คาดว่าปัจจุบันมีผู้คนทั่วโลกที่มีวันเกิดตรงกับวันที่ 29 ก.พ ราว 5 ล้านคน คุณ Peter Brouwer คือหนึ่งในนั้นและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคม Leap Year Day Baby และเว็บไซต์ leapyearday.com สำหรับผู้ที่เกิดในวันที่ 29 ก.พ โดยเฉพาะ ขณะนี้เว็บไซต์มีสมาชิกประมาณ 10,000 คน เว็บไซต์นี้มีหน้าเว็บเพจสำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ หรือบุคคลในหลายสาขาอาชีพและมีสมาชิกมาจากทั่วทุกมุมโลก
คุณ Brouwer เล่าว่าคนที่เกิดในวันที่ 29 ก.พ อย่างตนนั้น อาจเกิดปัญหาในชีวิตประจำวันบ้างเล็กๆน้อย โดยเฉพาะระบบคอมพิวเตอร์ที่มักไม่จดจำวันเกิดวันที่ 29 ก.พ เช่นในข้อมูลการประกันชีวิต ตนต้องลงวันเกิดวันที่ 1 มีนาคมแทน เพราะคอมพิวเตอร์ไม่ยอมรับวันที่ 29 ก.พ
นอกจากนี้ในปีที่ไม่ใช่ปีอธิกสุรทิน คนที่เกิดวันที่ 29 ก.พ อาจได้รับคำอวยพรวันเกิดน้อยกว่าปกติโดยเฉพาะทางเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง tweeter หรือ Facebook
แต่การที่เกิดในวันที่ 29 ก.พ อาจมีข้อดีอยู่บ้างอย่างน้อยก็ในอเมริกา เพราะทำให้จดจำได้ว่าปีที่มีวันเกิดของตนเป็นปีเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งจะมีขึ้นทุก 4 ปีเช่นกัน ส่วนคุณ Alberta Stojkovic บอกว่าข้อดีอีกข้อหนึ่งคือการที่ได้จัดวันเกิด 4 ปีครั้งอาจทำให้รู้สึกว่าตัวเองอายุอ่อนกว่าความเป็นจริงได้
ทางด้านคุณ Jan Harrell ชาวอเมริกันที่รัฐโอเรกอน มีคำแนะนำดีดีสำหรับ Leap day baby ผู้ต้องการฉลองวันเกิดทุกๆปี เพราะเขากับเพื่อนๆใช้วิธีตะโกน Happy Birthday ในเวลาเพียงเสี้ยววินาทีหลังเวลาเที่ยงคืนตรงของคืนวันที่ 28 ก.พ ก่อนเสี้ยววินาทีนั้นจะผ่านไปถึงเช้าวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งสำหรับคุณ Harrell ช่วงเวลานั้นถือเป็นเสี้ยววินาทีที่มีค่าที่สุดในปีที่ไม่มีวันที่ 29 ก.พ.
แฮปปี้เบิร์ดเดย์ผู้ที่เกิดวันที่ 29 ก.พ.ทุกท่านค่ะ!!!
ขอบคุณ ที่มา : มติชนออนไลน์