อมยิ้มปลอมระบาด ลูกอมปีศาจภาคใหม่?!?


อมยิ้ม’ หรือเรียกตามภาษาฝรั่งว่า โลลลี่ป็อป (Lollipop) เป็นก้อนแข็งของลูกอมที่ติดอยู่ปลายของแท่ง คาดว่ามาจาก รากศัพท์ของ lolly (tongue) ลิ้น + pop แต่คนไทยคิดชื่อขนมหวานยอดนิยมของเด็กๆ ทั่วโลกได้น่ารักน่าชิมลิ้มรสกว่าอย่างอารมรณ์ดีว่า อมยิ้ม ซึ่งดูเหมือนไม่น่ามีอะไรสำคัญสำหรับขนมเด็กๆ ที่ดูไม่มีพิษภัยท่ามกลางสีสันสดใสดึงดูดใจเด็กๆ ของขนมหวานกินเล่นชนิดนี้ 
        
      
แต่จากกระแสข่าวดังในรอบสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อทางเจ้าหน้าที่ ซึ่งนำทีมโดย นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  (อย.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทนัย อภิชาติเสนีย์  รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (รอง ผบก.ปคบ.) ได้เข้าไปตรวจสอบแหล่งผลิตอมยิ้มปลอม ย่านทุ่งครุ กรุงเทพฯ หลังจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ผลิตอมยิ้มรายหนึ่งว่า ได้มีผู้ลักลอบผลิตอมยิ้มปลอม เลียนแบบอมยิ้มของโรงงานตนเองที่ได้ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย
      
โดยมีการเลียนแบบทั้งรูปร่าง ลักษณะ หีบ ห่อ ฉลาก ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการบริโภคของเด็กได้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบของกลาง เป็นอมยิ้มที่ผลิตเลียนแบบยี่ห้อที่ขออนุญาตถูกต้อง 7,000 แท่ง รวมทั้งพบอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เช่น กระทะ เตาแก๊ส หม้อต้ม เครื่องพิมพ์ เครื่องขึ้นรูป พร้อมทั้งฉลาก และซองที่เตรียมบรรจุเป็นจำนวนมาก และสถานที่ผลิตดังกล่าว ยังไม่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี (GMP - Good Manufacturing Practice หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต ซึ่งหมายถึง หลักเกณฑ์หรือข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตอาหารที่ดี โดยมีระบบการควบคุมทุกขั้นตอน ซึ่งเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ไข เป็นระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหารขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด)
      
มาสำรวจตรวจดูว่าปรากฏการณ์อมยิ้มปลอมระบาดส่งผลสะเทือนต่อเด็กๆ และพ่อแม่ผู้ปกครองกันอย่างไรบ้าง
      
ย้อนรอยลูกอมปีศาจ
       
หากย้อนกลับไปสู่อดีตกาล อมยิ้มอันแรกนั้นตามการค้นคว้าของสมาคมขนมแห่งชาติ (National Confectionary Association) ของสหรัฐอเมริกา สันนิษฐานว่า เกิดจากคนถ้ำที่ใช้แท่งเก็บรวมน้ำผึ้ง โดยไม่ต้องการทิ้งน้ำผึ้งไป และชอบใช้วิธีการเลียภาชนะ นั่นจึงทำให้ก้อนลูกอมติดบนแท่งถือกำเนิดขึ้น
      
จากบันทึกของชาว อาหรับ จีน และอียิปต์โบราณนั้น รู้จักวิธีการนำผลไม้และถั่วมาเคลือบน้ำผึ้งที่เรียกว่า แคนดี้ด (candied) เพื่อเป็นถนอมผลไม้ไว้กินได้นานๆ และแท่งไม้ก็เริ่มมีส่วนในการช่วยให้การกินง่ายขึ้น ส่วนในยุคกลางของยุโรปน้ำตาลมีคุณค่าและราคาแพงเพื่อให้สามารถเก็บไว้ได้จึงมีการต้มน้ำตาลและทำให้อยู่ในรูปก้อนแข็งและทำให้ง่ายในการกินและดูหรูหราโดยการเสียบเป็นแท่งจนถึงในศตวรรตที่ 17 ที่น้ำตาลมีเยอะและหาได้ง่าย มีการนำน้ำผลไม้มาผลิตเป็นลูกอมเจ้าของ บริษัทแมคอวินีย์ แคนดี้ พยายามที่นำลูกอมแข็งๆ ติดกับแท่งไม้เพื่อให้ลูกของเขา และในปี 2451 จอร์จ สมิธ ได้ให้ชื่อลูกอมแข็งๆติดกับแท่งไม้ว่า ‘โลลลี่ป็อป’ และได้รับความชื่นชอบ ในปีเดียวกันนั้นเองที่บริษัทราซีน แมชชีน ได้ผลิตเครื่องจักรผลิตอมยิ้มได้เป็นเครื่องแรกโดยสามารถผลิตได้ถึง 2,400 ชิ้นต่อชั่วโมงเลยทีเดียว จนถึงปัจจุบันอมยิ้มกลายเป็นขนมหวานยอดฮิตของเด็กๆ ด้วยสีสัน รสชาติรูปทรงที่หลากหลาย สำหรับผู้ใหญ่อมยิ้มก็ทำให้นึกถึงความสนุกสนานได้เป็นอย่างดี
      
สำหรับในเมืองไทยเอง ลูกอม ทอฟฟี่ อมยิ้ม ก็เป็นของกินเล่นสนุกสนานสำราญใจของเด็กๆ มายาวนนาน และมาเกิดเรื่องในปี 2543 กับเกรต มอนสเตอร์ (Great Monster) หรือที่เด็กๆ รู้จักกันในนามของ ‘ลูกอมปีศาจ’ เป็นกระแสข่าวที่โด่งดังในอดีต ซึ่งการรับประทานลูกอมชนิดนี้ ในปริมาณมากจะก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน หากรับประทานเป็นเวลานานจะเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกาย ที่เกิดจากปริมาณของสีผสมอาหารที่มีอยู่ในลูกอมเหล่านี้ ทำให้เกิดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ชีพจร และการหายใจอ่อนลง
      
ข่าวฮือฮาเรื่อง ‘ลูกอมปีศาจ’ หรือ ‘อมยิ้มเรืองแสง’ ดังกล่าว มีการอ้างว่านำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น จีน วางจำหน่ายอย่างแพร่หลายในท้องตลาด และยังมีการโฆษณาขายทางอินเทอร์เน็ต รับสั่งจองล่วงหน้าและบริการจัดส่งสินค้าทางไปรษณีย์อีกด้วย จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ มีลักษณะรูปร่างคล้ายอมยิ้มทั่วไป แต่ในส่วนก้านเป็นหลอดพลาสติกใส ข้างในมีของเหลวบรรจุอยู่ เมื่อหักก้านอมยิ้มจะทำให้เกิดการเรืองแสง และทำให้เกิดการปนเปื้อนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
      
ถึงคิว ‘อมยิ้มปลอม 2554’ 
        
การที่สินค้าใดจะสามารถวางขายได้ตามท้องตลาดนั้น ต้องผ่านกระบวนการผลิต รวมทั้งขั้นตอนต่างๆ ในการตรวจสอบมากมาย ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าเลียนแบบเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ ทั้งนี้เพราะสินค้าบางประเภท สามารถสร้างกำไรได้อย่างมหาศาล จึงก่อให้เกิดการปลอมแปลงเลียนแบบขึ้น โดยสินค้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วไม่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะผู้บริโภคในวัยเด็กและเยาวชน ซึ่งขาดการพิจารณาก่อนซื้อ
      
กรณีของอมยิ้มปลอมที่กำลังระบาดและถูกตรวจจับได้ มีการทลายโรงงานจนเป็นข่าวโด่งดังนั้น ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหาร อย. ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สถานการณ์ในขณะนี้ยังถือว่าสามารถควบคุมได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเฝ้าระวังมาโดยตลอด โดยกรณีของอมยิ้มปลอม ซึ่งเลียนแบบทั้งตัวผลิตภัณฑ์ ฉลาก และบรรจุภัณฑ์ ก็ถือเป็นกรณีแรกที่ถูกจับได้ ส่วนใหญ่คนที่เดือดร้อนจะเป็นผู้ประกอบการเองที่มาแจ้งว่า มีผู้ผลิตรายอื่นปลอมยี่ห้อของตนเอง
      
“โดยผู้ผลิตอาจจะแจ้งว่า ของๆ ตน ไม่ได้มาวางขายบริเวณนี้ หรือมีผู้ผลิตรายอื่นปลอมเลข อย.ของตนเอง ซึ่งผู้กระทำผิดจะถูกดำเนินคดี จำคุก 6 เดือน -10 ปี และปรับ 5,000-100,000 บาท ส่วนในกรณีของสินค้าประเภทอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค เช่น ใช้สีเกินมาตรฐานที่กำหนดและมีปริมาณสารปรอท กินแล้วอาเจียน เป็นอันตรายต่อร่างกายก็ต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งรวมไปถึงอาหารนำเข้าบางประเทศจะมีบอเร็กซ์ สารกันรา ฟอร์มาลีน เพราะถือว่าเป็นสารต้องห้าม โดยสามารถสังเกตได้ง่ายๆ อาหารเหล่านี้จะไม่มีทะเบียน อย. หรือไม่มีฉลากภาษาไทย และไม่มีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมาย อย.ที่ฉลาก เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งหากทางอย.ตรวจพบก็จะยึดไว้ แม้อาหารเหล่านี้เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม เพราะถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับอนุญาต” 
      
ตลาดน้ำ+ตลาดโบราณ ย่านฮิตขายอมยิ้มปลอม 
       
สินค้าปลอมปนไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน ล้วนส่งผลอันตรายต่อผู้บริโภค การรับประทานสินค้าเลียนแบบ หรือสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานนั้น ย่อมก่อเกิดผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างแน่นอน ยิ่งเป็นสินค้าบริโภคเพื่อวางจำหน่ายหรือขายให้แก่เด็กและเยาวชนยิ่งต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิของพวกเขายัง อ่อนด้อยและขาดประสบการณ์ในการเลือกสรร หรือซื้อสินค้า ทำให้ถูกหลอกลวงได้ง่ายจากสินค้าปลอมหรือด้อยคุณภาพ สินค้าเหล่านี้มักมีสีสันที่จัดจ้าน หากใช้สีที่ไม่ได้รับอนุญาต เช่น สีย้อมผ้า หรือใส่สีอื่นๆในปริมาณมากเกินไป จะก่อให้เกิดสารปรอทสะสมในตับและไต ทำให้มีอาการไตวายเฉียบพลัน หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
      
สถานที่จำหน่ายขนมขบเคี้ยวและสินค้าเลียนแบบประเภทอื่นๆ มักพบได้ทั่วไปตามร้านค้าต่างๆ หรือตามตลาดนัดขายสินค้าราคาถูก แต่แหล่งศูนย์รวมที่มีสินค้าประเภทนี้ขายเป็นจำนวนมากส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณแหล่งท่องเที่ยวตามตลาดน้ำ  ตลาดโบราณซึ่งถือว่าเป็นจุดที่มีความสุ่มเสี่ยงค่อนข้างมากกว่าบริเวณอื่น นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า คงต้องเพิ่มมาตรการดูแลให้มากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อมิให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กๆ ได้รับอันตรายจากอาหารเหล่านี้ โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวตามตลาดน้ำ และตลาดโบราณ เช่น ตลาดน้ำดำเนินสะดวก ,ตลาดน้ำดอนหวาย ,ตลาดน้ำอัมพวา ,ตลาดน้ำสามชุก, ตลาดน้ำร้อยปี และอีกหลายแห่ง โดยจำหน่ายในราคาแท่งละ 15-20 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมากกว่าที่อื่น เนื่องจากมีร้านที่ขายขนมมีความสุ่มเสี่ยงอยู่เป็นจำนวนมาก แถมกำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอีกต่างหาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบและจับกุม ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
      
เสียงครวญจากพ่อแม่ผู้ปกครอง
ลูกเปรียบเสมือนเป็นแก้วตาดวงใจของคนที่เป็นพ่อแม่ เพราะฉะนั้น ความห่วงใยที่มีต่อบุตรหลานของคนเป็นพ่อเป็นแม่ยิ่งมีทวีคุณ เมื่อมีข่าวโด่งดังถึงอมยิ้มปลอม อย่างคุณแม่รายหนึ่งให้เกิดข้อคิดเห็นว่า ทุกวันนี้มีลูก ก็ห่วงลูกในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัย หรือเรื่องของอาหารการกินต่างๆ จากข่าวที่ได้อ่านมา จะเห็นได้ว่าแม้แต่พวกขนมมันก็ไม่ปลอดภัย มีทั้งขนมที่ผลิตแบบไม่มีการรับรองคุณภาพไม่มี อย. หรือหนักหน่อยก็เป็นอาหารและขนมที่ติด อย. ปลอมก็เคยได้ยินมาเหมือนกัน
       
เช่นเดียวกับ ภคพร อำมาตย์มณี ชุบอินทรจักร์ คุณแม่ลูกหนึ่ง เล่าให้ฟังถึงภัยเกี่ยวกับอาหารการกินที่วนเวียนอยู่รอบตัวเธอและลูก ซึ่งมันทำให้เธอต้องระแวดระวังเกี่ยวกับการซื้อหาอาหารและขนมของลูกมากขึ้น
      
“ทุกครั้งที่อ่านข่าวเรื่องของภัยเกี่ยวกับอาหาร ก็จะรู้สึกว่าพวกคนที่ทำขนมหรืออาหารที่ไม่มีมาตรฐานออกมาขาย เขาคงไม่มีลูก เขาเลยไม่รู้ว่าพ่อแม่รักและเป็นห่วงลูกขนาดไหน ล่าสุดก็เพิ่งอ่านข่าวที่จับโรงงานอมยิ้มเถื่อนในไทยไป ยิ่งทำให้เราต้องระวังมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนเราคิดว่าของไม่ได้มาตรฐานพวกนี้ส่วนมากจะมาจากจีนหรือมาจากแถบชายแดน แต่นี่มันผลิตกันในประเทศเองเลย”
      
ภคพร ยังกล่าวต่อไปอีกว่า หนทางที่ทำได้ก็คงได้แต่ดูแลตนเองและลูก ต้องสอนให้ลูกรู้จักเลือกซื้อขนม ซื้ออาหารให้ดี เพราะจะไปหวังให้ภาครัฐจัดการอย่างเดียวคงไม่ได้
      
“ตอนนี้ก็สอนลูกเลยนะว่าอย่าไปซื้อขนมหรืออาหารตามข้างทางกิน ถ้าจะซื้อขนมอย่างน้อยก็ต้องไปซื้อในซูเปอร์มาร์เกต หรือร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ๆ คือเราไม่ได้ปลูกฝังค่านิยมให้ลูกกินของแพงนะ แต่อยากให้ลูกบริโภคสิ่งที่รู้ที่มาที่ไป เพราะอย่างน้อยการไปซื้อขนมในร้านสะดวกซื้อ เราก็ไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง”
      
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ผู้ปกครองควรปลูกฝังให้เด็กๆ เลือกซื้อสินค้าที่มีการรับรองจาก อย. และเลือกซื้อสินค้าที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่ตัวเด็กเอง.

ขอบคุณ ผู้จัดการ

Tag :




แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement