ฝ้า : ฝันร้ายบนใบหน้าหญิงสาว



ฝ้าเป็นโรคผิวหนังที่ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย แต่มีผลเสียต่อจิตใจ พบว่าหญิงไทยวิตกกังวลปัญหาฝ้ากันมาก
ผู้ที่เป็นฝ้าส่วนใหญ่คือร้อยละ 90 เป็นหญิง ซึ่งมักเป็นในวัยกลางคน ผู้ชายเป็นฝ้าได้และมีลักษณะเหมือนฝ้าในผู้หญิง แต่พบน้อยกว่ามาก

หญิงเอเชียที่เป็นฝ้ามักจะเป็นเรื้อรัง และไม่พบโอกาสที่จะหายไปได้เองเหมือนชาวตะวันตก
ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดฝ้าคือ ฮอร์โมนเพศหญิงและแสงแดด ยังพบฝ้าจากการเป็นโรคต่อมไทรอยด์ จากการมีอารมณ์เครียดอย่างรุนแรง การใช้เครื่องสำอาง การขาดอาหาร และยาบางตัว เช่น ยากันชัก แม้รอยผื่นดำที่ใบหน้าส่วนใหญ่จะเป็นโรคฝ้า แต่ยังมีโรคผิวหนังหลายชนิดที่คล้ายฝ้าได้ เช่น รอยดำจากการแพ้แสงแดด ปานบางชนิด โรคของต่อมหมวกไต โรคติดเชื้อไวรัสบางตัว ในช่วงอาการทุเลาพบว่ามีผื่นดำคล้ายฝ้าได้

ฝ้าเป็นโรคที่รักษาให้จางลงได้แต่ไม่หายขาด
การทายาฝ้ามีสิ่งที่จะต้องระวังคือไม่ให้ยาสัมผัสนัยน์ตา ห้ามใช้ยาฝ้าทาเพื่อป้องกันผิวไหม้แดด ถ้าใช้ยาทานาน 2 เดือนแล้วฝ้าไม่จางลง ให้งดทายา ถ้าทายาฝ้าแล้วฝ้าเข้มขึ้น เป็นสีดำ-น้ำเงิน ก็ให้หยุดทายาเช่นกัน

ยาที่ห้ามนำมาใช้รักษาฝ้าคือ monobenzyl ether of hydroquinone เพราะทำให้เกิดรอยด่างขาวถาวรทั้งในตำแหน่งที่ทา และตำแหน่งอื่นๆ ที่ห่างออกไป

ยา monobenzyl ether of hydroquinone ตัวนี้มีที่ใช้กรณีเดียว คือใช้ทำลายเม็ดสีในตำแหน่งที่มีสีปกติในผู้ป่วยโรคด่างขาวที่เป็นกระจายทั่วตัวและดื้อต่อการรักษา เพื่อให้ผิวมีสีขาวทั้งตัวไม่มีหย่อมสีน้ำตาล เพราะทำให้เกิดจุดด่างขาวกระจายทั้งตัวและสารปรอท เพราะทำให้เกิดอาการแพ้เป็นผื่นแดง และเกิดพิษสะสมทำให้ทางเดินปัสสาวะและไตอักเสบ

ส่วนการรักษาฝ้าในหญิงมีครรภ์ มักแนะนำให้รอจนคลอดแล้วจึงรักษา เนื่องจากฝ้าในหญิงมีครรภ์ดื้อต่อการรักษาเพราะมีปัจจัยจากฮอร์โมน ส่วนใหญ่หลังคลอดฝ้าจะจางลงยารักษาฝ้าหลายตัวยังไม่ปลอดภัย หรือยังไม่ระบุความปลอดภัย หากใช้ระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยาฝ้าหลายตัวมีส่วนผสมของกรดวิตามินเอ เช่น adapalene, isotretinoin และ tazarotene ซึ่งห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

นอกจากนี้ยังอาจใช้สมุนไพรธรรมชาติในการรักษาฝ้าได้ คือ

๑. รอยฝ้าสีดำสามารถลบโดยใช้มะขามเปียกล้างหน้าหลังจากทำความสะอาดหน้าตามปกติ

๒. การสร้างความชุ่มชื่นให้ผิวโดยทาครีมบำรุง อาจเป็นครีมสำหรับผิวหน้าผสมแตงกวา หรือว่านหางจระเข้ หรืออาจทำเองโดยใช้น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา และน้ำมันมะพร้าว ๑-๒ หยด ผสมวุ้นว่านหางจระเข้ ๘ ส่วน ทาบำรุงผิวหน้าทุกวัน

การใช้ว่านหางจระเข้พอกหน้า เพื่อความชุ่มชื่นและมีประโยชน์ต่อผิว แต่จะไม่ทำให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวเหมือนมะขามเปียก ส่วนผักผลไม้อื่นๆ เช่น มะม่วง มะเขือเทศ สับปะรด ก็ใช้ได้เช่นกัน

๓. ป้องกันแสงแดดที่ทำให้หน้าคล้ำขึ้นอีก โดยหลีกเลี่ยงแสงแดด หลังทาครีมบำรุงผิวที่ผสมแตงกวาหรือว่านหางจระเข้ ควรทาแป้งให้หนาๆ เหมือนใส่เสื้อให้ผิวหน้า

การรักษาฝ้าต้องทำต่อเนื่องและใช้เวลา อย่าใจร้อน หลีกเลี่ยงแสงแดด หมอแผนโบราณบางท่านบอกว่าต้องถ่ายน้ำเหลืองโดยให้กินเถาวัลย์เปรียงควบคู่ไปด้วย เถาวัลย์เปรียงเป็นยาแก้ปวดเมื่อยที่มีรายงานว่าไม่มีพิษ จากการทดสอบ chronic toxicity รวมทั้งให้ใช้มะขามป้อมอาจเป็น ผล/เปลือก/ต้น/กิ่ง หรืออาจใช้เปลือกมะขาม ฝนกับน้ำซาวข้าวส่วนที่นอนก้นข้นๆ ทาหน้าทิ้งไว้ก็จะช่วยลบรอยดำคล้ำของฝ้าค่ะ


ขอบคุณ ที่มา : http://www.doctor.or.th/


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Quiz


Advertisement