ผลการศึกษาเผย "นอนน้อยเพียงนิด ชีวิตก็อ้วนขึ้นได้"




การนอนพักผ่อนน้อย นอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ซึ่งนำไปสู่การมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย

โดยผลการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านวารสารทางการแพทย์ด้านโภชนาการคลีนิคแห่งสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า การนอนหลับน้อยเกินไปจะส่งผลให้ระบบการดูดซึมสารอาหารของร่างกายลดลง และทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานที่ได้รับในแต่ละวันลดลง ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว และก่อให้เกิดโรคอ้วน
 

ด้านนายคริสเตียน เบเนดิคต์ จากมหาวิทยาลัยอัพซาลา ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้ทำการวิจัยสรุปว่า การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การขาดการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอเพียงหนึ่งคืน จะลดการเผาผลาญพลังงานในเพศชายที่มีสุขภาพสมบูรณ์อย่างรุนแรง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการนอนหลับมีส่วนสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อการเผาผลาญพลังงานที่ร่างกายได้รับในช่วงเวลากลางวันของมนุษย์

ขณะที่ผลการศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า การขาดการนอนหลับที่เพียงพอและการเพิ่มของน้ำหนักตัวมีส่วนสัมพันธ์กัน และแสดงให้เห็นว่าการนอนหลับไม่สนิทได้ส่งผลกระทบต่อระดับของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียดและความหิว ในระหว่างที่คนๆนั้นกำลังตื่น

เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงกระบวนการทำงานที่แท้จริงของผลกระทบอันเกิดจากการนอนหลับไม่เพียงพอ นายเบเนดิคต์และคณะ ได้ทำการทดลองโดยให้นักศึกษามหาวิทยาลัยชายจำนวน 14 คน ทดสอบในสภาพการนอนที่แตกต่างกัน อาทิ การย่นระยะเวลาการนอนให้สั้นลง การห้ามนอน และการนอนปกติ เป็นเวลาหลายวัน ต่อมาจึงทำการวัดระดับการเปลี่ยนแปลงในการรับประทานอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับฮอร์โมน และระดับการเผาผลาญอาหาร

ผลการทดสอบพบว่า การอดนอนแม้เพียงเวลาคืนเดียว จะทำให้ระดับกระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกายชะลอลงในเช้าวันถัดมา ลดระดับการใช้พลังงาน แม้แต่ในการหายใจ หรือการย่อยอาหาร กว่าร้อยละ 5 ถึง 20 เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลที่นอนหลับอย่างเพียงพอ

ขณะที่ในชายหนุ่มที่นอนหลับไม่สนิทพบว่า ในช่วงเช้ามีระดับน้ำตาลเลือด ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความหิว เช่น เกรลิน (ghrelin) และฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด อาทิ คอร์ติซอล (cortisol) ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ การนอนที่ไม่เพียงพอไม่ส่งผลให้บุคคลนั้นมีระดับการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

โดยผลการศึกษาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ยังเสนอว่า บุคคลที่นอนหลับเป็นเวลา 5 ชม.หรือน้อยกว่านั้น มีแนวโน้มที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และอาจเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการอ้วน อาทิ โรคเบาหวานประเภทที่ 2 แต่ไม่ได้มีข้อพิสูจน์ว่าการนอนหลับไม่เพียงพอส่งผลต่อน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึนหรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัจจัยต่างๆ อาทิ การใช้ชีวิตประจำวัน และการอดอาหาร อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนยิ่งขึ้น และยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการพักพักผ่อนไม่เพียงพอนำไปสู่การเกิดโรคอ้วนหรือไม่ 

ด้านนายแซนฟอร์ด เออร์บาค หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านความผิดปกติในการนอนหลับ แห่งศูนย์การแพทย์บอสตัน ระบุว่า ความบกพร่องในการนอนหลับเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ขณะที่การทำสมาธิ และวิธีอื่นๆอาจช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น และเรียกร้องให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยผลการศึกษาแสดงว่าร่างกายของเราเริ่มปรับตัวต่อสภาพการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งในทางทฤษฎี นั่นอาจนำไปสู่การเกิดโรคอ้วน โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า ยังไม่แน่ชัดว่า การนอนน้อยติดต่อกันเป็นเวลานานส่งผลต่อระดับฮอร์โมนใดๆหรือไม่

โดยมูลนิธิเพื่อการนอนหลับแห่งชาติของสหรัฐฯ แนะนำให้ผู้ใหญ่ควรพักผ่อนอย่างน้อย 7 ถึง 9 ชม. ต่อคืน


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement