3 กุมภาพันธ์ วันทหารผ่านศึก



จากอดีตมาจนปัจจุบัน เมื่อเกิดศึกสงครามชายไทยต้องถูกส่งออกไปทำการรบ เมื่อสำเร็จสิ้นสงครามก็กลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิม ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารไทยที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรบถูกปลดปล่อยอย่างกระทันหัน ทำให้เกิดความเดือดร้อนในการครองชีพ โดยเฉพาะครอบครัวของผู้เสียชีวิตหรือทหารที่พิการทุพพลภาพ ดังนั้น เพื่อหาทางช่วยเหลือทหารผ่านศึกเหล่านี้ รัฐบาลไทยในสมัยนั้น ซึ่งมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้พิจารณาดำเนินการช่วยเหลือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการพิจารณาหาทางช่วยเหลือทหารกองหนุน" เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ คณะกรรมการชุดนี้ได้ปฏิบัติงานโดยใช้สำนักงานและเจ้าหน้าที่ของกรมเสนาธิการทหาร (ปัจจุบันคือ กองบัญชาการทหารสูงสุด) และได้พิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนจากงบประมาณของกระทรวงกลาโหมจำนวนหนึ่ง เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึกนอกประจำการเหล่านั้น เนื่องจากปริมาณงานด้านการให้ความช่วยเหลือในการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกนอกประจำการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การดำเนินงานโดยคณะกรรมการไม่รัดกุมและเหมาะสมกับเหตุการณ์ รัฐบาลจึงจัดตั้ง "องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" ขึ้นเพื่อให้เป็นหน่วยงานถาวร ทำหน้าที่ให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึกและครอบครัวทหารผ่านศึกโดยตรง โดยได้มีการร่างพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งถือเป็นวันทหารผ่านศึกตลอดมา

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ สภาทหารผ่านศึกสภากลาโหม และรัฐบาล ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติเสียใหม่เพื่อเป็นการขยายการสงเคราะห์ให้รวมไปถึง ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนและพลเรือน ซึ่งได้กระทำหน้าที่ป้องกันหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร ทั้งภายในและภายนอกประเทศตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด และรวมถึงทหารนอกประจำการที่มิได้ผ่านศึกด้วย กับทั้งยังได้รวมมูลนิธิช่วยทหารและครอบครัวทหาร ที่ไปช่วยสหประชาชาติทำการรบ ณ ประเทศเกาหลี ให้เข้ามารวมเป็นหน่วยเดียวกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เพื่อให้การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน พระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน

องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ ๖๓ ปัจจุบันมีทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และทหารนอกประจำการ ที่ต้องให้การสงเคราะห์ รวมประมาณกว่าสามล้านคน

สัญลักษณ์วันทหารผ่านศึก

"ดอกป๊อปปี้" ในทางสากลแล้วถือว่า เป็นดอกไม้ที่สื่อความหมายถึง ทหารผ่านศึกผู้พลีเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อปกป้องมาตุภูมิอันเป็นที่รัก และในประเทศไทยยังกำหนดให้เป็น สัญลักษณ์ ของวันทหารผ่านศึก ๓ กุมภาพันธ์ ของทุกปีอีกด้วย ซึ่งในวันนี้ดอกป๊อปปี้สีแดงจะบานสะพรั่งไปทั่วแผ่นดิน

สำหรับประเทศไทยแล้ว การจัดทำดอกป๊อปปี้เพื่อจำหน่ายในวันทหารผ่านศึกเกิดจากดำริของ ท่านผู้หญิง จงกล กิตติขจร ประธานสโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก หรือมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกในปัจจุบัน ที่ต้องการจะดำเนินการหาทุนมาช่วยเหลือทหารและครอบครัวทหารผ่านศึก ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันประเทศ จึงได้เลือกเอาดอกป๊อปปี้สีแดง ซึ่งมีประวัติเกี่ยวโยงถึงสมรภูมิฟลานเดอร์ส สมรภูมิเบลเยี่ยมและเนเธอร์แลนด์ระหว่างสัมพันธมิตร และเยอรมัน ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยสงครามในครั้งนั้น ทหารพันธมิตรได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากสมรภูมินี้มากที่สุด จอมพลเอิร์ล ออฟ เฮก ผู้บัญชาการรบที่นั่นได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าพิศวงและน่าพิศมัยเกิดขึ้น ณ สมรภูมิดังกล่าว ในบริเวณหลุมฝังศพทหาร

โดยมีดอกป๊อปปี้ป่าขึ้นอยู่เดียรดาษทั่วไป ทำให้เกิดเป็นลานสีแดงฉานสวยงาม ตั้งแต่นั้นมาดอก ป๊อปปี้จึงกลายเป็นดอกไม้อนุสรณ์แห่งวีรกรรมของทหารผ่านศึก เตือนใจให้ระลึกถึงเลือดสีแดงของทหารที่ได้เสียสละเพื่อประเทศ ชาติ สำหรับประเทศไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามต่าง ๆ มาแล้วโดยมีอนุสาวรีย์เชิดชูเกียรติปรากฎเป็นอนุสรณ์อยู่ วีรกรรมของนักรบไทย ในการรบได้ขจรขจายไปทั่วปรากฎต่อสายตาชาวโลก ฉะนั้นเพื่อระลึกถึงเกียรติภูมิของนักรบกล้าหาญ จึงได้กำหนดให้ดอกป๊อปปี้ เป็นดอกไม้ที่ระลึกสำหรับทหารผ่านศึกไทย เช่นเดียวกันในต่างประเทศ และมีการจำหน่ายในวันที่ระลึก ทหารผ่านศึกตั้งแต่ ปี ๒๕๑๑ เป็นต้นมา

ในวันทหารผ่านศึก ๓ กุมภาพันธ์นี้ คนไทยทุกคน จะได้มีโอกาสแสดงความระลึกถึงคุณความดี และความกล้าหาญของเหล่าบรรดาวีรชนไทย ที่ยอมสละเลือดเนื้อ และชีวิตเพื่อปกป้อง เอกราชอธิปไตยของแผ่นดินไทยไว้ให้พวกเรา ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขมาจนทุกวันนี้ โดยช่วยกันซื้อดอกป๊อปปี้

นอกจากนี้ องค์การทหารผ่านศึก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและประชาชนให้ทำหน้าที่ดูแลให้ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก ทหารนอกประจำการ และผู้ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ในการรักษาความมั่นคงของชาติ ได้กำหนดจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้สมเกียรติสมศักดิ์ศรีแก่ทหารผ่านศึกที่ได้ประกอบคุณงามความดีเพื่อประเทศชาติมาแล้ว โดยจะมีพิธีและกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ พิธีทางศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่วีรชนของชาติ พิธีวางพวงมาลาเพื่อคารวะดวงวิญญาณทหารผ่านศึก ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พิธีสวนสนามสดุดีทหารผ่านศึก การจัดคอนเสิร์ตเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึก โดยศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงจากค่ายเพลงต่างๆ การประมูลของที่ระลึกของเหล่าดารา รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าราคาถูก ณ ลานอเนกประสงค์ กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยรวมแสดงพลังแห่งความรักชาติ โดยไปร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่องค์การฯ จึดขึ้นเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่ทหารผ่านศึก โดยพร้อมเพรียงกัน




ขอบคุณ ที่มา : www.sirikitdam.egat.com

 


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement