ถอดบุคลิกภาพให้เหมาะสมกับงาน


คนรุ่นใหม่ที่ต้องก้าวไกลให้ทันโลกยุคไอที ต้องมีบุคลิกดูดีที่ใครเห็น ต้องบอก อู้ฮู...คนนี้ ใช่เลย ตัวจริง เสียงจริง ที่ค้นหามานาน

เวลาเรามองใคร แล้วอธิบายถึงความเป็นตัวเขา สิ่งนั้นคืออะไร บุคลิกนั่นเองที่สะท้อนลักษณะโดยรวมของพฤติกรรมการแสดงออกของคน ทั้งภายนอกและภายใน ลักษณะภายนอก เช่น รูปร่าง หน้าตา ท่าทาง กิริยา มารยาท การแต่งกาย ลักษณะภายใน เช่น ความรู้สึกนึกคิด ค่านิยม อารมณ์ เป็นต้น

บุคลิกภาพของแต่ละคนจะส่งผลถึงพฤติกรรม การแสดงออก และกลายเป็นลักษณะนิสัยเฉพาะของคนนั้น บุคลิกภาพจึงมีอิทธิพลต่อการเลือกอาชีพ ซึ่งเกิดจากจากการผสมผสานระหว่างความคิด ความชอบของตัวเอง และความเข้าใจ ความถนัดต่ออาชีพที่เลือก

ถ้าใครเลือกอาชีพได้ตรงใจ ตรงกับบุคลิกภาพของตัวเองก็จะส่งผลให้ประสบความสำเร็จในอาชีพนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะจะไม่เป็นการฝืนตัวเองมากจนเกินไป

พอจะแบ่งกลุ่มบุคลิกภาพที่เหมาะกับงานอาชีพต่างๆได้ดังนี้

กลุ่มที่1. บุคลิกภาพแบบจริงจัง เป็นประเภทขี้อาย ถ่อมตน เกรงใจคน ไม่คิดมาก ไม่เพ้อฝัน หนักแน่น อดทน เอาการเอางาน จริงจัง ชอบกิจกรรมเกี่ยวกับการควบคุม การทำงานกับเครื่องยนต์กลไก เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ชอบงานประเภทใช้กำลังกาย การเคลื่อนไหว และใช้ทักษะ
อาชีพที่เหมาะสม วิศวกร ช่างเทคนิค ช่างฝีมือ ช่างซ่อม ช่างฟิต ช่างไฟฟ้า (สารพัดช่างทั้งหลาย ยกเว้นช่างติช่างเตียน) นักประมง นักเดินป่า นักกีฬา นักประดิษฐ์

กลุ่มที่2. บุคลิกภาพนักวิชาการ ใช้เชาวน์ปัญญา เป็นคนอยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกต ช่างวิเคราะห์ ชอบการประเมิน ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ มีเหตุผล ละเอียดรอบคอบ ออกจะอนุรักษ์นิยม ชอบงานอิสระ มีความมั่นใจในตนเอง ชอบค้นคว้า โดยเฉพาะงานประเภทที่ท้าทายความสามารถนั้นชวนให้ท้าประลองนัก
อาชีพที่เหมาะสม แพทย์ เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักวางแผน นักวิจัย

กลุ่มที่3. บุคลิกภาพแบบศิลปิน รักอิสระเสรีมากค่ะ ไม่ชอบอยู่ใต้บังคับบัญชาใคร ชอบแสดงออก ไม่ชอบความซ้ำซากจำเจหรืองานที่กฏระเบียบแน่นอน ช่างฝันวันๆ อารมณ์แสนจะบรรเจิด อ่อนไหวง่าย มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ชอบทำตามแบบใคร
อาชีพที่เหมาะสม นักแปล นักเขียน นักดนตรี นักแสดง นักประชาสัมพันธ์ นักจัดรายการวิทยุ ดีไซเนอร์ สถาปนิก มัณฑนากร ช่างภาพ นักพากย์ วาทยกร ผู้กำกับการแสดง

กลุ่มที่4. บุคลิกภาพแบบบริการสังคม ชอบการสมาคม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ชอบทำงานร่วมกับผู้อื่น ถนัดทางให้ความรู้ หรือฝึกอบรม สนทนา พบปะสังสรรค์กับผู้คน มีความเข้าใจคนอื่นได้ดี กล้าแสดงออก ร่าเริง มีความเมตตากรุณา
อาชีพที่เหมาะสม ครู อาจารย์ ศึกษานิเทศก์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ล่าม มัคคุเทศก์ ทูต พนักงานต้อนรับ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่งานบุคคล

กลุ่มที่5. บุคลิกภาพแบบกล้าคิดกล้าทำ เชื่อมันในตนเอง ชอบกิจกรรมที่มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น ถนัดใช้ทักษะทางการพูด ชอบชักจูงผู้อื่นให้คล้อยตาม ชอบถกปัญหาทางการเมือง อภิปราย พูดตรงไปตรงมา กล้าแสดงออก กล้าโต้แย้ง กล้าคิดกล้าทำ มีความคล่องแคล่ว ว่องไว มีความคิดริเริ่ม ดำเนินธุรกิจส่วนตัว ชอบกิจกรรมแบบเป็นกลุ่มและองค์กร ชอบพบปะผู้คน
อาชีพที่เหมาะสม นักธุรกิจ นักการตลาด นักบริหาร ตัวแทนขายประกันชีวิต ผู้จัดการ นักการเมือง ทนายความ ผู้พิพากษา ที่ปรึกษทางธุรกิจ

กลุ่มที่6. บุคลิกภาพแบบมีระเบียบแบบแผน ชอบทำงานเกี่ยวกับตัวเลข เจ้าระเบียบ จริงจังกับงาน อดทน ความรับผิดชอบสูง ละเอียดถี่ถ้วน ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี ชอบทำงานสำนักงาน
อาชีพที่เหมาะสม นักบัญชี เลขานุการ เจ้าหน้าที่การเงินเการธนาคาร บรรณานุรักษ์ เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ แคชเชียร์ เป็นต้น


ถ้าคุณพอจะเจาะใจตัวเองได้ว่า ชอบและถนัดอาชีพใดแล้ว มาทำตัวเองให้มีบุคลิกที่ดูดีทั้งภายนอกและภายในแบบคนรุ่นใหม่กันเถอะ

1. แต่งกายให้ดีเข้าไว้ ควรแต่งกายแบบเรียบร้อยสะอาด รีดอย่างปราณีต จะดูคนว่าละเอียดหรือไม่ก็ดูได้จากจีบเสื้อผ้านี่แหละ เสื้อผ้าควรมีคุณภาพ ไม่ใช่สีตก พอซักอีกทีไหล่ตกไปอีกข้าง ลวดลายของเสื้อผ้าก็พอเหมาะๆ ความเชื่อถือในโลกธุรกิจ ควรจะเป็นสีเข้ม หรือสีออกกลางๆไม่สดแบบแสบสันเกินไป

2. วางท่าทีให้ดูดี การวางตัวเป็นการเสริมสร้างเสน่ห์และบุคลิก ลองฝึกหัดท่าทีลีลาการพูดคุย การหัวเราะ การเดินให้สง่า และงดงามเข้าไว้

3. ยิ้มแย้มแจ่มใส ประทับใจตลอดกาล ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นไร ยิ้มๆ ไว้ที่มุมปากแต่พองาม อย่าให้หน้าอมทุกข์ หรือเผลอหน้าบึ้งเป็นยักษ์ยิ้มยากเข้าล่ะ

4. วางตัวให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีบ้าง ความมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทำให้คนเลื่อมใส ศรัทธา ยกย่อง แต่ทำให้พองาม ไม่เจ้ายศเจ้าอย่างจนเกินไป เพราะอาจจะดูหยิ่งได้ วางตัวแบบเป็นกันเอง มีความเป็นมิตร ที่คุ้นเคยกันพอควร

5. สื่อภาษาพูดและภาษากายให้มีแต่ความหมายที่ดี พูดจาภาษาดอกไม้ ไม่ใช่ก้อนหินที่แข็งทื่อ ไม่มีความนุ่มนวล พูดแบบมีจังหวะจะโคน เวลาไหนควรพูด เวลาไหนควรหยุด และมีการแสดงออกทางกิริยามารยาทที่สุภาพพองาม

6. อ่านความรู้สึกหรือความต้องการของคนให้ออก เรื่องแบบนี้ต้องช่างสังเกต อ่านใจ สายตา ท่าทางของผู้อื่นประกอบกับการมีเชาวน์ไวไหวพริบส่วนตัวบ้าง ต้องดูออกว่าเขางานยุ่งหรือเปล่า อารมณ์ดีไหม สถานการณ์รอบตัวเอื้ออำนวยหรือไม่ ถ้ารู้เขารู้เราแบบนี้ จะได้วางท่าทีและเข้าหาได้เหมาะสม

7. อย่าแสดงตนเป็นผู้รู้มาก อย่าทำเก่งไปทุกเรื่อง ปล่อยให้คนอื่นเก่งบ้างในบทบาทที่เขาควรจะเป็น เพราะถ้าเราแสดงตัวว่ารู้ทุกเรื่อง เขาก็ไม่อยากแสดงความรู้ของเขาออกมาให้เราเห็น เพราะอาจเป็นการทำให้เราเสียหน้า ว่าเราไม่รู้จริง หัดฟังให้มากๆ แล้วพูดให้เขาแสดงความคิดเห็น แล้วจับประเด็นตอบกลับให้ดี อย่างนี้ถึงจะเปิดใจเขาได้







Tag :




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement