ภาพ ตุ๊กแก โชว์ท่าแปลก ห้อยหัว สองขาหลังเกาะหนึบ สองขาหน้าประกบกันคล้ายการพนมมือไหว้ ณ บ้านหลังหนึ่ง จากนั้น ไม่นาน ก็มีข่าวพบเจ้าสี่ขาเหนียวหนึบชนิดนี้อีกตัว ในบ้านอีกหลังหนึ่ง ปรากฏท่าแปลกคล้ายตัวแรก เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วประเทศลักษณะดังกล่าว แท้จริงแล้วเป็นท่าธรรมดาที่มนุษย์อาจไม่ค่อยเห็นบ่อย หรือ เกี่ยวข้องกับเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างไร ?!!
จากกรณีข้างต้น นายธัญญา จั่นอาจ ผู้อำนวยการกองพิพิธภัณฑ์อ้างอิง และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์เลื้อยคลาน องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวถึง ลักษณะสำคัญของตุ๊กแก ว่า เมื่อพลิกหงายท้องดูใต้เท้าตุ๊กแก จะเห็น แผ่นยึดเกาะ ที่นิ้วแต่ละนิ้ว ซึ่งแต่ละแผ่นประกอบด้วยขนเล็ก ๆ ขนาดระดับนาโนเมตร แผ่นหนึ่งมีขนราว 5 แสนเส้น ทั้งนี้ ขนแต่ละเส้นก็ยังมีส่วนแตกปลายออกเป็นเส้นย่อยอีก โดยส่วนปลายของเส้นขนที่แตกออกมา จะมีโครงสร้างเป็นรูป ถ้วยดูด พบได้ในสัตว์จำพวกแมลงปีกแข็ง แมลงวัน และแมงมุม เช่นกัน จำนวนของถ้วยดูดนี้ขึ้นอยู่กับขนาดตัวสัตว์ เช่น หากเป็นแมลงจะมีน้อย แต่มีมากที่สุดในกลุ่มของตุ๊กแก
ตุ๊กแกมีตาโต รูม่านตาเป็นรูปวงรี เมื่อขยายตัวจะกว้างกว่าปกติให้แสงผ่านไปยังจอม่านตา จึงหากินเวลากลางคืน หรือ มองเห็นในสภาพมีแสงเลือนรางได้ แต่ในขณะที่แสงสว่างจ้า ตุ๊กแกจะหรี่ตา ทำให้เห็นรูม่านตาคล้ายตาแมว ลักษณะเป็นเส้นซิกแซก สำหรับสีสัน จะมีลวดลายเฉพาะตัว ซึ่งความสดใส ความชัดเจน รวมถึงความซีดจาง สามารถปรับจากการเคลื่อนไหวเม็ดสีที่ผิวหนัง โดยเกี่ยวข้องกับอารมณ์ และสิ่งแวดล้อมด้วย
ทั้งนี้ ลักษณะทั่วไปของสัตว์เลื้อยคลานในเรื่องสีสันนั้น อาจบ่งบอกถึงอารมณ์ เช่น ในช่วงที่มีการผสมพันธุ์ สัตว์จะพยายามเปล่งประกายตัวเองให้สดใสที่สุด หรือ เมื่อแสดงตัวเป็นเจ้าของอาณาเขตในถิ่นอาศัย หรือ ดึงดูด แสดงตัวต่อเพศตรงข้าม แต่ในกรณีตุ๊กแก เนื่องจากหากินเวลากลางคืน ดังนั้น สีสันอาจไม่ใช่ประเด็น แต่ที่น่าสนใจคือ เสียงร้อง โดยตัวผู้จะร้องเสียงดัง เพื่อประกาศเขตแดน ซึ่งจะไม่รุกล้ำกันและกัน ดังนั้น ในบ้านหลังหนึ่งอาจมีตัวเมียหลายตัว แต่จะมีตัวผู้ซึ่งโตที่สุดเพียงตัวเดียว
ตุ๊กแกตามป่าบางส่วนเข้ามาอยู่ในบ้านเรือนมนุษย์นานแล้ว เนื่องจากมีแสงไฟดึงดูดแมลง ตุ๊กแกจึงมีอาหาร โดยเฉพาะเรือนไทยที่มีเพดานใต้หลังคาสูง จึงเป็นแหล่งอาศัยได้ดี มีช่อง และหลืบให้วางไข่ โดยทั่วไปหากมนุษย์เข้าใกล้ ตุ๊กแกมักวิ่งหนี แต่หากเข้าไปจับอาจถูกกัดจนเลือดออก เนื่องจากมีฟันแหลมคม แต่ไม่นำเชื้อโรค ดังนั้น ปัญหาของตุ๊กแกบ้าน จะเป็นลักษณะสร้างความรำคาญจากเสียง และมูล
ขณะเดียวกัน ในระบบนิเวศ ตุ๊กแกเป็นผู้บริโภคลำดับที่สอง (Secondary Consumer) โดยกินแมลง เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่เห็น คือ การกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งทำให้เกิดสมดุลของธรรมชาติ
สำหรับกรณีข่าว ตุ๊กแก โชว์ท่าแปลก ห้อยหัว สองขาหลังเกาะหนึบ สองขาหน้าประกบกันคล้ายการพนมมือไหว้ ณ บ้านหลังหนึ่งนั้น นายธัญญา มองว่า เป็นความผิดพลาดในการเคลื่อนที่ของตุ๊กแก หรือ การเดินพลาด จากลักษณะที่ตุ๊กแกเดิน 4 ขา หากเป็นแนวดิ่งมักไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อเกาะเพดาน เวลาก้าว หากขาแรกเท้าหน้าหลุด น้ำหนัก และแรงโน้มถ่วงจะดึงให้ตัวตุ๊กแกห้อยลงมาได้ ดังนั้น จึงไม่ค่อยเห็นตุ๊กแกเดินตามเพดานมากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเดินในแนวดิ่ง
ภาพที่เห็นน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนอิริยาบถแล้วขาหลุดลงไป แต่ขาหลังยังคงติดอยู่ เนื่องจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่า ขาตุ๊กแกทั้ง 4 ซึ่งยึดติดกับเพดานนั้น จะรับน้ำหนักได้ถึง 133 กิโลกรัม เมื่อขาหลุดลงมาการที่จะกลับไปอยู่ตำแหน่งเดิมตุ๊กแกต้องใช้เวลาเกร็งกล้ามเนื้อขึ้นไป หรือ ไม่เช่นนั้นก็ปล่อยตัวให้ร่วงลงมาก่อน ซึ่งจิ้งจกหลายชนิดทำแบบนี้ (เนื่องจากบางตัวจะมีแผ่นหนังข้างลำตัวเหมือนปีก เมื่อร่วงลงมาจะร่อนไปอีกระยะหนึ่งแล้วเกาะใหม่ได้) ดังนั้น จึงพบตุ๊กแกร่วงจากเพดานบ่อยครั้ง
การอธิบายของผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลื้อยคลาน พอสรุปได้ว่า เหตุที่ตุ๊กแกห้อยหัวเหมือนเล่นกายกรรมบนคานเพดาน เป็นเรื่องธรรมชาติของตุ๊กแกที่คลานพลาด แต่ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้ไขความกระจ่างกรณีเลขท้ายสองบ้านเลขที่ท่านตุ๊กแกออกตัวเต็มๆ !!!
ขอบคุณที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์