นับตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ คุณแม่อย่างเราก็ต้องระวังรักษาสุขภาพกันเป็นพิเศษ และเมื่อถึงเวลาที่เค้าจะลืมตาดูโลก สุขภาพของเจ้าตัวเล็กยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคงไม่มีคุณแม่คนไหนสบายใจไปได้หากลูกน้อยมีสุขภาพกายที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง เอาเป็นว่าวันนี้เราลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัสร้ายที่อาจส่งผลกระทบพัฒนาการของลูกน้อยที่น่ารักของคุณแม่กันได้ค่ะ
เมื่อลูกน้อยเข้าสู่วัยซุกซนมือไม้ไม่อยู่นิ่ง เค้าก็มักจะหยิบสิ่งของหรือของเล่นเข้าปากซึ่งสิ่งของเหล่านี้ล่ะคือพาหะตัวร้ายที่นำเชื้อไวรัสโรต้าเข้าสู่ร่างกายของเด็กๆค่ะ เจ้าวายร้ายโรต้านี่ล่ะที่ทำให้เยื่อบุผนังลำไส้ฝ่อตัวจนไม่สามารถดูดซึมสารอาหารและเกลือแร่ได้ตามปกติค่ะ ผลที่ตามมาน่ะเหรอ เด็กจะมีอาการ อาเจียน ไข้และท้องร่วงตามมา ซึ่งทราบไหมคะว่าอาการท้องร่วงน่ะอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียวหากร่างกายของเด็กขาดน้ำอย่างเฉียบพลัน และเมื่อกระบวนการดูดซึมอาหารของเจ้าตัวเล็กบกพร่อง เค้าอาจจะมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติที่อยู่ในวัยเดียวกันค่ะ ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งระบุไว้ว่า เด็กที่มีอาการท้องร่วงจนกระทบต่อกระบวนการดูดซึมอาหารนั้นจะมีร่างกายที่เตี้ยกว่าเด็กทั่วไปในวัยต่ำกว่า7 ปี ราว 8.2 ซม. อีกทั้งเด็กอายุต่ำกว่า 2ปีที่มีอาการท้องร่วงซ้ำบ่อยๆจะมี IQ ต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน 10 จุด เชียวนะคะ รู้อย่างนี้แล้ว ประมาทไม่ได้เชียว
ทำไมเด็กๆในช่วงวัย 1-2 ปีถึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรต้าน่ะเหรอคะ ก็เพราะเด็กในวัยนี้น่ะกำลังซุกซน ห้ามยังไงก็ไม่ฟัง ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุน่ะแหละค่ะ และที่สำคัญ เด็กในช่วงวัยนี้น่ะ ร่างกายของเค้ากำลังอยู่ในช่วงที่สมอง ระบบประสาทและร่างกายกำลังเจริญเติบโต การติดเชื้อวายร้ายอย่างโรต้าจะมีผลให้การเจริญเติบโตเหล่านั้นหยุดชะงัก
และเนื่องจากไวรัสโรต้าเป็นเชื้อที่ทนทานและป้องกันได้ยาก ดังนั้น วิธีการป้องกันไวรัสโรต้าที่ดีที่สุดก็คงไม่พ้นการป้องกันด้วยวัคซีนค่ะ พาเด็กๆไปปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับวัคซีนเสียตั้งแต่วันนี้แล้วคุณแม่จะอุ่นใจ เพราะยิ่งป้องกันได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งมั่นใจได้มากขึ้นเท่านั้น
ปัจจุบันวัคซีนมี 2 ชนิด คือชนิดที่กิน 2 ครั้งและชนิดที่กิน 3 ครั้ง โดยวัคซีนที่กิน 3 ครั้งจะให้กินเมื่อเด็กอายุ 2,4,6 เดือน ซึ่งจะให้การป้องกันหลัง 6 เดือน แต่สำหรับวัคซีนที่กิน 2 ครั้งจะให้เมื่อเด็กอายุ 2,4 เดือน ซึ่งจะทำให้ได้รับการป้องกันตั้งแต่ 4 เดือน โรคนี้ ยิ่งป้องกันได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งปลอดภัยเร็วเท่านั้นค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง
1. Petri WA Jr, Miller M, Binder HJ, et al. Enteric infections, diarrhea, and their impact on function and development. J Clin Invest. 2008 ;118:1277-90.
2. Schorling JB, Guerrant RL. Diarrhoea and catch-up growth. Lancet. 1990;335:599-600.