอ

สารปรอท
พบปนเปื้อนอยู่ในอากาศ น้ำ และดินจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การเผาขยะ ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตามบ้านเรือน ปนเปื้อนในเครื่องสําอาง และอาหาร
โดยเฉพาะอาหารทะเลจะพบมากในสัตว์ทะเลตัวใหญ่

สารปรอทสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรงจากการหายใจ การสัมผัสทางผิวหนัง การกินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนสารปรอท นอกจากนี้ สารปรอทที่อยู่ในรูปของเหลวยังสามารถระเหยเป็นไอได้ ซึ่งอยู่ในปรอทวัดไข้ ในกรณีที่เทอร์โมมิเตอร์แตกและหายใจไอปรอทเข้าไป สารปรอทจะดูดซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดทันที แล้วกระจายไปยังสมองและส่วนอื่นของร่างกายอย่างรวดเร็ว ปรอทจะจับยึดเม็ดเลือดแดงแล้วกระจายไปทั่วทุกส่วนของร่างกาย ไปทําลายเนื้อเยื่อสมองส่วนควบคุมการมองเห็นและความรู้สึก สารปรอทยังสามารถผ่านทางรกไปยังทารกในท้องได้ด้วย

คุณแม่ท้องสามารถหลีกเลี่ยงสารปรอทได้ด้วยการไม่เข้าใกล้ในสถานที่ที่มีการเผาไหม้ของขยะหรือเชื้อเพลิงต่างๆ เลือกใช้เครื่องสําอางที่มีส่วนผสมหรือผลิตจากธรรมชาติแทนการใช้เครื่องสําอางที่เป็นสารเคมี ล้างอาหารทะเลให้สะอาดทุกครั้งก่อนนํามาปรุงอาหารและไม่กินอาหารทะเลที่ปรุงไม่สุก

สารหนู
มักพบปนเปื้อนอยู่ในผัก ผลไม้ น้ำดื่ม อาหารทะเล เครื่องสําอาง ยาแผนโบราณ และยากําจัดศัตรูพืช หากร่างกายได้รับสารหนูทางการหายใจหรือจากการกินอาหารที่ปนเปื้อน เมื่อสารหนูเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะถูกดูดซึมสู่กระแสเลือด ก่อนไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และจะถูกขับออกทางปัสสาวะ อุจจาระ แต่บางส่วนจะสะสมอยู่ในเลือด เล็บ และเส้นผม

ทารกที่ได้รับสารหนูที่ปนเปื้อนในน้ำนมแม่ จะทําให้มีระดับสารหนูในเลือดสูง เกิดภาวะโลหิตจาง มีจํานวนเม็ดเลือดขาวน้อยลง และการเต้นของหัวใจผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีอาการผิวหนังลอกและโปรตีนขับออกมาในปัสสาวะด้วย ซึ่งคุณแม่ท้อง สามารถป้องกันได้โดยล้างผัก ผลไม้ให้สะอาดทุกครั้งก่อนนําไปปรุงอาหาร


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement