แนะคุณพ่อแม่ยุคใหม่รับมือ ลูกดื้อ




หัวข้อเสวนาที่ได้รับความสนใจจากคนเป็นพ่อเป็นแม่มากที่ลูกวัยกำลังซน นั่นคือ “ลูกดื้อ...รับมืออย่างไร” โดย นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ หัวหน้าพัฒนาการเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ที่มาให้คำแนะนำและให้ความรู้ในการเลี้ยงดูลูกอย่างถูกวิธี

คุณหมอพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า อาการดื้อและซนสำหรับเด็กที่เริ่มมีพัฒนาการการเรียนรู้ในระหว่างขวบปีแรก ถือเป็นธรรมชาติของเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ทุกครอบครัวต้องเตรียมความพร้อมในการรับมืออย่างถูกต้อง และเข้าใจในธรรมชาติของเด็กให้มากที่สุด เพราะนานาวิธีแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลในการเป็นตัวชี้วัดอารมณ์ และเป็นพื้นฐานของความรู้สึกนึกคิดของเด็กตั้งแต่วัยเยาว์ จนกระทั่งเติบโตต่อไปในอนาคต

“เด็กตั้งแต่ขวบปีแรกจะเริ่มเรียนรู้กับสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือคนรอบข้าง ซึ่งการรับรู้ของเด็กที่เกิดขึ้น จะเป็นบ่อเกิดของพฤติกรรมของเด็ก ดังนั้น พ่อกับแม่จึงเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการปรับสิ่งแวดล้อมที่เป็นวิกฤต ให้เป็นโอกาส เช่น การดูโทรทัศน์แล้วเจอคนกำลังตบตีกันในละคร ก็ต้องหมั่นสอนและพูดกับลูกว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีนะ บ้านเราไม่ทำกันแบบนี้ บ้านของเรารักกัน กลมเกลียวกัน ไม่มีเรื่องจำเป็นที่จะทะเลาะกัน หรือถ้าคนในบ้านเรามีสิ่งที่ไม่เข้าใจกัน เราก็จะต้องพูดปรับความเข้าใจ ไม่ใช้กำลัง จากนั้น ลูกจะเป็นผู้ซึมซับสิ่งต่างๆเหล่านี้เข้าไปเอง”

ปัจจุบันพฤติกรรมการลอกเลียนแบบการใช้ชีวิตตามแบบวัฒนธรรมชาวตะวันตกในสังคมไทย มีให้เห็นกันอย่างแพร่หลาย สำหรับประเด็นนี้ นพ.พงษ์ศักดิ์ ให้ความเห็นว่า ผู้เป็นพ่อและแม่จะต้องเลือกในสิ่งที่ดีมาสอนให้ลูกรู้จักเลือกที่จะมาปรับใช้กับตัวเองต่อไปอย่างเหมาะสม เช่น ชาวตะวันตกที่มักสอนให้ลูกแสดงอารมณ์ออกมาตรงๆ คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น แสดงมาอย่างนั้นโกรธมากก็แสดงว่าโกรธ ไม่เก็บอาการ ต่างจากคนที่ไทยมักสอนว่า ให้เก็บอาการและความรู้สึกไว้หากเราโกรธ เกลียด ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ ถ้าทำอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป ก็มีทั้งดีและไม่ดี เพราะฉะนั้นควรเลือกสอนให้ลูกรับรู้อย่างพอเหมาะ เช่น อาการโมโหหรือโกรธใครควรแสดงอาการออกมาอย่างเหมาะสม บอกให้อีกฝ่ายได้รับรู้ถึงสาเหตุการโกรธนั้นแล้วต่างฝ่ายก็ทำความเข้าใจกัน

“ชาวตะวันตกมักไม่นิยมสอนลูกโดยการตีเท่าไหร่นัก แต่การตีลูกสำหรับคนไทยเป็นสิ่งที่คู่กันมาตลอด ถึงแม้ปัจจุบันคนไทยจะลดความนิยมในการตีลงก็ตาม แต่จะมีบางครอบครัวที่ยังคงสอนลูกโดยการตีอยู่ ความแตกต่างคือ การตีลูกของคนไทยเรา มักจะตีต่อเมื่อลูกทำผิดหนักๆ และตีด้วยน้ำหนักที่เหมาะสม พร้อมทั้งบอกสาเหตุของการตีในแต่ละครั้ง ที่สำคัญคือ ไม่ตีต่อหน้าสาธารณะ เพราะการตีต่อหน้าสาธารณะชน คนหมู่มาก เป็นการประจานมากกว่าการสอน ซึ่งหากพ่อแม่คนไหนทำแบบนี้จะเป็นสาเหตุให้ลูกมีความก้าวร้าวมากขึ้น เพราะนอกจากจะเจ็บตัวแล้ว ลูกยังเจ็บใจอีก”

 นพ.พงษ์ศักดิ์ ทิ้งท้ายว่า สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับลูก และเมื่อเวลาผ่านไป ช่วงวัยผ่านไป อาการดื้อรั้นต่างๆ ก็จะลดลง ดังนั้น พื้นฐานในการเลี้ยงดูลูกจึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจ เพราะการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูก และเพื่อให้เด็กๆ เติบโตต่อไปได้อย่างมีอนาคตที่สดใสสิ่งเหล่านี้ไม่เกินความสามารถของพ่อแม่ยุคใหม่แน่นอน 


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Quiz


Advertisement