การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ ออกทางเส้นวงแหวนหมายเลข 9 แล้วมาออกทางหลวงหมายเลข 340 จากกรุงเทพฯถึงสุพรรณบุรีราว 100 กม. จากตัวเมืองสุพรรณถึงศูนย์ควายไทยเกือบ 20 กม. แล้วต่อไปยังบึงฉวากอีกราวกว่า 30 กม. แต่เราจะเดินทางรวดเดียวไปถึงบึงฉวากก่อนที่จะวกกลับมาที่หมู่บ้านควาย
มุ่งหน้าไปบึงฉวาก
ออกเดินทางกันแต่ 7 โมงเช้า ถึงสุพรรรณบุรี ราวๆ 9 โมง โดยมีบึงฉวากเป็นจุดหมายปลายทาง บึงฉวากเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำท่าจีน ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนดินโคลน แยกตัวออกมาเป็นบึงใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศอันหลากหลายภายในพื้นที่กว่า 1,700 ไร่ อุดมไปด้วยพรรณไม้น้ำนานาชนิด ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงบ และเป็นที่อยู่อาศัยของนกน้ำ นกทุ่ง มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพที่ผ่านมาอาศัยหรือพักพิงชั่วคราว เดิมเป็นพื้นที่อยู่ในความดูแลของเขตห้ามล่าสัตว์ป่า กรมป่าไม้ ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานเข้ามาบริหารจัดการ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2537 ได้จัดทำโครงการพัฒนาบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่สวนสัตว์อุทยานผักพื้นบ้าน และสถานแสดงสัตว์น้ำ
ชมสัตว์นานาพันธ์กลางธรรมชาติ
หลังจากชมวิวทิวทัศน์สองข้างทางมาพอสมควร เราก็ลงเดินไปชมกรงเสือและกรงสิงโต ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมจำลองแบบธรรมชาติ และกรงสัตว์ป่าตระกูลแมวอื่นๆ แล้วข้ามต่อไปยังเกาะกระต่าย ชมกระต่ายมากมายหลายพันธ์ที่อยู่อย่างอิสระ จากนั้นจึงขับรถไปอีกนิดหนึ่งเป็นทางเข้ากรงนกใหญ่ ที่นี่ต้องเสียค่าผ่านประตู 20 บาท เด็กต่ำกว่า 130 ซม. เข้าฟรี มีการจัดนิทรรศการเรื่องราวของสัตว์ไว้ให้ศึกษาในห้องโถง แล้วเข้าสู่กรงนกใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ มีนกต่างๆให้ชมถึง 45 ชนิด
ศึกษาเรื่องพันธ์ไม้หายาก
เมื่อเดินชมจนรอบแล้วก็ออกจากกรงนกใหญ่ เดินข้ามถนนโดยใช้บัตรใบเดิมเข้าไปชมสัตว์ในกรงแยก ซึ่งมีทั้งนกหายากต่างๆและสัตว์ป่าต่างประเทศ เช่น นกกระทุง นกกระจอกเทศ อูฐ และม้าลาย จากจุดนี้เราสามารถจอดรถไว้แล้วเที่ยมชมจุดต่อไปด้วยรถนำเที่ยวภายใน เสียค่ารถคนละ 30 บาท สามารถลงรถในจุดต่างๆได้ภายใน 1 วัน หรือจะขับรถไปเองเพื่อไปยังอุทยานผักพื้นบ้าน ภายในพื้นที่ 26 ไร่ เป็นศูนย์รวมของผักพื้นบ้านจากทุกภาคกว่า 500 ชนิด ทั้งที่พบได้ทั่วไปและหายาก อาทิ ผักทำมังที่มีกลิ่นเหมือนแมงดา สามารถนำมาใช้แทนแมงดาได้ งิ้วดอกแดงที่นำดอกไปทำแกงแค ตลอดจนชื่อแปลกๆอย่าง พ่อค้าตีเมีย ที่เป็นพืชตระกูลเฟิร์น สามารถนำมารับประทานเป็นผักสดปลูกโดยใช้วิธีทางชีวภาพ
ตื่นตากับปลานานพันธ์
อีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด คือ สถานแสดงพันธ์ปลา ภายในจัดเป็นสถานแสดงพันธ์ปลาน้ำจืดจากแหล่งน้ำภาคกลาง และปลาทะเล มีทั้งอุโมงค์ปลาที่สามารถเดินลอดได้ อุปมาดังว่าเราได้ลงไปชมความเป็นอยู่ของสัตว์ใต้ทะเลแบบใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีบ่อเลี้ยงจระเข้ในสภาพธรรมชาติ โดยทำสะพานล้อมรั้วให้เดินชมได้ด้วย
รับประทานอาหารที่ไหนดี
ชื่นชมพันธ์ปลาต่างๆจนเลยมื้อเที่ยง ก็ออกมาหาอาหารที่ร้านค้าด้านนอก ซึ่งตั้งเรียงรายเป็นทิวแถว อาหารส่วนใหญ่จะปรุงด้วยปลาน้ำจืดที่มีในแถบนั้น ค่อนข้างรสจัด ถ้าคุณเป็นคนที่รับประทานอาหารรสไม่เผ็ดจัดนัก ก็ให้ไถ่ถามและบอกให้ปรุงรสเผ็ดน้อยลง หรือสั่งอาหารประเภทเผา ทอด นึ่งมาทานน่าจะดี เพราะมีน้ำจิ้มมาให้ต่างหาก
ตรเวนเที่ยวศูนย์ควายไทย
เดินทางย้อนมาถึง อ.ศรีประจันก็จะถึง "บ้านควาย" ที่นี่จะได้ชมความน่ารักแสนรู้ของควาย และยังแสดงถึงวิถีชีวิตชาวบ้านชาวนาดั้งเดิม ในพื้นที่กว่า 10 ไร่ จากนั้นเริ่มเข้าชมเรือนไทย ในหมู่บ้านชนบทชาวนาไทย ซึ่งมีทั้งเรือนผูกขนาดย่อม เรือนไม้ที่ใหญ่กว่า มียุ้งฉาง เครื่องมือ เครื่องใช้ในบ้าน ในการทำนา การปลูกพืชผักที่ใช้ในชีวิตประจำวันไว้รอบบ้าน พร้อมกับไปชมเรือนไทยหมู่ภาคกลาง ซึ่งเป็นเรือนคหบดีขนาดใหญ่ มีชานเชื่อมต่อกัน แสดงความมั่งคั่งของเจ้าของเรือน โดยบริเวณใต้ถุนเรือนมีการสาธิตการทำเครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา และบริเวณรอบๆมีโรงหบอ้อยที่ใช้แรงควาย สวนสมุนไพร และร้านขายของที่ระลึก
พอใกล้เวลา 16.00 น. มีการแสดงของควายให้ชมกัน เขาเลือกเอาควายที่แข็งแรง รูปร่างและสุขภาพดี ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีให้ทำตามคำสั่งที่ครูฝึกสั่งได้ แสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่สื่อถึงกันได้อย่างน่ารักมาก เราได้เห็นควายตัวใหญ่หันซ้าย ขวา ย่อตัว คลานเข่า สวัสดี เกร็งนอนตาย ยิ้ม และขึ้นบันไดสูงหลายชั้นไปยืนบนยกพื้น เรียกเสียงหัวเราะอย่างหรรษาจากผู้ชมได้ตลอดการแสดง
เก็บมาฝาก
๐ บึงฉวาก เปิดทุกวัน เวลา 08.30 - 16.00 น.
๐ สถานแสดงพันธ์ปลา เสียค่าผ่านประตูคนละ 20 บาท
๐ หมู่บ้านควาย เสียค่าผ่านประตูคนละ 20 บาท เด็ก 10 บาท ส่วนคนสุพรรณไม่เสียเงินแค่แสดงบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่ดู
๐ เข้าชมการแสดงของควาย เสียค่าชม 20 บาท เด็ก 10 บาท
๐ หากต้องการขี่เกวียนเทียมควาย ต้องจ่ายคนละ 20 บาท เด็ก 10 บาท
๐ ของฝากที่ต้องซื้อ คือ สาลี่ มีหลายร้านให้เลือกซื้อ เช่น ร้านครัวใบไม้, ร้านโก๊ะข้าวต้ม, เกษราบ้านสาลี่สุพรรณ และศูนย์ของดีเมืองสุพรรณ (ชะลอมยักษ์)