ที่จริง faceook หรือ สังคมออนไลน์อื่น ๆ อย่าง twitter, Hi5 จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็ทำได้นะคะ แต่บางคนกลับติดกับดักตัวเอง หมดเวลาไปกับการเล่นเกมต่าง ๆ หรือทำกิจกรรมต่างๆ นานาของ facebook จนเสียสมดุลในชีวิตก็มี ก่อนอื่น เรามาสำรวจตัวเรา ลูกเรา และคนใกล้ชิดว่าเริ่มมีอาการติด facebook หรือยังด้วยกัน...
แบบสำรวจอาการติด facebook (facebooklism Test) (Adapted from Gmgroup.in.th.2552)
ช่วงที่ผ่านมา ท่านมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่ ? (กรุณา √ ข้อที่เกิดขึ้นจริง)
1. ฉันนอนดึกขึ้นเพราะเล่น facebook ทำให้ระหว่างวันรู้สึกเพลียง่าย ไม่อึดเหมือนแต่ก่อน
2. ฉันใช้เวลากับ facebook มากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละวัน และต้องคอยเปิดเข้าไปใน facebook ทุกครั้งที่มีโอกาส
3. ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ฉันจะคิดถึง facebook อยู่เสมอ รู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย อยากเข้าไปเช็กคอมเมนต์จากเพื่อน ๆ
4. หากถูกบังคับให้เลิก facebook ฉันจะรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจขึ้นมาทันที
5. ฉันเล่น facebook จนไม่มีเวลามาสนใจดูแลสุขภาพ เช่น กินไม่เป็นเวลา ไม่มีเวลาออกกำลังกาย เป็นต้น
6. ฉันสนิทกับเพื่อนใน facebook มากกว่าเพื่อนที่ทำงาน
7. ฉันชอบที่จะสร้างความสัมพันธ์สนิทสนมกับเพื่อนใน facebook จนละเลยการใช้เวลากับครอบครัวหรือกับเพื่อนฝูงในชีวิตจริง
8. ฉันใช้เกมต่าง ๆ หรือทำกิจกรรมต่างๆ นานาของ facebook เป็นวิธีหนีปัญหาหรือหนีความกังวลใจที่เกิดขึ้น
9. ฉันเทกระเป๋าตังค์เพื่อซื้อ iPhone, Blackberry และโทรศัพท์ทัชสกรีนอื่นๆ เพื่อออนไลน์ facebook ได้ทุกที่ทุกเวลา
10. ฉันเล่นเกมต่าง ๆ หรือทำกิจกรรมต่างๆ นานาของ facebook จนบั่นทอนประสิทธิภาพการเรียนหรือการทำงาน
แปลผล & ข้อเสนอแนะ:
หากท่านมีข้อใดข้อหนึ่ง แสดงถึงผลกระทบจากการติด facebook ในระดับใดระดับหนึ่งของ 3 ระดับที่เรียกย่อๆ ว่า HIT (แปลว่า ตีหรือมีผลกระทบ) กล่าวคือ...
ข้อ 1-5 แสดงถึงติด facebook ระดับ H ย่อจาก Health คือส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (ร่างกาย & จิตใจ) เป็นช่วงเริ่มต้นของการติด facebook
ข้อ 6-7 แสดงถึงติด facebook ระดับ I ย่อจาก Interpersonal relationship คือส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เป็นช่วงลุกลามของการติด facebook
ข้อ 8-10 แสดงถึงติด facebook ระดับ T ย่อจาก Task คือส่งผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นช่วงรุนแรงของการติด facebook
เพื่อพลิก facebook จากอุปสรรคมาเป็นอุปกรณ์ ขอให้ท่านฝึกพูดกับตนเองเชิงบวก (Positive Self Talk) โดยกล่าวออกเสียงอย่างมีความหมาย (เซลสมองจะทำงานได้ดีเมื่อปากพูดสิ่งที่ออกมาจากใจ) ดังนี้
ฉันทำสิ่งสารพัดได้ ไม่มีใครห้าม แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งที่ทำนั้น จะเป็นประโยชน์ ฉันจึงเลือกทำสิ่งสำคัญก่อน และฉันไม่ยอมถูกครอบงำด้วยการติด facebook ฉันจึงกลับใจและเลิกจากอาการในข้อ....(กล่าวเนื้อความในข้อนั้นๆ สัก) (กล่าวฉันจึงกลับใจ...3 ครั้ง) และฉันสั่งปลูกการรู้จักบังคับใจตนเอง ให้งอกงามดุจต้นไม้ใหญ่ (ให้นึกภาพตนเองเป็นดังต้นไม้ที่งอกจากต้นเล็กกลายเป็นต้นใหญ่) ณ บัดนี้.(กล่าวฉันสั่งปลูก...3ครั้ง)
ขอบคุณที่มา : manageronline บทความโดย ดร. นพ. ยุทธนา ภาระนันท์ MD., FP., Ed.D.แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษาและเวชศาสตร์ครอบครัว