ในงานสัมมนา เหรียญ 2 ด้านของผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเสริมความงามที่ประชาชนต้องรู้จัก ซึ่งจัดโดยสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย นายแพทย์อุดมศักดิ์ วงศ์ปารมี คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง ในฐานะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้มาบรรยายให้ความรู้ พร้อมเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำทรีตเมนต์ - เลเซอร์ มีเรื่องใดที่ต้องทราบ หรือต้องระวังกันบ้าง มาดูกันค่ะ
คิดทำ ทรีตเมนต์ - เลเซอร์ ต้องระวังอะไร
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีเกี่ยวกับความงาม นอกจากเลเซอร์แล้ว ยังมีเทคโนโลยีชนิดอื่นที่นำมาใช้ เช่น IPL(Intense Pulse Light) หรือ ใช้แสงความเข้มข้นสูงเพื่อช่วยให้หน้าขาวใส ส่วนอีกชนิดที่นำมาใช้กันเยอะ คือการใช้คลื่นวิทยุ (Radio Frequency) ช่วยยกกระชับผิวหน้า ทำให้ผิวหน้าตึง คนที่คางย้อยๆ ก็สามารถยกขึ้นได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่เมื่อฟังคำโฆษณาเพลินๆ เราอาจเห็นแต่รูปที่สวยงาม เวลาเข้าไปคลินิกเหล่านี้ก็หวังว่าจะสวยงามอย่างที่เห็นในโฆษณา แต่แท้จริงแล้วเบื้องหลังความงามนั้น อาจมีบางมุมที่ซ่อนอยู่ เหมือนเหรียญอีกด้าน ซึ่งหากพิจารณาไม่ดี บางคนอาจต้องพบผลข้างเคียงเช่น
- ทรีตเมนต์ IPL อาจเกิดรอยไหม้ดำ , รอยแผลเป็นนูน หรือที่เรียกว่า คีลอยด์ ( Keloid)ได้
- เลเซอร์กำจัดไฝ สำหรับบางคนที่มีประวัติว่าเป็นแผลง่าย หากไปทำการรักษาดังกล่าวอาจก่อให้เกิดแผลเป็นนูนได้ง่าย ซึ่งกรณีดังกล่าวหากคุณไปทำการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะแนะนำคนไข้ก่อนว่า ไม่ควรทำในตำแหน่งที่เกิดแผลเป็นได้ง่าย
- เลเซอร์ลอกผิว เพื่อรักษาฝ้า หากทำโดยแพทย์ที่ไม่ชำนาญ อาจจะเกิดผลข้างเคียง ทำให้คนไข้ผิวหนังไหม้ พุพอง รวมถึงอาจมีน้ำเหลืองไหลย้อยออกมาได้ ในกรณีที่มีการใช้พลังงาน (ของแสงเลเซอร์) มากเกินไป
- เลเซอร์ลบเลือนฝ้า กระ จุดด่างดำ การใช้เลเซอร์ในกลุ่มของ Q-switched Nd:YAG ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยม และโฆษณากันเป็นจำนวนมาก ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ในบางราย อาจพบว่า คนไข้ เกิดทั้งจุดขาว และจุดดำบริเวณที่ทำการรักษา สาเหตุเพราะการยิงเลเซอร์ ที่บางจุดได้พลังงานเลเซอร์น้อยเกินไปทำให้ไปกระตุ้นให้ฝ้ายิ่งดำขึ้น ส่วนจุดที่ขาว ก็เป็นเพราะได้รับพลังงานเลเซอร์มากเกินไป ทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีแตกต่างกันไป แทนที่จะหายฝ้า หายจุดด่างดำ ก็กลายเป็นหน้ากระดำกระด่าง ซึ่งสภาวะอย่างนี้ การรักษาให้ผิวกลับมาเรียบเนียนเหมือนเดิมก็เป็นเรื่องยาก
- เลเซอร์กำจัดขน หากทำมากเกินไป อาจเกิดตุ่มพองใสๆ บริเวณรอบเส้นขน และเมื่อตุ่มใสหายไปจะเกิดเป็นแผลดำ เป็นระยะเวลานานกว่าจะกลับมาสู่สภาพปกติ
แพทย์ตัวจริง - อุปกรณ์ได้มาตรฐาน ตัวช่วยให้สวยปลอดภัย
คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง อธิบายต่อว่า หลักการเบื้องต้นที่จะลดความเสี่ยง จากผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรักษาด้วยทรีตเมนต์ หรือเลเซอร์ต่างๆ คือ การเลือกรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง
วิธีการง่ายๆ ที่จะป้องกันผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นคือ เราต้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ นั่นคือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนัง ซึ่งหลังเรียนจบแพทย์ 6 ปีแล้ว ต้องใช้เวลาเรียนอีก 4 ปี (แพทย์ด้านอายุรกรรม 1 ปี และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 3 ปี) ถึงจะได้เป็นแพทย์เฉพาะทางผิวหนัง แต่ปัจจุบัน หากเราไปในบางคลินิก เราอาจจะได้เจอแพทย์ที่เป็นแพทย์จบใหม่ คือเรียนจบแพทย์ 6 ปี ก็ถูกจ้างมาตรวจตามคลินิก ซึ่งแพทย์ที่จบ 6 ปี อาจมีความรู้ไม่เพียงพอ เหตุการณ์ผิดพลาดต่างๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้
แต่หากเป็นแพทย์เฉพาะทาง ที่ไปเรียนต่อยอดด้านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันในประเทศ หรือต่างประเทศ (จนได้วุฒิแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง หรือ Dermatologist) ก็จะเป็นตัวการันตีหนึ่ง ที่จะทำให้ผลข้างเคียงที่เกิดน้อยลงได้ ส่วนคำถามที่ว่าจะทราบได้อย่างไร ว่าแพทย์เฉพาะทาง หรือแพทย์ผิวหนังท่านใดที่เป็นแพทย์ผิวหนังจริงๆ ขั้นแรก คือ เราสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ แพทยสภา เพื่อตรวจดูขั้นต้นได้ว่า แพทย์ท่านนั้นเป็นแพทย์จริงหรือเปล่า และหากอยากทราบว่า เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังหรือไม่ ก็สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของสมาคมแพทย์ผิวหนัง ที่จะมีการรวบรวมรายชื่อ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ที่ได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา แสดงไว้ให้ทราบ
อีกส่วนคือการเลือกเครื่องมือ เน้นว่า เครื่องมือที่ใช้ต้องผ่านมาตรฐานทางวิชาการของ อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ซึ่งจะสามารถรับรองได้ในระดับหนึ่งว่า ผลข้างเคียงน้อย แต่แม้ว่า เครื่องที่ผ่าน อย. ก็จริง แต่หากแพทย์ไม่มีความรู้เพียงพอ ก็อาจจะเกิดผลข้างเคียงขึ้นมาได้
เผย ! แพทย์ผิวหนังตัวจริง มีไม่มาก
คุณหมอผู้ดำรงตำแหน่ง อนุกรรมการประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ยังให้ข้อมูลที่น่าตกใจด้วยว่า แม้ทุกวันนี้เราจะเห็นคลินิกเสริมความงาม ทยอยเปิดตัว เปิดสาขามากขึ้นเรื่อยๆ นับพันแห่ง ทว่าแท้จริงแล้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังที่จบในประเทศไทยกลับมีไม่ถึง 500 ท่าน!
ปัจจุบัน มีแพย์ผิวหนังที่จบแพทย์ผิวหนังในประเทศไทยจริงๆ 477 คนเท่านั้น ไม่ได้เยอะ และใน 477 คนมีอยู่ประมาณ 50-60 ท่าน ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพด้านเวชกรรมแล้ว ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว หมอผิวหนังไม่ได้มีมาก
"การที่บางมีการระบุ แพทย์ท่านนั้น ท่านนี้ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จบหลักสูตรผิวหนังจากต่างประเทศเช่น Diplomate American Board of Dermatology หรือ American Board Of Anti-Aging อันนี้ทางแพทย์สภา ไม่ได้ยอมรับเลยครับ พวกนี้บางทีเรียนทางไปรษณีย์ แต่ค่าเรียนแพงนะครับ ค่าเรียน 700,000 บาท อย่างนี้เป็นต้น และทางสหรัฐอเมริกาเอง เขาก็ไม่ได้ยอมรับกับวุฒิตรงนี้ เพียงแค่ว่ามันมีการจดลิขสิทธิ์ชื่อเอาไว้ก่อน แต่ชื่อเหล่านี้ ไม่ได้ผ่านการอนุมัติจากสมาคมแพทย์ผิวหนังอเมริกา คุณหมออุดมศักดิ์ อธิบายปิดท้าย
ขอบคุณ ที่มา : manageronline