มะหาด สมุนไพรเพื่อผิวขาวของสาวไทย



รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ  และ รศ.ดร.ภาคภูมิ เต็งอำนวย อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งศึกษาวิจัย “สมุนไพรช่วยให้ผิวขาวจากแก่นมะหาด” เปิดเผยว่า สารที่มีคุณสมบัติลดสีผิวและช่วยทำให้ผิวขาว มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับกลไกการออกฤทธิ์ ทั้งนี้ สารที่ทำให้เกิดผิวขาวที่นิยมใช้มากที่สุดคือ สารขจัดสีผิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรสิเนส ซึ่งทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยา ตั้งต้นของกระบวนการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน สารเหล่านี้ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาแพง การศึกษาวิจัยสมุนไพรไทยจากแก่นมะหาด เพื่อพัฒนาสารที่ช่วยทำให้ผิวขาว นับเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดการนำเข้าสารเหล่านี้จากต่างประเทศ

มะหาด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Artocarpus lakoocha Roxb. เป็นต้นไม้ยืนต้นในวงศ์ Moraceae พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวบ้านนิยมนำแก่นมาต้มกับน้ำ และนำสิ่งที่สกัดได้มาทำให้เป็นผงแห้ง เรียกว่า “ปวกหาด” ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิตัวตืด การศึกษาวิจัยเรื่องสรรพคุณของมะหาดที่ทำให้ผิวขาวนั้นเริ่มต้นเมื่อปี 2541 โดยทำการสุ่มตัวอย่างพืชสมุนไพรหลายชนิด มาทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรสิเนสในหลอดทดลอง จนกระทั่งพบว่าสารสกัดจากแก่นมะหาด ให้ผลยับยั้งเอนไซม์ชนิดนี้มากที่สุด และมีความเป็นไปได้ที่จะนำสารชนิดนี้มาพัฒนา เป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผู้วิจัยได้ทำการประเมินประสิทธิผลของสารสกัดจากแก่นมะหาดเป็นลำดับขั้น เริ่มจากการศึกษาในหนูตะเภา และการทดลองใช้ในอาสาสมัคร โดยช่วงแรกผู้วิจัยได้นำผงปวกหาดที่หาได้ง่ายมาทดลองใช้ เปรียบเทียบกับสารที่ช่วยทำให้ผิวขาวเป็นที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบันและมีราคาแพง

ผลการทดลองพบว่าปวกหาดมีประสิทธิภาพในการลดความเข้มของสีผิวในหนูตะเภา ต่อมาได้ทำการศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 4 คน โดยทาสารสกัดจากแก่นมะหาดที่แขนวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ และทำการวัดค่าความเข้มของสีผิวด้วยเครื่อง Mexameter พบว่าแขนที่ทาด้วยสารสกัดจากแก่นมะหาดมีแนวโน้มให้ค่าความเข้มของสีผิวลดลง นอกจากนี้ ยังไม่มีอาการแพ้หรือระคายเคือง ในที่สุดผู้วิจัยได้ศึกษาในอาสาสมัครจำนวนมากขึ้น คือ 60 คน ในระยะเวลา 12 สัปดาห์ โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน เป็นเพศหญิง อายุ 20–48 ปี มีสภาพผิวหนังปกติ จากการทาสารสกัดที่ต้นแขนของอาสาสมัครวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เปรียบเทียบกับอาสาสมัครที่ทาด้วยสารสกัดจากชะเอมและกรดโคจิก ผลการทดลองพบว่ากลุ่มอาสาสมัครที่ทาด้วยสารสกัดจากมะหาด จะมีผิวขาวขึ้นเรื่อย ๆ ความขาวของสีผิวจะเห็นผลในระยะเวลาเพียง 4 สัปดาห์ และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญตามระยะเวลาที่ทำการทดลอง นอกจากนี้ ยังไม่พบอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวแต่อย่างใด ในขณะที่สารสกัดจากชะเอมและกรดโคจิกให้ผลในการทำให้ผิวขาวในระยะเวลาที่นานกว่า คือ 10 และ 8 สัปดาห์ตามลำดับ 

นอกจากนั้นยังพบว่าสารสกัดจากแก่นมะหาดมีฤทธิ์ต้านไวรัสเริม พบว่าสารออกฤทธิ์คือ oxyresveratrol. นอกจากนั้น ศูนย์ผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ศึกษาการใช้สารสกัด 5% trans-2,4,3,5- tetrahydroxystilbene จากสมุนไพรแก่นมะหาดในการรักษาฝ้า ได้ผลดีไม่แตกต่างจากยาทา 2% Hydroquinone และพบ ผลข้างเคียงเล็กน้อย. 

ปัจจุบันการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลองพัฒนา ตลอดจนศึกษาถึงประสิทธิภาพและความคงตัวเมื่ออยู่ในสูตรตำรับต่าง ๆ เปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นที่เหมาะสมสำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์ รวมถึงวิธีการสกัดสารจากแก่นมะหาดให้มีความบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้น

อนึ่ง เวบไซต์ ขององค์การเภสัชกรรม ได้เผยแพร่ข้อมูลเรื่อง มะหาด ว่า เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 30 เมตร ทรงพุ่มแผ่กว้าง ใบ เดี่ยว เรียงสลับรูปขอบขนาน หรือรูปวงรี กว้าง 8–10 ซม. ยาว 10–12 ซม. หลังใบเป็นมันสีเขียวเข้ม ท้องใบสาก ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ค่อนข้างกลม ก้านสั้น แยกเพศ อยู่บนต้นเดียวกัน ผล เป็นผลรวม สีเหลือง ผิวขรุขระ มีขนนุ่ม สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา นำเนื้อไม้มาเคี่ยวกับน้ำ กรองเนื้อไม้ออก บีบน้ำออกให้แห้ง จะได้ผงสีนวลจับกันเป็นก้อน ย่างไฟให้เหลือง เรียกว่า ปวกหาด ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิเส้นด้าย พยาธิไส้เดือน และพยาธิตัวตืด สารที่ออกฤทธิ์คือ 2,4,3'',5'' -tetrahydroxystibene ละลายผงปวกหาดจำนวน 3 กรัม ในน้ำเย็น ดื่มช่วงเช้ามืด ก่อนอาหาร หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง ให้กินยาถ่าย เช่น ดีเกลือ เพื่อถ่ายตัวพยาธิ

สรรพคุณเปี่ยมล้นอย่างนี้ ก็เหลือแต่การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากมะหาดที่น่าเชื่อถือได้ จากแหล่งที่ปลอดภัย แต่จะเป็นที่ไหน สาวๆพิจารณากันตามสะดวกนะคะ ขอให้สวย ขาวใส ปลอดภัย กันทุกคนค่ะ


ขอบคุณ ที่มา : osknetwork.com


Tag :




แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement