จากการสำรวจข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าในปีค.ศ.2020 ข้างหน้า "โรคซึมเศร้า" จะโดดขึ้นมานั่งแท่นกลายเป็นโรคที่รุนแรงเป็นอันดับสองรองจากโรคหัวใจ เพราะในอนาคตข้างหน้านั้น พวกโรคติดเชื้อทั้งหลายย่อมแพ้ทางแก่ความล้ำสมัยของวิทยาศาสตร์การแพทย์จนแทบราบคาบ ยังคงเหลือเฉพาะโรคทางจิตใจที่แม้แต่ยาวิเศษขนานไหนก็ไม่สามารถเยียวยาได้ สังคมยิ่งไฮเทคยิ่งทำให้คนเหงามากขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้คนจะยิ่งทวีความซับซ้อนกว่าปัจจุบันหลายเท่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นเชื้อไฟอย่างดีให้กับภาวะซึมเศร้า
ทำความรู้จักกับ "ความซึมเศร้า"
แท้จริงแล้ว อารมณ์ซึมเศร้านั้นไม่ใช่โรค แต่เป็นความผิดปกติของอารมณ์ ที่ตอบสนองต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น จะเป็นความเสียใจ สิ้นหวัง รู้สึกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือท่วมท้นไปด้วยความโศกเศร้ากับอุปสรรคหรือสถานการณ์อันยากลำบากที่ได้รับ ความซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ ถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และอาจจะเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ตราบเท่าที่เรายังมี
อารมณ์ความรู้สึก ก็ไม่มีผู้วิเศษที่ไหนจะสามารถหนีความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในชีวิตไปได้หรอก
อธิบายได้ว่า ปัจจุบันมีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราต้องเผชิญหน้ากับทุกสิ่งอย่างรอบคอบ หมายรวมถึง เศรษฐกิจผกผันทำให้ธุรกิจขาดทุน ส่งผลกระทบต่อสมาชิกทุกคนในบ้าน อาจจะเป็นเรื่องของความเสียใจจากการสูญเสียต่างๆ เช่น การแตกหักของความสัมพันธ์ในระดับต่างๆ เมื่อความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนรักไม่ลงรอยไปในทิศทางเดียวกัน หรือมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว
อาการที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ซึมเศร้า สังเกตได้จากความเปลี่ยนแปลงหลักๆทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะส่งสัญญาณให้เห็นดังนี้
- นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย มักเป็นอาการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น
- ตัดสินใจอะไรลำบาก คิดวนเวียนอยู่แต่เรื่องแย่ๆ เรื่องเดิม
- มีความคิดในทางทำลายตัวเอง ขาดความยั้งคิด ร้องไห้อย่างควบคุมตัวเองไม่ได้ในเรื่องที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ถึงขั้นพยามฆ่าตัวตาย
- รู้ว่าตัวเองไร้ค่า รู้สึกผิดมากกว่าปกติยามที่ทำอะไรผิดพลาดหรือโดนตำหนิ
- ความซึมเศร้าจะทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และแยกตัวออกจากสังคม
ที่เป็นเช่นนี้เพราะวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่ค่อยหาทางที่จะช่วยเหลือตนเองจากภาวะอารมณ์นี้ เช่น ขอความช่วยเหลือจากพ่อ แม่ ครู หรือจิตแพทย์
ออกจากอุโมงค์แห่งความเศร้าอย่างสร้างสรรค์
จิตแพทย์ สมชาย มาลสุขุม ประจำโรงพยาบาลกรุงเทพ-พัทยา อธิบายว่า " อาการซึมเศร้ากับโรคซึมเศร้านั้นไม่เหมือนกัน สำหรับอาการซึมเศร้าถือเป็นความรู้สึกปกติที่เกิดขึ้นจากความสูญเสีย ซึ่งจะหายเองภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน แต่ถ้านานกว่านั้นและซึมเศร้าโดยที่บางทีไม่ได้มีสาเหตุที่แท้จริง นั่นอาจจะเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากภาวะของสารเคมีในสมองชื่อซีโรโตนิน (Serotonin) มีระดับต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้มีอาการท้อแท้ เบื่อหน่าย แยกตัวออกจากสังคม และถึงกับอยากฆ่าตัวตายก็มี
ถ้าหากเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงแบบนี้ จะมีอารมณ์รุนแรงแบบสองขั้นคือ เวลาดีใจ ก็ดีใจเกินไป ความคิดแล่นเร็ว หรือ อาจมีอารมณ์ทางเพศมากกว่าปกติ แต่ก็อาจจะสวิงมาซึมเศร้ามากๆ ได้อีกเช่นกัน ถ้าเป็นโรคแบบนี้ต้องไปพบแพทย์ และรักษาด้วยการใช้ยา ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องด้วย ไม่ควรหยุดยาเอง เพราะโรคอาจจะกลับมาเป็นได้อีก
สำหรับความซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในระยะวัยรุ่นต้องอาศัยครอบครัวเป็นหลัก ตัววัยรุ่นเองก็ควรจะมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ มีเพื่อนสนิท พยายามเล่นกีฬาหรือมีกิจกรรมนันทนาการต่างๆ หรือทำประโยชน์ให้สังคม อย่าเก็บตัวอย่ายุ่งกับยาเสพติด มีอะไรเกิดขึ้นต้องรีบบอกกับผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิด อย่าอายหรือกลัวเสียศักดิ์ศรี ต้องถือคติว่า 'คนที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น ถึงจะมีศักดิ์ศรีได้' เพราะหากปล่อยให้เลยเถิดไปจนคิดฆ่าตัวตาย ตอนนั้นก็ไม่มีประโยชน์แล้ว
ควรจะมีบัดดี้ แต่เพื่อนสนิทเราต้องเป็นคนดีด้วยแต่ที่สำตัญที่สุดตือต้องเป็นเพื่อนของตัวเอง พยายามมองโลกในแง่ดี ทั้งตัวเองและผู้อื่น ชมเชยตัวเองบ้าง ช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง พยายามหาความสำเร็จจากเรื่องราวที่ดี เช่นตั้งใจเรียนจนประสบความสำเร็จ เพราะนั่นจะทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ต้องเริ่มต้นจากสิ่งเหล่านี้ก่อน การแก้ปัญหาและคลายเครียดลำดับต่อมาถึงค่อยเป็นการหากิจกรรมทำ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังฟังเพลง ออกกำลัง เล่นโยคะ ซึ่งช่วยในทางผ่อนคลาย"
อย่างไรก็ตาม การจัดการกับความซึมเศร้าที่ดีที่สุดควรเริ่มต้นที่ตัวเอง เทคนิกง่าย ๆ อย่างการทำจิตให้สงบด้วยการนั่งสมาธิไม่ใช่เรื่องเชย และได้ผลอย่างมาก จิตใจสงบจะลดความเครียด และรับมือกับความเศร้าได้ง่ายขึ้น อีกเทคนิกหนึ่งที่ช่วยได้ คือการตั้งเป้าหมายระยะสั้นๆที่สามารถทำได้ เพราะในสภาพจิตใจที่ซึมเศร้า มักทำให้คนเรารู้สึกถึงอุปสรรคใหญ่หลวงที่ท่วมท้นในชีวิต ค่อยๆ ตั้งเป้าหมายง่ายๆ ที่มีขอบเขตในการปฏิบัติเล็กลง ง่ายต่อการกระทำให้สำเร็จ ซึ่งหากทำได้จะส่งผลให้รู้สึกว่าเราสามาถควบคุมชีวิตตัวเองได้อีกครั้ง และความนับถือตนเองย่อมคืนกลับมา การออกกำลังกายเป็นยาวิเศษตลอดกาล เป็นเครื่องมือต่อสู้กับความเครียดได้อย่างดี และยังเป็นการดูแลร่างกายให้สมบูรณ์และดูดี คืนความมั่นใจกลับมาได้
ลุกขึ้นและเผชิญหน้ากับความจริงอย่างกล้าหาญนั่นละเจ๋งที่สุด
ขอบคุณที่มา : นิตยสาร Seventeen