มีน้อยคนที่รู้ว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จเชิงพาณิชย์ของเฟสบุ๊กนั้นหาใช่โปรแกรมเมอร์อัจฉริยะอย่างซักเคอร์เบิร์ก หากเป็นผู้หญิงนักบริหารวัยต้น 40 นามว่า เชอริล แซนเบิร์ก (Sheryl Sandberg) บทความในหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ ชื่อ "เพื่อนที่มีค่าที่สุดของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก" ในเดือนตุลาคม 2010 สรุปผลงานของแซนเบิร์กไว้ว่า ภายในระยะเวลาเพียงสองปีตั้งแต่เธอตกลงมาร่วมงานกับบริษัทในปี 2008 จำนวนพนักงานเฟสบุ๊กได้เติบโตกว่า 6 เท่า เป็นเกือบ 1,800 คน จำนวนผู้ใช้เพิ่มกว่าเจ็ดเท่าเป็นครึ่งพันล้านคน
ความสำเร็จของเธอก่อนที่จะย้ายค่ายมาอยู่กับเฟสบุ๊ก คือการคิดค้นแอดเซนส์ (AdSense) โมเดลธุรกิจโฆษณาของกูเกิล ซึ่งนำเสนอโฆษณาที่คัดสรรตามพฤติกรรมของผู้ใช้เน็ต เช่น คนที่ค้นคำว่า ท่องเที่ยว ก็จะเห็นแต่โฆษณาของบริษัทท่องเที่ยว และคิดราคาถูกมาก (โฆษณาเป็นประโยคสั้น ๆ ก็ได้) จนได้รับความสนใจจากบริษัทขนาดเล็กและผู้ประกอบการตัวคนเดียวอย่างกว้างขวาง
กว่าเธอจะออกจากกูเกิล ฝ่ายที่แซนเบิร์กดูแลก็เติบโตจากคนเพียงไม่กี่คน เป็นฝ่ายใหญ่ที่มีพนักงานกว่า 4,000 คน หรือหนึ่งในสี่ของพนักงานทั้งหมดของกูเกิล สร้างรายได้กว่าครึ่งหนึ่งของรายได้กูเกิลทั้งหมด
ในปี 2010 เธอได้รับเชิญไปบรรยายที่เท็ด (TED.com) งานสัมมนาระดับโลก แซนเบิร์กตั้งข้อสังเกตว่า ผู้หญิงกับผู้ชายมีความเท่าเทียมกันค่อนข้างมากแล้วในปัจจุบัน ถ้าดูจากโอกาสในที่ทำงาน แต่ผู้หญิงที่เป็นผู้นำในอาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้บริหารระดับสูง ก็ยังมีสัดส่วนอย่างมากเพียงร้อยละ 20 ทั่วโลก และตัวเลขนี้ก็กำลังลดลง
แซนเบิร์กมองว่าสาเหตุของสัดส่วนที่ต่ำมากนี้คือ การที่ผู้หญิงเก่งจำนวนมากลาออกจากงานจนไปไม่ถึงตำแหน่งสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเพราะอยากมีเวลาอยู่กับลูกหรือเหตุผลอื่น เธอบอกว่าผู้หญิงทุกคนย่อมมีสิทธิตัดสินใจเองว่าอยากจะทำงานต่อหรือเปล่า แต่เธอมีข้อแนะนำสามข้อสำหรับผู้หญิงที่อยากทำงานต่อไป
ข้อแรก แซนเบิร์กแนะนำว่าผู้หญิงควรเลิกประเมินความสามารถของตัวเองต่ำเกินไป งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า บัณฑิตชายที่ไปทำงานหลังจากจบปริญญาตรีร้อยละ 57 ต่อรองเงินเดือนตั้งต้นของตัวเอง ในขณะที่บัณฑิตหญิงเพียงร้อยละ 7 ที่ทำอย่างนั้น ผู้ชายส่วนใหญ่จะบอกว่าความสำเร็จของพวกเขามาจากตัวเอง แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่จะบอกว่าความสำเร็จของพวกเธอมาจากปัจจัยภายนอก เช่น มีคนอื่นช่วย โชคดี ฯลฯ แซนเบิร์กบอกว่า การเปลี่ยนทัศนคตินี้สำคัญมาก เพราะไม่มีทางที่ใครจะได้ไต่เต้าจนถึงตำแหน่งสูงสุดถ้าหาไม่คิดว่าเธอคู่ควรกับความสำเร็จ
ข้อสอง แซนเบิร์กมองว่าถ้าเราอยากให้ผู้หญิงอยากทำงานต่อไป ผู้หญิงและผู้ชายก็ควรมีส่วนรับผิดชอบเท่ากันในการดูแลครอบครัว ซึ่งแปลว่าสังคมจะต้องเลิกกดดันผู้ชายให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากกว่าผู้หญิง เพราะมันทำให้ผู้ชายที่เลือกอยู่กับบ้านดูแลลูกถูกค่อนขอดนินทาว่า ไม่ทำหน้าที่ และในทางกลับกันก็กดดันให้ผู้หญิงอยู่กับบ้านมากกว่า
คำแนะนำของแซนเบิร์กข้อสามคือ "อย่าออกจนกว่าคุณจะออก" คือไม่ควรคิดเรื่องการลาออกจนกว่าจะจำเป็นต้องออกจริง ๆ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเมื่อใดที่ผู้หญิงเริ่มคิดว่าอยากมีลูก ผู้หญิงก็มักจะเริ่มคิดถึงการเผื่อพื้นที่ในชีวิตให้ลูก และนับจากจุดนั้นเธอก็จะ "ถอย" จากหน้าที่การงาน ไม่มองหาการเลื่อนขั้น ไม่ขานรับความท้าทายใหม่ ๆ
แซนเบิร์กซึ่งปัจจุบันแต่งงานมีครอบครัวที่อบอุ่นพร้อมหน้าลูก 2 คน แนะนำด้วยว่า เมื่อใดที่ผู้หญิงมีลูก งานของเธอก็ควรเป็นงานที่ดีมากจริง ๆ คือต้องท้าทาย คุ้มค่า และมีความหมาย เพราะการออกไปทำงาน ทิ้งลูกไว้ที่บ้านเป็นเรื่องที่ฝืนใจทำมากสำหรับคนเป็นแม่
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของประวัติ วิสัยทัศน์ และความธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของเชอริล แซนเบิร์ก นักบริหารหัวกะทิที่ซื่อสัตย์ต่อตัวเองที่สุดคนหนึ่ง
ขอบคุณ ข้อมูลจาก manageronline