ปริกำเนิด คำที่ไม่คุ้นกับภาวะครรภ์เสี่ยง


ว่าที่คุณแม่และครอบครัวมักมองว่า การตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่สวยงาม โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบเลยว่า การตั้งครรภ์ในแต่ละครั้ง มารดาทุกคนมีโอกาสเกิดความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น

สาเหตุที่ทำให้การตั้งครรภ์มีความเสี่ยง เป็นอันตรายต่อมารดาและทารก ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และหลังคลอด จะเกิดขึ้นกับหญิงที่มีประวัติคลอดบุตรแล้วบุตรเสียชีวิตในครรภ์ ระหว่างคลอด หลังคลอด ประวัติเคยแท้งบุตรเกิน 2 ครั้ง ทารกคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ หรือคลอดหลังอายุครรภ์เกิน 42 สัปดาห์ เคยคลอดบุตรที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือมากกว่า 4,000 กรัม ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ ทารกพิการทางสมอง มารดาเคยผ่านการผ่าตัดมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์ ตั้งครรภ์แฝด ทารกในครรภ์อยู่ในท่าที่ผิดปกติไม่สอดคล้องกับอายุครรภ์

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงมาจากมารดาที่ตั้งครรภ์ขณะมีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 40 ปี ระหว่างตั้งครรภ์มีเลือดออกทางช่องคลอด มีหมู่เลือด Rh ลบ มีก้อนในอุ้งเชิงกรานระหว่างตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มม.ปรอท มารดาเป็นเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน เป็นโรคไต ป่วยด้วยโรคหัวใจ ติดยาเสพย์ติดหรือสุรา ติดเชื้อ HIV เป็นพาหะตับอีกเสบบี รวมถึงป่วยเป็นโรคทางอายุรกรรมต่างๆ อาทิ โลหิตจาง ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ วัณโรค ธาลัสศีเมีย  

ในงานเปิดศูนย์เวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ศ.พญ.อรดี จันทวสุ กุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด ระบุว่าความเสี่ยงข้างต้นอาจทำให้มารดาหรือทารกเสียชีวิตได้ แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถดูแล รักษา และป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียได้ด้วยการร่วมมือระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาทารกแรกเกิดกับสูตินรีแพทย์ และในบางกรณีอาจต้องร่วมกับแพทย์ในแขนงอื่นๆ อันจะพบได้ที่ศูนย์เวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด

คำว่า ‘ปริกำเนิด’ อาจเป็นคำที่ไม่คุ้นตา โดยความหมายที่พบในเว็บไซต์สมาคมเวชศาสตร์ปริกำเนิดแห่งประเทศไทย ระบุความหมายว่า ระยะเวลารอบๆ การเกิดของทารก ซึ่ง ศ.พญ.อรดี เล่าเสริมว่า ในวิชาแพทย์ คำดังกล่าวถูกใช้มาราว 40 ปี พร้อมกับการเกิดสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถดูแลมารดาและทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด ให้ปลอดภัยจากความเสี่ยงและภาวะวิกฤติ หรือในกรณีฉุกเฉิน

หน้าที่ของศูนย์เวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด คือการดูแลทั้งมารดาและทารกที่มีความเสี่ยงทุกชนิด อาทิ คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย เพียงแค่ 500-1,500 กรัม การผ่าตัดหัวใจทารก มารดามีโรคแทรกซ้อน ด้วยห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ไม่ต้องไปใช้ร่วมกับแผนกอื่นๆ เช่น ห้องไอซียูหรือห้องบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (NICU) 

อุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์ในด้านนี้ยังใช้เทคโนโลยีเฉพาะเพื่อการตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว อาทิ เทคโนโลยีการตรวจเลือดในทารกที่ใช้เลือดน้อยและรู้ผลเร็ว การ X-Ray Bed Side ที่สามารถเอ็กซเรย์ทารกดได้ที่เตียงทารกโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปที่ศูนย์เอ็กซเรย์ หรือเครื่องอัลตราซาวนด์ 2 มิติ ดูลักษณะทารกในครรภ์แบบผิวเผิน ส่วนแบบ 3 มิติ จะเห็นได้ทุกมุม และ 4 มิติ เห็นทุกมุมพร้อมการเคลื่อนไหวของทารก

หัวใจสำคัญของเวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด  คือการดูแลมารดาพร้อมกับทารกในครรภ์โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีการวางแผนการรักษาอย่างรอบคอบ ไม่ตระหนกกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำเรื่องผิดปกติให้กลายเป็นปกติ เป้าหมายเพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น ขณะคลอด หลังคลอดมีความปลอดภัยทั้งมารดาและทารก

การจะทราบว่า มารดาเข้าข่ายครรภ์เป็นพิษหรือไม่นั้น ศ.พญ.อรดี แนะให้เตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ด้วยการตรวจสุขภาพ หากพบปัญหาสุขภาพ ก่อนตั้งครรภ์ต้องรักษาให้หายหรือควบคุมโรคให้ได้ก่อน จากนั้นเมื่อตั้งครรภ์แล้วควรปรึกษาและให้แพทย์ตรวจครรภ์เป็นระยะ โดยเฉพาะการอัลตราซาวนด์ให้แพทย์มองเห็นครรภ์และทารก หากพบความเสี่ยงจะได้ดูแลอย่างทันท่วงที.

ที่มา เดลินิวส์





แสดงความคิดเห็น






Insurance


Advertisement