กาแฟ... เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก
"กาแฟ" ในภาษาไทย หรือคำว่า "coffee" ในภาษาอังกฤษ เป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่โดยเนื้อกาแฟแล้วจะมีรสขม แต่ด้วยการปรุงรสด้วยน้ำตาล พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มข้นด้วย นม ครีม หรือครีมเทียม ทำให้กาแฟเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั้งโลก ทั้งนี้ เมื่อดื่มกาแฟแล้วจะทำให้ผู้ดื่มรู้สึกสดชื่น ตื่นตัว ไม่ง่วงเหงาหาวนอน จึงนิยมดื่มกันเป็นประจำตอนเช้าหรือเมื่อรู้สึกง่วงนอน โดยเฉพาะตามสำนักงาน หรือหน่วยงานต่างๆ ที่จะต้องเตรียมกาแฟไว้ให้บริการกับผู้ที่ทำงาน หรือแขกที่มาเยี่ยมเยียน จนเกิดคำว่า coffee break หรือเวลาหยุดพักเพื่อดื่มกาแฟ เป็นการนำคำว่า coffee (กาแฟ) มาขยายเสริม คำว่า break (เวลาหยุดพัก) เพื่อให้มีความหมายดีขึ้น
ดื่มกาแฟแล้วรู้สึกสดชื่น ตื่นตัว ไม่ง่วงนอน
เหตุผลสำคัญที่ทำให้กาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั้งโลก มาจากความรู้สึกสดชื่น ตื่นตัว ที่ได้รับเมื่อดื่มกาแฟ ซึ่งมีสารสำคัญได้แก่ กาเฟอีน (caffeine) เป็นสารที่พบได้ในเครื่องดื่มนานาชนิด เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ
สารกาเฟอีนช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทั้งที่สมอง (ช่วยให้ตื่นตัว ไม่ง่วงนอน) หัวใจ (ทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรงยิ่งขึ้น) ปอด (ทำให้ขยายหลอดลม หายใจได้สะดวกมากขึ้น) กล้ามเนื้อ (ทำให้คลายตัว ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ) ไต (ช่วยขับปัสสาวะมากยิ่งขึ้น) เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีสารกาเฟอีน จึงรู้สึกสดชื่นยิ่งขึ้น ตื่นตัว ไม่ง่วงนอน และทำงานต่อเนื่องได้โดยไม่หยุดชะงัก
ดื่มกาแฟเกินขนาด... อาจเกิดอันตรายได้
สารกาเฟอีนทำหน้าที่กระตุ้นสมอง หัวใจ ไต กล้ามเนื้อ และอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ทำให้รู้สึกสดชื่น ตื่นตัว ไม่ง่วงนอน แต่ก็ควรได้รับปริมาณปกติ ไม่มากเกินไป เพราะถ้าได้รับมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดอาการผิดปกติ และเป็นอันตรายได้
ขนาดปกติสำหรับคนทั่วไปคือดื่มกาแฟไม่เกินวันละ ๒ แก้ว หรือเทียบเป็นสารกาเฟอีนไม่ควรเกินวันละ ๒๐๐ มิลลิกรัม เพราะถ้าได้กาแฟปริมาณมากๆ หรือได้สารกาเฟอีนปริมาณมากจนเกินขนาด สารนี้จะไปกระตุ้นสมองและหัวใจ ทำให้เกิดอาการผิดปกติขึ้นได้ เช่น กระวนกระวาย ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หงุดหงิด หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ความดันโลหิตสูงขึ้น จนเกิดอันตรายได้
อาการ "แพ้กาแฟ" (หัวใจเต้นผิดปกติ)
มีบางคนอาจเกิดอาการที่เรียกว่า "แพ้กาแฟ" จะรู้สึกใจสั่น หวิวๆ หัวใจเต้นแรง นอนไม่หลับ หงุดหงิด กระวนกระวาย เมื่อได้ดื่มกาแฟ หรือได้สารกาเฟอีน เป็นต้น เพราะคนกลุ่มนี้มีการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติอยู่แล้ว เมื่อได้สารกาเฟอีนไปกระตุ้นอีก การเต้นของหัวใจจะปรากฏจนสังเกตได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น ทุกครั้งที่ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีสารกาเฟอีนก็จะปรากฏอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น หวิวๆ หัวใจเต้นแรง นอนไม่หลับ หงุดหงิด กระวนกระวาย คอกาแฟมักเรียกกันว่า "แพ้กาแฟ" แต่จริงๆ แล้ว เป็นความผิดปกติจากการเต้นของหัวใจ
กาแฟจัดเป็นสารเสพติดหรือไม่?
ถึงแม้ว่าเราจะดื่มกาแฟเป็นประจำทุกวันและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่ก็ไม่จัดว่ากาแฟหรือกาเฟอีนเป็นสารเสพติด
ทั้งนี้เพราะเมื่อดื่มกาแฟไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณกาแฟมากขึ้นๆ เรื่อยๆ และเมื่อต้องการหยุดดื่มกาแฟก็สามารถหยุดได้เลยทันที หรือวันใดที่ไม่ได้ดื่มกาแฟก็ไม่มีอาการผิดปกติในลักษณะเดียวกันกับที่พบในสารเสพติด แต่อาจจะมีอาการอ่อนเพลียบ้างเล็กน้อย แต่เป็นไม่มาก ประมาณ ๑-๒ วัน ก็จะกลับมาเป็นปกติได้เอง
กาแฟ "ลดความอ้วน" ได้จริงหรือ?
จากกาแฟที่เป็นเครื่องดื่มยอดนิยม จึงมีนักธุรกิจหัวใสสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ "กาแฟสูตรผสมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่างๆ" เช่น โสม ไฟเบอร์ เกลือแร่ ฯลฯ และโฆษณาว่า "กาแฟเพื่อสุขภาพ" โดยนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาเชื่อมโยงกับสุขภาพและการควบคุมน้ำหนัก (จะได้ผลดีจริงหรือ?)
หุ่นผอม เพรียวลม ดีจริงหรือ?
สังคมปัจจุบันมีค่านิยมอย่างสูงต่อ "การผอมแบบเพรียวลม" ที่นิยมกันมากในกลุ่มดาราและนางแบบก่อนที่จะแพร่กระจายสู่กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ที่พบเห็นได้ดาษดื่นในสื่อสารมวลชนสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น
"ทำให้เกิดความคาดหวังของสังคมที่เป็นแรงกดดันต่อวัยรุ่นและวัยทำงานทั้งชายและหญิง ให้พยายามกันทุกวิถีทางเพื่อให้เป็นคนที่ทันสมัย ไม่ตกยุค ด้วยการรักษาเรือนร่างให้ผอมสเลนเดอร์ (หุ่นผอม เพรียวลม)" และแข่งขันกันตามกระแสสังคม ด้วยวิธีใดก็ได้ ขอให้ผอมและเพรียวลม เป็นเป้าหมายสูงสุด ซึ่งหลายๆ ครั้งก็เกินความพอดี พองาม หรือความพอเหมาะ พอควร และอีกหลายๆ โอกาส ก็อาจจะส่งผลสะท้อนกลับให้เป็นเป็นปัญหาต่อสุขภาพของตนเองได้ ด้วยค่านิยมหุ่นผอม เพรียวลมนี้
"กระแสบริโภคนิยม" ช่วยเสริมแรงกดดัน หุ่นผอม เพรียวลม
อีกประเด็นหนึ่งที่เสมือนเป็นตัวช่วยสำคัญส่งเสริมความต้องการลดความอ้วน ก็คือ "กระแสบริโภคนิยม" ที่ปัจจุบันมีอาหารการกินอย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารขบเคี้ยว หาบเร่ แผงลอย ร้านอาหาร ภัตตาคาร จนถึงกิจการแฟรนไชส์อาหารยี่ห้อดังๆ จากต่างประเทศ ที่มีการโฆษณาให้เป็นที่รู้จัก หาซื้อได้ง่าย รวมถึงมีบริการส่งถึงที่เรียกว่า "delivery" ล้วนเปิดโอกาสให้กินอาหารมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีคนอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กระแสทั้ง ๒ สร้างแรงกดดัน เรื่องลดความอ้วน
จากกระแสสังคมทั้ง ๒ ได้แก่ ๑) หุ่นผอม เพรียวลม และ ๒) บริโภคนิยม ทำให้เกิดแรงกดดันในสังคมที่ต้องการความผอมเป็นสรณะ เป็นสุดยอด เป็นดั่งความหวังที่รอคอย เกิด "ความต้องการ" หรือ "อุปสงค์" ต่อความผอมหุ่นดีเป็นจำนวนมหาศาล ที่เฝ้าชะเง้อ รอคอยความหวังว่าเมื่อใดจะมียาดีหรือของวิเศษ ที่จะช่วยตอบสนองเติมเต็มความอยากได้ อยากผอม อยากสเลนเดอร์ เหมือนนางแบบ เหมือนดารา
ท่ามกลางกระแสความต้องการ "ผอม" (ลดความอ้วน) ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่มีข่าวคราวยาดี หรือของวิเศษ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนได้ ก็เสมือนกับเป็นการจุดประกายความหวัง ช่วยเติมเต็มความต้องการในใจลึกๆ ที่เฝ้ารอคอย เหมือนชีวิตยังมีความหวังให้กับกลุ่มคนเหล่านั้นได้ชื่นใจ
กาแฟลดความอ้วน... เป็นของวิเศษจริงหรือ?
กาแฟลดความอ้วนส่วนใหญ่จะโฆษณาด้วยการขายตรงแบบปากต่อปาก หรือการโฆษณาแอบแฝงตามสื่อมวลชนที่ไม่ได้พูดตรงๆ แต่ใช้กิจกรรมหรือท่าทาง สื่อสารให้เข้าใจว่ากาแฟนั้นช่วยลดความอ้วนได้ (จริงหรือ?)
เมื่อมีผลิตภัณฑ์ที่โฆษณา (โอ้อ้วด แอบอ้าง) ว่าช่วยลดความอ้วนได้ จึงเป็นที่นิยมของหนุ่มสาวและวัยทำงาน
สารอาหารที่ผสมในกาแฟกับการลดความอ้วน
ผลิตภัณฑ์กาแฟเป็นจำนวนมาก อ้างว่าได้เพิ่มเติมสารอาหารดีๆ บางอย่างที่ช่วยให้ลดความอ้วน เช่น ไฟเบอร์ (ช่วยเพิ่มกากอาหารในอุจจาระ) คอลลาเจน (ที่พบได้ในเนื้อสัตว์ และจะถูกย่อยเป็นโปรตีนขนาดเล็กก่อนถูกดูดซึมเหมือนโปรตีนทั่วไป) แอล-คาร์นิทีนและโครเมียม (ไม่มีผลต่อการลดน้ำหนัก) เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นการอวดอ้าง โฆษณาเกินจริงทั้งสิ้น เพราะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าสารเหล่านี้มีคุณสมบัติลดความอ้วนได้
เครื่องหมาย อย. แสดงว่าเชื่อถือได้หรือไม่?
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ คือเครื่องหมาย "อย" ซึ่งผู้ผลิตหลายรายอ้างว่า "ได้ผ่าน อย. แล้ว" (ได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว)
เรื่องนี้จะต้องขยายความต่อว่า "การได้เครื่องหมาย อย. นั้น จะหมายความว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ไม่ใช่ยา)" และรับรองว่า "ได้ผ่านการผลิตตามหลักการผลิตที่ดีแล้ว (ผลิตมาอย่างมีสุขลักษณะ)" เป็นการควบคุมขั้นตอนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะเท่านั้น และไม่ได้มีสรรพคุณเหมือนหรือเทียบเท่ากับยา ที่จะสามารถลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนได้ ดังที่ได้โฆษณา หรือแอบอ้าง
กาแฟปลอมปนยาลดความอ้วน
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีรายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ทาง อย. ได้เข้าจับกุมผลิตภัณฑ์กาแฟที่เติม "ยาลดความอ้วน" ลงไปผสมอีกด้วย ซึ่งเมื่อนำไปตรวจพบว่าเป็นยาไซบูทรามีน (sibutramine) ซึ่งเป็นยาลดความอ้วนที่มีอันตรายสูง ในทางกฎหมายจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่จะต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้ในร้านขายยาทั่วไป
ใช้ยาลดความอ้วน (ไม่ปรึกษาแพทย์) อันตรายถึงตายได้
ผลข้างเคียงของยาไซบูทรามีนที่พบบ่อย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต?นเร็ว ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก และห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยที่ควบคุมความดันโลหิตไม่ดี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีโรคต้อหิน รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ?และให้นมบุตรด้วย
นอกจากนี้เมื่อ ๒-๓ เดือนก่อน มีข่าวว่าสาววัยรุ่นซื้อยาลดความอ้วนทางอินเทอร์เน็ตใช้เอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากยาดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้นการใช้ยาลดความอ้วนจึงไม่ควรไปหาซื้อมาใช้โดยลำพัง คิดเอง ซื้อเอง ใช้เอง ตามโฆษณา อาจจะเกิดอันตรายได้ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยจะเป็นการดีที่สุด
เครื่องดื่มเป็นสาเหตุสำคัญของความอ้วน
เมื่อเร็วๆ นี้ มีบทความทางการแพทย์รายงานว่า เครื่องดื่มมีส่วนสำคัญถึงครึ่งหนึ่งของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น หรือครึ่งหนึ่งของความอ้วนเกิดจากเครื่องดื่ม
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเครื่องดื่มหลากหลายรูปแบบ ทั้งชนิดที่เป็นชา สมุนไพร กาแฟ ฯลฯ ซึ่งมีการปรุงสี กลิ่น และรสให้น่ากิน และในจำนวนนั้นก็มีน้ำตาลที่ช่วยให้หวานชื่นใจ หรืออาจจะเป็นครีม ที่ช่วยให้เข้มข้นน่ากิน ทั้งน้ำตาลและครีมตลอดจนสารปรุงแต่งอื่นๆ ที่มีอยู่ในเครื่องดื่ม ล้วนเป็นต้นเหตุถึงครึ่งหนึ่งของความอ้วนของมนุษย์
รู้ทันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารด้วยการอ่านฉลาก
ก่อนจากกันฉบับนี้ ขอสรุปว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีเครื่องหมาย อย. ไม่ได้หมายความว่า มีคุณสมบัติในการรักษาโรคได้ และย้ำว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (เช่น กาแฟ) ถึงแม้จะผสมสารอาหารใดๆ ก็ตาม ก็ไม่มีคุณสมบัติในการลดความอ้วนได้
ตรงกันข้าม อาจทำให้เกิดโทษต่อสุขภาพได้ ถ้าบริโภคมากเกินไปหรือไม่เหมาะสม อาจต้องทนทุกข์กับผลข้างเคียงของยาอันตรายที่ลักลอบเติมมาในผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วย และบางครั้งอาจทำให้เสียชีวิตได้
อย่าตกเป็น "เหยื่อ" ของผลิตภัณฑ์ที่แอบอ้าง หลอกลวง
การเลือกผลิตภัณฑ์จึงควรอ่านฉลากให้ชัดเจน ใช้วิจารณญาณด้วยความรอบครอบ อย่าเชื่อคำกล่าวอ้างของผู้ขายหรือโฆษณาที่เกินความจริง เพราะไม่เช่นนั้นจะตกเป็น "เหยื่อ" ของผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การ "ลดความอ้วน" อย่างยั่งยืน
การลดความอ้วนด้วยยา ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาดังกล่าว
สำหรับการลดความอ้วน วิธีง่ายๆ ได้แก่ การออกกำลังกายเป็นประจำ ครั้งละประมาณ ๓๐ นาที สัปดาห์ละ ๓ ครั้งขึ้นไป นอกจากจะเผาผลาญพลังงานที่เกินออกจากร่างกายแล้ว ยังช่วยขับเหงื่อ เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น เป็นการพักผ่อนและผ่อนคลายทั้งกล้ามเนื้อและอารมณ์ได้อย่างดี เมื่อกลับไปพักผ่อนก็ช่วยให้นอนหลับได้สนิทยิ่งขึ้น เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะสดชื่นและทำงานในวันใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ขอบคุณ ที่มา : www.doctor.or.th