โรคซึมเศร้า ภัยมืดคุกคามจิตใจ



ในชีวิตของคนเราที่ผ่านมา แต่ละคนก็เคยมีทั้งสุขและทุกข์ไม่มากก็น้อย เมื่อมีทุกข์ก็อาจกังวลกลุ้มใจ บางรายก็มีความเสียใจโศกเศร้า ซึมหงอยไปก็มีไม่น้อย ในคนปกติก็มีอาการซึมเศร้าได้ แต่ไม่ควรเป็นอยู่นานเกินไป ควรจะมีหนทางสงบจิตสงบใจได้ เมื่อเหตุแห่งความทุกข์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว

อาการซึมเศร้านี้ ถ้าเป็นอยู่นาน หรือมีอาการมาก ก็ถือเป็นความผิดปกติของอารมณ์ ซึ่งเป็นโรคของจิตใจ ชนิดหนึ่งอาการของ โรคซึมเศร้า ประกอบด้วย

1. อารมณ์เศร้า อย่างมากถึงขนาดความสนใจในสิ่งต่างๆ ไม่สนใจในความสนุกสบายของชีวิต อาจรู้สึกว่าตนเอง “เซ็ง” “เบื่อ” หรือ “สิ้นหวัง” ไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีกต่อไป อาการนี้จะต้องเป็นอยู่นานติดต่อกัน เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์

2. มีอาการทางด้านร่างกาย ที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ได้แก่
         เบื่ออาหารจนน้ำหนักลดลง
         นอนไม่หลับ
         รู้สึกหมดแรง อ่อนเพลีย ทำอะไรเชื่องช้าลง หรือบางรายอาจหงุดหงิดอยู่นิ่งไม่ได้
         ไม่สนใจในเรื่องเพศ ความต้องการหรือ สมรรถภาพทางเพศลดลง

3. ไม่สนใจเข้าสังคม แยกตัวเอง

4. รู้สึกว่าความคิดช้าลง สมาธิเสีย ตัดสินใจช้าหรือไม่ได้

5. รู้สึกว่าตนไร้ค่า หรือโทษตนเองมากเกินไป คิดถึงความตายหรือคิดอยากจะตายบ่อยๆ อาจถึงกับพยายามทำลายชีวิตตนเอง

6. สมรรถภาพทางการงานหรือการเรียนลดลง ไม่สามารถปฏิบัติภาระกิจประจำวัน ทั้งที่บ้านที่ทำงาน หรือที่โรงเรียนและในสังคมได้เช่นเคย ถ้ามีอาการครบทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จึงจะถือว่า มีปัญหาที่ต้องแก้ไขและรักษา


สาเหตุของโรค
อาจเกิดได้จากความโศกเศร้าซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ

1. อาจเกิดเพราะสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น การตายของบิดามารดา บุตร สามี หรือภรรยา หรือการแยกทางกับคู่ครองหรือคนรัก เด็กๆ ที่ขาดพ่อแม่หรือขาดการเอาใจใส่ดูแลที่เหมาะสมจากพ่อแม่

2. เกิดจากความเสียหายจากทรัพย์สมบัติข้าวของอันเป็นที่รักและหวงแหน เช่น ของมีค่าหายถูกโจรปล้นหรือไฟไหม้

3. การเสื่อมเกียรติยศชื่อเสียง หรือความสามารถที่เสื่อมลง เช่น ผู้ที่เคยมีหน้ามีตาแล้วมีอันที่จะต้องเปลี่ยนไปด้วยเหตุใดก็ตาม หรือผู้ที่เคยมีสมรรถภาพทางการงานแล้วมีความสามารถลดลง อาจเป็นด้วยอายุที่มากขึ้น หรือสุขภาพที่เสื่อมไป หรือผู้อื่นที่มีความสามารถมากกว่า มาเป็นคู่แข่ง ทำให้ผู้นั้นรู้สึกว่าตนเอาต่ำต้อยลง

4. มีความกังวลว่า ตนจะมีการสูญเสีย ทั้งๆ ที่ยังมิได้เกิดการสูญเสียแต่อย่างใด ส่วนมากพบในคนที่ชอบคิดมาก วิตกกังวลบ่อย มีความทะเยอทะยานมาก ชอบแข่งขัน หรือไม่ก็พวกที่มีปมด้อย

5. ความเจ็บป่วยทางกาย ที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน จนบุคคลนั้นยังปรับตัวยอมรับไม่ได้ อุบัติเหตุที่ทำให้มีการเสื่อมเสียแขนขาหรือเสียโฉมหน้า หรือ มีความพิการทางกาย ก็เป็นเหตุสำคัญทางอารมณ์ซึมเศร้า โรคเรื้อรังที่จำกัดการดำเนินชีวิตประจำวันก็ทำให้กังวล หรือหมดอาลัยในชีวิตได้ เช่น พวกเป็นอัมพาตเดินไม่ได้หรือเดินได้ไม่ถนัด โรคเบาหวานและโรคที่ต้องจำกัดอาหาร โรคที่รักษาไม่หายและอาการของที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานก็ทำให้ผู้ป่วยเบื่อชีวิตได้

6. ที่สำคัญที่สุดก็คือ เหตุภายในจิตใจ หรือ ลักษณะนิสัยของบุคคลนั้น ที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนมากเป็นเหตุจากภายนอกคือ เหตุจากสิ่งแวดล้อม จะพบว่าแม้มีเหตุการณ์เกิดในสิ่งแวดล้อม เหมือนกัน แต่บุคคลจะมีความรู้สึกนึกคิด และอารมณ์ที่ต่างกันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารรถในการยอมรับการเปลี่ยนแปลงในสภาพของชีวิต ประสบการณ์ในอดีต ได้แก่ เคยผ่านการสูญเสียความทุกข์มากน้อยเพียงไร และที่สำคัญก็คือ การเรียนรู้ในการต่อสู้อุปสรรคของชีวิตด้วยวิธีต่างๆ ผู้ที่เกิดมีอาการโศกเศร้าง่าย หรือเสียใจมากเกินส่วนมากจะมีชีวิตที่อาจจะผ่านเหตุการณ์ดังต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง

       ก) ผู้ที่เคยถูกเลี้ยงดูมาแบบตามใจมากเกินไปในวัยเด็ก ต้องการอะไรก็จะได้ดังใจนึก ไม่เคยผ่านการผิดหวังมาก่อน ทำให้เคยชินต่อความสมหวัง เมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการก็จะรู้สึกเสียใจมาก ในบางรายก็โทษผู้อื่นว่าไม่รักไม่สนใจตน หรือไม่ก็ว่าตนเองไม่มีค่า อาจหมดอาลัยในชีวิต

       ข) คนซึมเศร้าบางราย ก็เคยมีประวัติ ในวัยเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่น พ่อแม่หรือผู้ปกครองตายจากไป หรือนำไปให้ผู้อื่นเลี้ยงดู เพราะความจำเป็นบางอย่าง เด็กรู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้ง และขาดที่พึ่ง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็มีอารมณ์อ่อนไหวและต้องการหาที่พึ่งทางใจ เมื่อไม่ได้หรือมีการสูญเสียเกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว้าเหว่ รู้สึกถูกทอดทิ้ง อารมณ์ต่างๆ ที่กดเก็บไว้ในอดีตก็จะถูกกระทบกระเทือน ซ้ำสอง จึงมีความรู้สึกต่อการสูญเสียรุนแรงกว่าที่ควร ถ้าเกิดซ้ำๆ ก็กลายเป็นคนซึมเศร้าไปได้

       ค) ผู้ที่มีความรู้สึกว่า ตนเองไร้ค่า ต่ำต้อย หรือ มีปมด้อยมาตั้งแต่เด็กๆ เช่น เคยเป็นเด็กเรียนไม่ดี เป็นคนขี้โรค เป็นคนพิการ หรือรู้สึกตนเองหน้าตาไม่สวย ไม่เก่งผู้ใหญ่ในบ้านเคยเปรียบเทียบว่าสู้พี่น้องไม่ได้ ถ้าเกิดขึ้นบ่อยจนเด็กเก็บมากระทบกระเทือนในเรื่องอารมณ์ เช่น ถูกตำหนิ หรือ รู้สึกตนเองทำความผิด หรือมีการถูกทอดทิ้ง ก็จะรู้สึกเสียใจมาก โทษตนเองมากกว่าที่ควร อาจคิดทำลายตนเอง


ผู้ป่วยอาจเป็นประเภทที่มีอาการ 2 ขั้ว (bi-polar) หรือขั้วเดียว (uni-polar)

โรคซึมเศร้าชนิด 2 ขั้วนั้นมีอาการเด่นชัดรู้ได้ง่าย บางช่วงเป็นขั้วฟุ้งเฟื่อง (manic) จะว่องไว พูดมาก ใช้เงินมาก ก้าวร้าว คิดสร้างสรรค์เรื่องใหญ่ๆ บางคนถึงขั้นปราดเปรื่อง ในช่วงเช่นนี้เจ้าตัวจะไม่มีความทุกข์ แต่ก่อความทุกข์ให้ผู้อื่น เพราะก้าวร้าวรุกรานได้ ช่วงเฟื่องสมองจะตื่นตัวคิดอะไรว่องไว อาจถึงขั้นอัจฉริยะ พูดเร็ว ทำเร็ว รุกรานผู้อื่น ใช้เงินมากอย่างไม่เสียดาย เจ้าตัวจะมีความสุข แล้วทำให้ผู้อื่นมีความทุกข์ เป็นอยู่พักหนึ่ง

แต่คนคนเดียวกัน บางช่วงก็จะเหวี่ยงไปอยู่ขั้วตรงข้าม คือ ฟุบแฟบซึมเศร้า (depressive) ซึ่งจะมีอาการซึม คิดอะไรไม่ออก แม้แต่เรื่องง่ายๆ ที่เคยทำได้ก็จะทำไม่ได้ กลัวไปหมด ขาดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกตัวเองมีความผิดเกินเหตุ กลัวในเรื่องต่าง ๆ อย่างควบคุมไม่ได้ กินอาหารไม่ลง นอนไม่หลับ มีความคิดวนเวียนอยู่ในเรื่องโทษตัวเองและวิตกกังวลอย่างแสนสาหัส วนๆ ซ้ำซากอยู่อย่างนั้น อย่างไม่สามารถหลุดออกไปได้ ความทุกข์ท่วมท้นอย่างน่าสงสาร  วิตกกังวล และมีความทุกข์สุดๆ จนกระทั่งทนไม่ไหวถึงกับฆ่าตัวตาย ถ้าญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน ไม่รู้จักโรคนี้ ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายที่อาจจะเกิดขึ้น จึงควรศึกษาให้รู้จักโรคนี้กันให้มากๆ โรคที่มีอาการ ๒ ขั้วนี่ทางแพทย์เรียกว่า manic depression อีกประเภทหนึ่งเป็นขั้วเดียวคือขั้วซึมเศร้า (depression)

โรคซึมเศร้ารักษาอย่างไร

ตามปกติคนเราจะมีความเสียใจได้ไม่มากก็น้อย ส่วนใหญ่ความโศกเศร้าจะหายไปเอง ตามความเป็นจริงแล้วมิใช่ “หายไปเอง” เฉยๆ แต่ละคนมีวิธีการขจัดความทุกข์ใจที่แตกต่างกันไป ในบางรายกาลเวลาช่วยให้ลืมความเสียใจไป บางรายก็หันความสนใจไปเรื่องอื่น หาสิ่งอื่นมาทดแทน บางคนก็พักผ่อน หรือย้ายที่อยู่ชั่วคราว หรือใช้ธรรมะมาปลงว่าสิ่งทั้งหลายไม่ตั้งอยู่นาน บางรายก็ใช้ชีวิตปรับทุกข์กับเพื่อนฝูง บ้างก็พูดคุยระบายความในใจกับผู้ใกล้ชิด หรือผู้ที่เป็นที่เคารพนับถือ

โรคนี้เกิดจากมีความผิดปกติเกี่ยวกับสารเคมีในสมอง เพราะฉะนั้นการรักษาจะไปใช้การปฏิบัติธรรมไม่ได้ผล แต่ต้องใช้สารเคมี คือ ยาเข้าไปบำบัดกันให้ตรงกับเหตุ ซึ่งขณะนี้มียาที่ค้นคว้าพัฒนากันมาที่ได้ผลดีมากหลายตัวด้วยกัน

ทางการแพทย์ฝ่ายสุขภาพจิตมีหลักในการรักษาอยู่ 3 อย่าง คือ

1. การใช้ยาลดอาการซึมเศร้า (แอนไทดีเพรสแซ้นท์) เช่น พวกยาจำพวกไตรไซคลิค ใช้ต่อเมื่อมีอาการซึมเศร้ามาก ยาพวกนี้จะไปออกฤทธิ์ต่อการทำงานของสมอง แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาใช้ยานี้ เพราะมีฤทธิ์แทรกซ้อนและมีอันตรายต่อการทำงานของหัวใจได้ จิตแพทย์หรือแพทย์ทั่วไปจะสั่งยาไตรไซคลิคแอนไทดีเพรสแซ้นท์นี้ ขนาดวันละประมาณ 75-200 มิลลิกรัม

ถ้าการซึมเศร้าเกิดจากการวิตกกังวลที่แก้ไม่ได้ ก็อาจใช้ยาลดความกังวลที่แก้ไม่ได้ ก็อาจใช้ยาลดความกังวลจำพวกไดอาซีแพมได้บ้าง ขนาดวันละ 6-20 มิลลิกรัม

2. การรักษาทางใจ คือ การพูดคุยกับผู้ที่คุ้นเคยและไว้วางใจ ผู้ที่มีประสบการณ์ในชีวิตมามาก ผู้ที่สามารถแนะนำทางออกให้ในการแก้ปัญหา อาจเป็นเพื่อนๆ ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ ผู้ใหญ่ที่นับถือ หัวหน้างาน พยาบาล พนักงานอนามัย พระสงฆ์ แพทย์ทั่วไป หรือถ้ามีอาการมาก ก็อาจไปถึงจิตแพทย์ การพูดคุยเพื่อให้หายโศกเศร้านั้น ผู้ช่วยควรทำหน้าที่รับฟัง ให้ความเห็นใจ ปลอบใจ ชี้ชวนให้มองชีวิตในหลายๆ ด้านหลักธรรมของพุทธศาสนาก็ช่วยลดความเสียใจได้ ถ้าสามารถนำไปใช้ลดความยึดมั่นถือมั่น ควรพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

การช่วยเหลือทางใจ ที่มีผลก็คือ การช่วยให้ผู้มีทุกข์ได้เข้าใจอารมณ์ของเขาเอง สาเหตุแห่งความทุกข์และวิธีแก้ไขโดยระงับเหตุ เหตุที่สำคัญก็คือ ความนึกคิด ความฝังใจของตนเอง ซึ่งในบางรายก็เป็นผลมาจากชีวิตในอดีต ซึ่งไม่ควรจะนำมาเป็นอารมณ์ การแก้ไขและสร้างความพยายามที่จะปรับตัวต่อการสูญเสียหรืออุปสรรคในชีวิตปัจจุบัน และอนาคตเท่านั้นจะเป็นการแก้ทุกข์อย่างถาวร

3. การปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ในบางครั้งสาเหตุของความทุกข์ที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม อาจจะพอแก้ไขปรับปรุงได้ คู่สมรสที่ไม่เข้ากัน ถ้าอีกฝ่ายยอมรับและปรับปรุงตนบ้าง ก็จะช่วยแก้ปัญหาเด็กที่ว้าเหว่ และได้รับความรักจากผู้ที่ใกล้ชิดก็จะช่วยทางใจมาก ผู้ที่อัตคัดขัดสนจนเกิดทุกข์จะสบายใจขึ้น ถ้าได้รับความเมตตาปราณีจากผู้อื่น การเสียสละเพื่อส่วนรวมของชุมชนก็จะช่วยสมาชิกของสังคมนั้นๆ ได้พอควร ดังที่องค์การการกุศลทั้งหลาย ได้บำเพ็ญประโยชน์อยู่แล้วในประเทศไทยเรา

สิ่งที่สำคัญกว่าการรักษาก็คือ การป้องกันมิให้เกิดโรคซึมเศร้า หลักสำคัญก็คือ

เตรียมเผชิญกับอุปสรรคของชีวิต และการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

อย่ายึดมั่นในสิ่งต่างๆ จนเกินไปนัก

ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดกับคนและทรัพย์สมบัติ

ให้ความรักความอบอุ่นกับเด็กให้พอเพียง

พยายามเข้าใจตนเอง โดยเฉพาะความรู้สึกและอารมณ์

มองชีวิตให้กว้างหาประสบการณ์ในการเผชิญชีวิตให้มากมีมนุษย์สัมพันธ์กับผู้อื่นพอประมาณ

และสนใจหลักธรรมของพุทธศาสนาที่จะนำมายึดในการดำเนินชีวิต


ขอบคุณ ที่มา : http://www.doctor.or.th/


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement