เส้นเลือดขอด โรคฮิตของคุณผู้หญิง


อาการเส้นเลือดขอดหรือ Varicose vein เกิดจากความผิดปกติของลิ้น และผนังหลอดเลือดดำ ทั้งนี้ปกติเวลาที่เรายืน แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดเลือดในเส้นเลือด ให้ลงไปสู่สนามแม่เหล็กโลก ทำให้เลือดที่ขามีแรงดันในผนังเส้นเลือด มากกว่าเลือดที่อยู่ส่วนบนของร่างกาย หากมีการอุดตันของลิ้นในหลอดเลือดดำ หรือมีการอักเสบที่ผนังหลอดเลือดดำร่วมด้วย ก็จะยิ่งทำให้เลือดคั่งอยู่ใน หลอดเลือดส่วนปลาย จึงทำให้ผนังหลอดเลือดดำที่ชั้นใต้ผิวหนัง เกิดการขยายตัวแบบผิดปกติ กลายเป็นเส้นเลือดขอดตามมา

อาการของเส้นเลือดขอด

โดยปกติคนที่เป็นเส้นเลือดขอด จะมีอาการทางกายที่สังเกตเห็นได้ด้วยตัวเอง คือ มีเส้นเลือดโป่งพองสีเขียวคล้ำ คดไปมาเกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่บริเวณตาตุ่ม น่อง ขาพับ ต้นขา โคนขา สะโพก หน้าท้อง และตามส่วนอื่นๆ เมื่อกดดูจะรู้สึกเจ็บและตึงบริเวณที่เป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการมีประจำเดือน อาการเหล่านี้จะยิ่งแสดงออกมากขึ้น

ในรายที่เป็นหนัก หากยืนหรือนั่งในอิริยาบถเดิมๆ เป็นเวลานานหลายชั่วโมง จะยิ่งมีอาการปวดขาและบวมที่เท้า เนื่องจากปริมาณของเลือดและน้ำเหลือง ไปคั่งบริเวณขาและเท้ามากกว่าคนปกติ ทำให้มีน้ำเหลืองซึมออกมานอกเส้นเลือด เกิดอาการเกร็งแบบผิดปกติของกล้ามเนื้อ จนทำให้เป็นตะคริวในตอนกลางคืน และรู้สึกคันที่ผิวหนังบริเวณนั้น หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอย่างถูกวิธีจากแพทย์ อาจทำให้เกิดการอักเสบ จนเส้นเลือดในบริเวณนั้นแตก และเป็นอันตรายได้

ใครคือกลุ่มเสี่ยง

อาการเส้นเลือดขอด มักพบในผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 40 -50 ปี ผู้สูงอายุ คนอ้วน และหญิงมีครรภ์ ทั้งยังพบอีกว่า หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นเส้นเลือดขอดมาก่อน ก็มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าวในอนาคตมากกว่าคนทั่วไป

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุน้อย ก็มีอัตราเสี่ยงต่ออาการเส้นเลือดขอดได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งนานๆ เช่น พนักงานต้อนรับ บริกรร้านอาหาร ทันตแพทย์ พนักงานในห้างสรรพสินค้า รวมทั้งพนักงานบริษัทที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ เป็นต้น

การรักษาอาการเส้นเลือดขอด

ในปัจจุบัน แพทย์มีวิธีในการรักษาอาการเส้นเลือดขอดอยู่สองแนวทางคือ การรักษาแบบประคับประคอง โดยจะเน้นหนักไปในทางการป้องกันและรักษาตามอาการ เช่น หากบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดมีอาการปวด ก็ให้ใช้การบีบนวด การเปลี่ยนอิริยาบถ หรือการใส่ถุงน่องชนิดพิเศษ เพื่อรัดประคองเส้นเลือดดำตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยลดอาการบวมของขา เป็นต้น

การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะใช้เมื่อมีอาการหนัก หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เป็นอันตราย เช่น เท้าบวมมาก มีแผลเรื้อรัง ผิวหนังบริเวณนั้นอักเสบ เป็นต้น ทั้งนี้ยังพบว่า ถึงแม้ว่าจะรักษาโดยการผ่าตัดแล้วก็ตาม หากยังต้องยืนหรือนั่งด้วยอิริยาบถเดิมๆ เป็นเวลานานๆ ผู้ป่วยก็มีโอกาสกลับมาเป็นเส้นเลือดขอดได้อีก

ทำอย่างไรเมื่อเป็นเส้นเลือดขอด

คำแนะนำเบื้องต้น สำหรับผู้เป็นเส้นเลือดขอดในระยะเริ่มแรก

  • ไม่ควรยืนหรือนั่งเฉยๆ เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้แรงดันในเส้นเลือดดำสูงขึ้น จนเกิดอาการเจ็บที่บริเวณเส้นเลือดขอดได้ ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้อย่างเต็มที่ 
  • หาเวลาออกกำลังกายตามสภาพอายุ เช่น เต้นแอโรบิค เล่นโยคะ การเดิน เป็นต้น เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ ช่วยให้ลิ้นของเส้นเลือดดำมีการเปิดปิดได้สะดวก และระบบเลือดในร่างกายมีการหมุนเวียนที่ดีขึ้น 
  • หลีกเลี่ยงการสวมสเตย์หรือเสื้อผ้าที่รัดติ้ว เพราะจะยิ่งทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือด และลิ้นของเส้นเลือดดำทำงานลำบากขึ้น 
  • พยายามนอนยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ โดยใช้หมอนหนุนบริเวณปลายเท้า หรือใต้หัวเข่า ซึ่งจะช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น และลดอาการปวด และทำให้ลักษณะของเส้นเลือดขอดมีขนาดเล็กลง เป็นต้น


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement