กฏหมายใหม่เพื่อผู้หญิง ใกล้เป็นจริงแล้ว



รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555  เวลา 09.00 น.  ณ  ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล   นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี  
 
 
ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ  ร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
  
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ (คณะกรรมการสทพ.) และกำหนดอำนาจหน้าที่ กำหนดคุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ร่างมาตรา 5 - ร่างมาตรา 10)
  

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) และกำหนดอำนาจหน้าที่ (ร่างมาตรา 13 - ร่างมาตรา 14)
  

3. กำหนดให้สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวรับผิดชอบงานธุรการและงานวิชาการของคณะกรรมการสทพ. และคณะกรรมการวลพ. และกำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงานฯ (ร่างมาตรา 16)
  

4. การกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มาตรการ โครงการหรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศจะกระทำมิได้ (ร่างมาตรา 17)
  

5. กำหนดให้บุคคลที่เห็นว่าตนได้รับหรือจะได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวลพ. โดยการร้องขอดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิผู้ร้องในอันที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดต่อศาลที่มีเขตอำนาจ (ร่างมาตรา 18)
  

6. กำหนดให้คณะกรรมการ วลพ. อาจกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยเพื่อคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์แก่บุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศเท่าที่จำเป็นและสมควรแก่กรณีก็ได้ (ร่างมาตรา 19)
  

7. กรณีที่คณะกรรมการวลพ. วินิจฉัยว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ให้มีอำนาจออกคำสั่งตามที่กำหนดได้ (ร่างมาตรา 20)
  

8. กรณีคณะกรรมการวลพ. มีคำวินิจฉัยว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ผู้เสียหายมีสิทธิขอรับการสงเคราะห์ โดยการสงเคราะห์ผู้เสียหายให้กระทำโดยให้ความช่วยเหลือ หรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 24 และร่างมาตรา 26)
  

9. กำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศเพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และกำหนดกรอบวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินในกองทุน (ร่างมาตรา 29-ร่างมาตรา 30)
 
 
10. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ (ร่างมาตรา 31 และร่างมาตรา 33)
 
 
11. กำหนดบทกำหนดโทษ (ร่างมาตรา 34 - ร่างมาตรา 36)




ขอบคุณ ที่มา : มติชนออนไลน์
 


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement