คุณเคยสังเกตไหมว่า คนที่อารมณ์ดี คิดดี ทำดี จิตใจดี จะเป็นคนที่มีความสุข ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ใบหน้าแววตาสดใส ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายอย่างน่าอัศจรรย์ หรือที่เรียกว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว เมื่อมีจิตใจดี สุขภาพร่างกายก็จะดีตามมาเอง ไม่เพียงแค่อารมณ์ที่มีผลต่อสุขภาพ ยังมีผลต่อโครงสร้างร่างกายอีกด้วย
หลายคนคงสงสัยว่าอารมณ์สัมพันธ์กับโครงสร้างร่างกายได้อย่างไร คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ Clinical Director จากสถาบันปรับโครงสร้างร่างกายอริยะ มาไขข้อสงสัยนี้โดยกล่าวว่า อารมณ์เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมา เช่น คนที่มีความสุขก็จะมีหน้าตาสดใส พฤติกรรมการยืน เดิน นั่ง อย่างสง่าผ่าเผย ต่างจากคนที่มีอารมณ์หดหู่ ก็จะนั่งไหล่ตก ตัวงอ ส่งผลให้โครงสร้างร่างกายมีการผิดรูปไปจากเดิม แล้วคุณเคยสังเกตอารมณ์ของตนเองเหล่านี้หรือไม่ว่ากำหนดให้คุณมีพฤติกรรมการแสดงออกทางร่างกายอย่างไร เพราะพฤติกรรมที่แสดงออกมาล้วนมีผลต่อโครงสร้างร่างกายทั้งสิ้น อาทิ
อารมณ์โกรธ ตกใจ และหวาดกลัว จะมีพฤติกรรมหายใจถี่ หัวใจเต้นแรง และเร็ว ทั้งนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย ที่เรียกว่า Cortisol ฮอร์โมนที่มีผลทำให้หลอดเลือดมีการการเกร็งตัว กล้ามเนื้อต่างๆเกร็งตัวมากกว่าปกติโดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่บริเวณท้ายทอย ซึ่งมีผลต่อการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองน้อยลง คนกลุ่มนี้มักมีอาการปวดเมื่อยหัว หนักหัว
อารมณ์เสียใจ ร้องไห้ ซึมเศร้า มีผลต่อกล้ามเนื้อในการหายใจ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครงที่ทำหน้าที่ยกซี่โครงขึ้นเวลาเราหายใจเข้า (internal-external intercostal muscle) ทำให้ปอดขยายได้เต็มที่ แต่คนในกลุ่มอารมณ์นี้กล้ามเนื้อเหล่านี้จะเกร็งตัวมากทำให้หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก การไหลเวียนของออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกายถูกจำกัด และที่สำคัญกลุ่มคนเหล่านี้จะอยู่ท่าทางคอตก อกพับ ซึ่งไหล่จะงุ้มไปด้านหน้า และหลังค่อมมากกว่าปกติ นานเข้าทำให้การหายใจและการทำงานของปอดลดลง อาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้
เครียด เป็นอารมณ์ที่คนทั่วไปมักปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้เป็น แต่อันที่จริงแล้วในจิตใต้สำนึกเป็นอยู่ คนกลุ่มนี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในระยะยาว ผลทำให้ไม่สามารถทนต่อสิ่งเร้าต่างๆ ที่มากระทบได้ สะสมทำให้เป็นคนหงุดหงิดง่าย โมโหง่าย และส่งผลต่อโครงสร้างร่างกายโดยตรงคือกล้ามเนื้อทั้งตัวจะตึงรั้ง หดเกร็งมากกว่าปกติ บาดเจ็บได้ง่าย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดเล็กที่บริเวณต้นคอ ส่งเสริมทำให้มีอาการปวดคอ มึนศีรษะ ปวดมากกว่าคนทั่วไป และเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) ได้ง่าย
อารมณ์ดี คนกลุ่มนี้จะมีท่วงท่าที่สง่าผ่าเผย หลังตั้งตรง อกผายไหล่ผึ่ง การสูบฉีดของเลือดไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้ดี ฮอร์โมนในร่างกายเป็นฮอร์โมนที่ส่งเสริมให้มีภูมิต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้ดีด้วย แนวกระดูกก็จะเรียงตัวในความโค้งที่เหมาะสม อวัยวะต่างๆ อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องส่งเสริมให้ร่างกายทำงานได้ดี
อารมณ์ที่คุ้นชินอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุปนิสัยเปลี่ยนและทำให้การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย และเปลี่ยนแปลงเซลล์ในร่างกาย และในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อระบบโครงสร้างของร่างกายนั่นคือระบบกระดูกกล้ามเนื้อ ระบบการไหลเวียนเลือด น้ำเหลือง และระบบประสาท เราจึงควรต้องดูแลรักษาตัวเองจากภายใน เพราะจิตที่แจ่มใสย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง ผู้ที่สนใจข้อมูลเรื่องการดูแลโครงสร้างร่างกายมีความสำคัญอย่างไร ไลฟ์เซ็นเตอร์ ขอเชิญเข้าร่วมฟังสัมมนาสุขภาพในหัวข้อ สร้างสมดุลโครงสร้างร่างกายง่ายๆ ด้วย 3 อ. (อิริยาบถ อารมณ์ ออกกำลังกาย) พร้อมปรึกษาปัญหาโครงสร้างร่างกายโดยนักกายภาพบำบัด และบริการตรวจเช็คโครงสร้างร่างกายฟรี! ในวันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2555 เวลา 10.30 12.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี (LH Bank) สอบถามรายละเอียด และสำรองที่นั่งล่วงหน้าได้ฟรี (จำนวนจำกัด) ที่โทร 08-9228-8766 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.lifecenterthailand.com