รู้ลึกปัญหาสิวๆ : ซื้อยากินเองอันตรายถึงชีวิต



เพราะสิว เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคยสัมผัสมาแล้วทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะเป็นหนักถึงขั้นเห่อเต็มหน้า หรือโผล่มากะปริดกะปรอย... แล้วเคยสงสัยกันมั้ยคะ ว่าเป็นสิวชนิดไหน - เป็นถึงขั้นใดต้องไปหาหมอ แล้วหากซื้อหายามาใช้เองล่ะ จะทำได้หรือไม่ ยารักษาสิวที่หาซื้อได้เกลื่อนกลาดนั้นจะเกิดผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง ?

ในงานสัมนา “เหรียญ 2 ด้านของผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีความงาม ที่ประชาชนต้องรู้จัก” ที่จัดโดยสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย แพทย์หญิงอรยา กว้างสุขสถิตย์ อนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย นำเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับการดูแลสิวอย่างถูกต้องมาบอกต่อ สิวแบบไหน เป็นขั้นใดต้องไปหาหมอ ? พร้อมเตือนภัยร้ายที่อาจเกิดขึ้น หากคุณซื้อยารักษาสิวมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
       
องค์ประกอบหลักการเกิดสิว มีอยู่ประมาณ 5 ข้อ

1.อย่างแรกคือ เรื่องของฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgens Hormone) ที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเราเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น
2. คือการผลิตของต่อมน้ำมันบนใบหน้า
3.เรื่องของแบคทีเรียที่บริเวณรูขุมขน
4.เรื่องของรูขุมขนเองที่ไม่เปิด และ
5.เรื่องของการอักเสบ นี่คือปัจจัยภายในที่ทำให้เกิดสิว แต่จะเห็นว่าคนที่อายุเยอะแล้ว ไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว แต่ก็ยังเป็นสิวได้ นั่นอาจเกิดจากปัจจัยภายนอก ที่พบบ่อยคือ เกิดจากครีมบำรุง หรือเครื่องสำอางต่างๆ ที่เราใช้ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิวและอีกบางกรณีที่พบไม่บ่อยนัก เช่น เป็นสิวจากยาบางชนิด ที่ใช้รักษาโรค อย่างเช่น ยารักษาวัณโรค ก็ทำให้เกิดสิวขึ้นได้เช่นกัน
       
นอกจากนี้ยังมีโรคบางกลุ่ม ที่ทำให้เกิดตุ่มบนใบหน้าที่มีลักษณะคล้ายสิว แต่ไม่ใช่สิว ซึ่งกลุ่มโรคเหล่านี้ เป็นโรคที่ ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาสิว ดังนั้นจึงจะต้องให้แพทย์ผิวหนังเป็นผู้วินิจฉัยโรคเสียก่อน จึงจะรักษาได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นจะเห็นว่าสิวมีหลายชนิด ซึ่งบางกรณีเราก็สามารถดูแลได้ด้วยตัวเอง แต่บางกรณีก็มีความจำเป็นที่ต้องมาพบแพทย์
 
      
สิวขั้นไหน ต้องมาพบแพทย์ ?
คุณหมอ อธิบายให้ฟังต่อ ว่าสิวชนิดใดที่ควรมาพบแพทย์ - ชนิดใดที่แค่หยุดใช้เครื่องสำอาง ล้างหน้าให้สะอาดก็หายวับไปเองได้
       
       “สิวมีหลายแบบ ทั้งแบบเม็ดเล็กๆ เป็นเหมือนผด ซึ่งแม้จะเป็นสิวผดเม็ดเล็กๆ แต่หากโชคร้ายเป็นสิวเยอะ จนเต็มหน้าไปหมด แน่นอนว่าคนไข้กลุ่มนี้เขาคงอยู่เฉยไม่ได้ ก็ต้องมาพบแพทย์อยู่แล้ว หรืออีกกรณีคือเป็นสิวที่ลำตัว หากเป็นเยอะมากๆ คนไข้ต้องมาพบแพทย์เช่นกัน
      
       ส่วนสิวแบบที่ยังไม่ต้องไปหาหมอ ก็เช่น กรณีที่เป็นสิวนิดๆ หน่อยๆ ไม่ได้มีจำนวนมากนัก ก็อาจไม่ต้องมา เพียงแต่ต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้น ซึ่งวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น คือ ล้างหน้าให้สะอาด งดใช้เครื่องสำอางไปก่อนสักระยะ บางรายทำเพียงเท่านี้สิวก็สามารถหายไปได้เอง แต่เมื่อใดที่เริ่มมีสิวมากขึ้น คือมีเม็ดแดงที่อักเสบ มีขนาดใหญ่มาก หรือกลายเป็นหนอง ลักษณะนั้นก็คงต้องมาพบแพทย์ ไม่ควรที่จะกดหรือบีบเอง”
      
       อนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากมักนิยมซื้อยารักษาสิวมาใช้เอง, รับประทานเอง ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยา หากผู้ใช้ไม่ได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง
      
       “ปัญหาหลักตอนนี้คือ การซื้อยามาใช้เอง ซึ่งจริงๆ แล้วการรักษาสิว มีหลายขั้นตอน หลายแบบ ทั้งสิวเม็ดเล็ก สิวที่มีไม่กี่เม็ด คือเป็นน้อยๆ ไปจนถึงสิวที่อักเสบเยอะๆ การรักษาก็จะแตกต่างกันไป กรณีเป็นสิวเม็ดเล็กๆ และเป็นนิดหน่อย ส่วนใหญ่แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการให้ทายา ซึ่งมียาทา ก็มีหลายกลุ่มให้เลือกใช้ได้ แต่ทั้งนี้ การทายาก็ต้องอาศัยคำแนะนำของแพทย์เช่นกัน เพราะยาแต่ละตัวมีฤทธิ์ ทำให้เกิดการระคายเคืองที่ใบหน้าได้ หากใช้ไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้เกิดอาการหน้าไหม้ หน้าลอกได้ โดยเฉพาะท่านไหนที่ใจร้อนๆ อยากหายไว ก็ทายาเสียเต็มหน้า แบบนั้นเกิดอาการหน้าไหม้แน่นอน ดังนั้นไม่ว่ายาทา หรือแม้กระทั่งการซื้อยามารับประทานเอง ก็ควรจะต้องปรึกษาแพทย์เสมอ เพื่อป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้น”


ยากลุ่ม “กรดวิตามินเอ” อาจก่อ ภัยร้ายที่คาดไม่ถึง

 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ฝากคำเตือนต่อเนื่อง มาถึงหนุ่มสาว ที่กำลังคิดจะซื้อหายามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่ม กรดวิตามินเอ ที่กำลังได้รับความนิยม ว่าเจ้ายาตัวนี้แม้จะคุณสมบัติเลิศ แต่ก็มีผลค้างเคียงที่ร้ายกาจไม่ใช่เล่น
      
       “กรณีที่เป็นสิวเยอะๆ รุนแรง แพทย์อาจให้ใช้ยาในกลุ่มกรดวิตามินเอ ที่มีชื่อสามัญทางยาว่า ไอโสเตรติโนอิน (isotretinoin)  หรือที่วัยทั่วไป จะรู้จักกันในนามของ โรแอคคิวเทน(Roaccutane ), แอคโนทิน (Acnotin) ฯลฯ ซึ่งยาเหล่านี้ แท้จริงแล้วเป็นยาที่ควบคุม ซึ่งหมายถึงจะสั่งจ่ายได้เฉพาะแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถที่จะไปหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป เนื่องจากยามีผลข้างเคียงมาก การที่จะจ่ายยาตัวนี้จะต้องมีการวินิจฉัยโรค ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ พร้อมมีการติดตามและระวังผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
      
       แต่ในปัจจุบันคนไข้บางราย สามารถไปซื้อยานี้ได้เองตามร้านขายยา ทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะยาในกลุ่มกรดวิตามินเอ มีผลข้างเคียงเยอะมาก เรียกได้ว่าผลดีก็มีเยอะมาก แต่ผลเสียก็มี เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน ผลดีคือ ยานี้ออกฤทธิ์ค่อนข้างดี คือมันไปยับยั้งการทำงานของต่อมไขมันบนใบหน้า เพราะฉะนั้นก็จะทำให้สามารถรักษาสิวได้แทบทุกชนิด ตั้งแต่สิวเม็ดเล็ก สิวอักเสบ โดยเฉพาะกรณีของคนที่เป็นสิวจำนวนมากๆ ก็ค่อนข้างเห็นผลได้ชัด ส่วนผลเสียก็มากไม่แพ้กัน เริ่มตั้งแต่ผลข้างเคียงทางผิวหนัง หรือส่วนที่เราสังเกตได้ คือ ปากแห้ง, ตาแห้ง, รู้สึกคอแห้ง, เล็บเปราะง่าย, ผมร่วง อันนี้เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ที่มากตามมาคือ ผลข้างเคียงในร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น ภาวะตับอักเสบ, ทำให้ค่าการทำงานของตับผิดปกติ, ทำให้ไขมันในเลือดสูง รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า เพราะเคยมีรายงานว่า คนไข้ทานยาตัวนี้แล้วเกิดภาวะซึมเศร้า จนถึงขั้นฆ่าตัวตายก็มี
      
       นอกจากนั้นข้อควรระวังสูงสุด คือ ในสตรีที่อยู่ในภาวะที่จะตั้งครรภ์ได้ หรืออยู่ในระหว่างตั้งภรรภ์ ห้ามทานยาตัวนี้เด็ดขาด เพราะยานี้มีผลต่อทารก อาจทำให้ทารกในภรรภ์พิการได้ ฉะนั้นในกรณีที่หากเป็นสิว แล้วเรามาพบแพทย์ เมื่อแพทย์บ่งชี้แล้วว่าจะต้องทานยาตัวนี้ ก่อนจะให้รับประทาน แพทย์จะต้องตรวจเบื้องต้นให้แน่ชัดก่อนว่าคุณต้องไม่ตั้งครรภ์ รวมถึงต้องมีการตรวจเช็คการทำงานของ ตับ, ไต,เม็ดเลือด, ไขมันในเลือด เพื่อดูว่าร่างกายของคนไข้รายนั้นๆ จะสามารถรักษาด้วยยาชนิดนี้ได้หรือไม่ รวมถึง หลังจากรับประทานยาไปแล้ว ก็จะต้องมีการตรวจวินิจฉัยซ้ำอีก ทุก 1-3 เดือน ซึ่งทั้งหมดทั้งปวง ก็เป็นการป้องกันผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ยาดังกล่าว ดังนั้นหากไปซื้อยารับประทานเอง ก็คงไม่ได้มีการตรวจวินิจฉัยตรงนี้ให้คุณแน่นอน รวมถึงผู้ขายก็อาจไม่ได้บอกรายละเอียดหรือข้อห้ามการใช้ยา ซึ่งบางครั้งเมื่อใช้ยาไปแล้ว มารู้ตัวอีกทีก็อาจสายเกินไป เพราะเกิดผลเสียไปแล้ว” คุณหมอ อรยา เตือนทิ้งท้ายมาด้วยความห่วงใย

อ่านเรื่อง แกะสิว..อันตรายถึงชีวิตจริงเหรอได้ที่นี่




ขอบคุณ ที่มา : manageronline 


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement